วันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 52: เสียชีวิตจากโรคลมแดด (Sunstroke) เป็นอุบัติเหตุ หรือสุขภาพ?



(ตอนที่สอง)

ศาลฏีกาวินิจฉัยคดีนี้ว่า ประเด็นข้อถกเถียงเรื่อง
1) ปัจจัยของอุบัติเหตุ (accidental means) ซึ่งมองจากต้นเหตุเป็นหลักที่จะต้องมีสาเหตุมาจากสิ่งที่เกิดขึ้นจากภายนอก อย่างฉับพลัน รุนแรง และเป็นสิ่งที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เจตนา หรือมุ่งหวัง จนส่งผลทำให้เกิดการเสียชีวิต กับ
2) ผลของอุบัติเหตุ (accidental result) ซึ่งมองจากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นหลักที่จะต้องเป็นผลจากภายนอก อย่างฉับพลัน รุนแรง และเป็นสิ่งที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เจตนา หรือมุ่งหวัง แม้จะมีต้นเหตุมาจากความสมัครใจก็ตาม

เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาไม่รู้จบ แต่ครั้นอาศัยความเข้าใจของคนทั่วไปถึงความหมายของอุบัติเหตุแล้ว การเสียชีวิตของผู้ตายในกรณีนี้น่าจะเป็นอุบัติเหตุแล้ว เพราะเป็นสิ่งที่ผู้ตายคงไม่ได้เจตนา หรือมุ่งหวังมาก่อน ทั้งผลการตรวจพิสูจน์ของแพทย์ก็มิได้พบความผิดปกติทางสภาวะร่างกายของผู้ตายแต่ประการใด อันจะส่งผลทำให้ร่างกายไม่อยู่ในสมรรถภาพต้านทานต่อความร้อนแรงของแสงแดดได้ หรือมีสาเหตุอื่นใด ไม่ว่าจะเป็นสภาวะอากาศที่ผิดปกติ หรือสภาพแวดล้อมใด ๆ ที่เกิดขึ้นมาสอดแทรกจนส่งผลกระทบต่อสภาวะร่างกายของผู้ตาย ดังนั้น ปัจจัยภายนอกในกรณีนี้ คงมีกรณีเดียวที่ชัดเจน คือ แสงแดดเท่านั้น แม้ในทางการแพทย์จะถือโรคลมแดด (sunstroke) เป็นโรค แต่คนทั่วไปก็มองสาเหตุการตายเป็นอุบัติเหตุอยู่ดี ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน รุนแรง โดยผู้เอาประกันภัยมิได้เจตนา หรือมุ่งหวัง ถ้าต้นเหตุมิใช่มาจากอุบัติเหตุ ผลลัพธ์ที่ได้รับ ก็คงมิใช่จากอุบัติเหตุเช่นกัน ฉะนั้น ทั้งสองคำเรื่องเหตุกับผลนั้นไม่อาจแยกขาดจากกันได้โดยเด็ดขาด เพราะถ้าไม่มีเหตุ ก็คงไม่มีผล

เมื่อฝ่ายบริษัทประกันภัยมิอาจพิสูจน์สาเหตุการตายให้เห็นเป็นอย่างอื่นได้ และเมื่อคำว่า “อุบัติเหตุ” ดูเสมือนตีความได้หลายนัย จึงจำต้องยกประโยชน์ให้แก่ฝ่ายผู้เอาประกันภัย ในที่นี้ คือ ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยนั่นเอง  

(อ้างอิงจากคดี Landress v. Phoenix Mut. Life Ins. Co., 291 U.S. 491 (1934)

เช่นกันครับ แม้คดีนี้ค่อนข้างเก่า แต่อยากให้พิจารณาถึงเหตุและผลของคำวินิจฉัยของคดีมากกว่า เพราะประเด็นในการใช้ดุลพินิจของศาลต่างประเทศตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน มักจะวนเวียนอยู่โดยอาศัยสามทฤษฏีเป็นเกณฑ์ กล่าวคือ ทฤษฏีของเหตุ (Cause Theory) เช่น คดีมีเพศสัมพันธ์จนติดโรคร้าย หรือทฤษฏีของผล (Effect Theory) เช่น คดีถูกยุงกัดจนได้รับเชื้อโรคร้าย หรือทฤษฏีเหตุการณ์แห่งความโชคร้าย (Unfortunate Events Theory) เช่น คดีกระบะรถดัมพ์เกี่ยวสะพานตกลงมาทำให้เกิดอุบัติเหตุต่อเนื่องดังที่เคยกล่าวมาแล้วในบทความที่ผ่านมา

ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลท่านเป็นสำคัญในการพิจารณาประกอบกับข้อความจริงของแต่ละคดีที่เกิดขึ้น

ผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณด้วยนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น