วันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 52: เสียชีวิตจากโรคลมแดด (Sunstroke) เป็นอุบัติเหตุ หรือสุขภาพ?



(ตอนที่หนึ่ง)

ชายคนหนึ่งชอบเล่นกอล์ฟมาก มักไปออกรอบกับเพื่อนร่วมก๊วนอย่างสนุกสนานทุกสุดสัปดาห์แทบมิได้ว่างเว้น แม้จะอยู่ท่ามกลางแสงแดดแรงจ้าขนาดไหน เขากับเพื่อนก็ไม่ยั่น 

สุดสัปดาห์นี้ก็เช่นกัน เขาได้ไปออกรอบกับเพื่อนอย่างเคย เพียงแต่ครั้งนี้ ความสนุกสนานกลับกลายเป็นความเศร้าโศกเสียใจแทน เพราะขณะกำลังเล่นกอล์ฟอยู่ จู่ ๆ เขาก็ล้มฟุบสิ้นสติลงไป หลังจากถูกนำส่งไปโรงพยาบาลอยู่ได้ไม่นาน เขาก็เสียชีวิต ผลจากการตรวจพิสูจน์ สันนิษฐานว่า เสียชีวิตเนื่องจากโรคลมแดด (Sunstroke)

ภรรยาของผู้ตาย ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลของผู้ตาย จึงไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนกับบริษัทประกันภัย แต่ได้รับการปฏิเสธว่า ผู้ตายมิได้เสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุ ซึ่งมีคำนิยามว่า หมายความถึง สิ่งที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอก อย่างฉับพลัน รุนแรง (external, violent and accidental means) แต่การเสียชีวิตของผู้เอาประกันภัยรายนี้ เกิดจากการออกไปสัมผัสแสงแดดด้วยความสมัครใจ จึงไม่อยู่ในความหมายของอุบัติเหตุดังกล่าว ทั้งคนอื่นที่ไปร่วมเล่นกอล์ฟอยู่ด้วย ก็มิได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตเช่นกัน ดังนั้น เชื่อว่าน่าจะเกิดจากปัจจัยภายในร่างกายของผู้เอาประกันภัยมากกว่า และชื่อโรคเอง บอกเป็นนัยอยู่แล้วว่า เป็นเรื่องสุขภาพจากปัจจัยภายในของสภาวะร่างกาย

ภรรยาของผู้ตายได้นำเรื่องขึ้นสู่ศาล โดยอ้างว่า ผู้ตายมีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวอะไร ทั้งช่วงก่อนหน้านั้น และขณะเกิดเหตุดังกล่าว ผลการตรวจพิสูจน์ของแพทย์ก็สามารถยืนยันไม่พบความผิดปกติในเรื่องสุขภาพของผู้ตาย เช่นนี้ การเสียชีวิตของผู้ตายจึงเกิดขึ้นจากปัจจัยของอุบัติเหตุ (accidental means) จากภายนอก อย่างฉับพลัน และรุนแรง ซึ่งก่อให้เกิดผลการเสียชีวิต อันเป็นสิ่งที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เจตนา หรือมุ่งหวังดังความหมายแล้ว (accidental result)

ศาลชั้นต้นเห็นพ้องกับบริษัทประกันภัยว่า มิใช่เกิดจากอุบัติเหตุ คดีมีการอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น แต่ภรรยาของผู้ตายยังไม่สิ้นหวัง และได้ยื่นฏีกาต่อ

คุณคิดว่า ผลวินิจฉัยของศาลฏีกาจะออกมาอย่างไรครับ? ให้ลองวิเคราะห์กันไปก่อน แล้วมาฟังคำวินิจฉัยสัปดาห์หน้าครับ  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น