วันอังคารที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 46: ผู้โดยสารในรถ (Auto Passenger) หมายถึงใคร?



(ตอนที่หนึ่ง)

เคยสังเกตไหมครับว่า ผู้โดยสารในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์หมายถึงใครกันบ้าง?

ในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจมิได้มีการกำหนดคำนิยามเอาไว้ แต่เมื่อเทียบเคียงกับเอกสารแนบท้ายความคุ้มครองเพิ่มเติมของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจว่าด้วยการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (ร.ย. 01) ภายใต้คำนิยามของผู้ได้รับความคุ้มครอง ซึ่งระบุว่า “ผู้ได้รับความคุ้มครอง หมายถึง ผู้ขับขี่และ/หรือผู้โดยสารตามจำนวนที่ระบุในตาราง ซึ่งอยู่ใน หรือกำลังขับขี่ หรือกำลังขึ้นหรือกำลังลงจากรถยนต์” 

ประกอบกับคู่มือตีความการประกันภัยรถยนต์ที่อธิบายว่า บุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจนั้น หมายความถึงทั้งบุคคลภายนอกที่อยู่นอกรถยนต์คันที่เอาประกันภัย และบุคคลภายนอกที่โดยสารอยู่ใน หรือกำลังขึ้น หรือกำลังลงจากรถยนต์คันที่เอาประกันภัยนั้นด้วย

ส่วนผู้ประสบภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับก็ให้หมายความถึงบุคคลที่อยู่นอกรถ หรือผู้โดยสารด้วยเช่นกัน

อนึ่ง คำว่า “ผู้โดยสาร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 หมายความถึง “ผู้อาศัยไปด้วย, ผู้ใช้บริการยานพาหนะเช่นรถ เรือ โดยเสียค่าบริการ

โดยสรุป ผู้โดยสารจึงตีความได้ว่า คือ ผู้ที่อาศัยไปกับรถยนต์ โดยจะอยู่ภายในรถยนต์คันนั้นแล้ว หรือขณะกำลังขึ้น หรือขณะกำลังลงจากรถยนต์คันนั้นก็ได้ 

ถ้าบุคคลนั้นมิได้อยู่ในรถ เพียงแตะส่วนใดส่วนหนึ่งของรถคันนั้น เพื่อที่จะขยับตัวขึ้นรถ หรือสองขาลงจากรถไปแล้ว แต่มือยังจับตัวรถคันนั้นอยู่ จะถือเป็นผู้โดยสารขณะกำลังขึ้น หรือกำลังลงได้หรือไม่?
 
หรือบุคคลนั้นมิได้อยู่ “ใน” รถ แต่อยู่ “บน” รถ ดังที่เคยเป็นข่าว สาวนั่งอยู่บนหลังคารถ หรือตำรวจโดดเกาะรถคนร้าย เราจะเรียกว่าเป็นผู้โดยสารได้หรือไม่?

หรือคนเดินถนนที่โดนรถชน แล้วร่างพุ่งเข้าไปอยู่ “ภายใน” รถคันนั้น จะถือเป็นผู้โดยสารอยู่ในรถได้หรือเปล่า?

งั้นคุณคิดว่า “ผู้โดยสาร” ควรกินความถึงขนาดไหนดีครับ?

แล้วเรามาคุยกันต่อสัปดาห์หน้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น