วันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 44: สินค้าผิดกฎหมายทำประกันภัยได้หรือไม่? และบริษัทประกันภัยจำต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ได้หรือเปล่า?



ต้องขออภัยที่ห่างหายไปพอสมควรครับ เพราะมีงานที่ต้องเร่งทำให้เสร็จภายในกำหนด

ส่วนตัวเคยได้ยินมานานแล้วว่า มีการนำทรัพย์สินที่ละเมิดลิขสิทธิ์มาทำประกันอัคคีภัย ครั้นเกิดไฟไหม้ขึ้นมา เมื่อไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย กลับถูกปฎิเสธว่า สัญญาประกันภัยเป็นโมฆะ เพราะขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ทำให้เกิดเป็นคดีขึ้นสู่ศาล และเคยได้รับฟังว่า ศาลชั้นต้นตัดสินให้บริษัทประกันภัยรับผิดตามสัญญาประกันภัย แต่ผมไม่ได้ติดตามต่อว่า คดีนั้นได้มีการอุทธรณ์ ฎีกาจนถึงที่สุดแล้วหรือเปล่า?

เมื่อมีโอกาส เวลาถ่ายทอดความรู้ด้านการประกันวินาศภัย ได้หยิบยกเรื่องนี้มากล่าวเป็นอุทาหรณ์ และกรณีศึกษาอยู่บ่อยครั้ง กระทั่งเคยนำเสนอให้ใส่ไว้ในข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินเหมือนอย่างของต่างประเทศไปเลยว่า ไม่คุ้มครองทรัพย์สินดังต่อไปนี้ คือ “สิ่งผิดกฏหมาย หรือทรัพย์สินที่ขนส่ง หรือค้าขายอย่างผิดกฏหมาย (Contraband or property in the course of illegal transportation or trade)” น่าเสียดายเท่าที่รับทราบ ยังมิได้มีการนำเรื่องนี้มาหารือกันอย่างจริงจัง แต่อยากเชื่อว่า ประเด็นนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นมาอีก

จนล่าสุด ได้อ่านพบคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งเป็นอีกกรณีที่เกิดขึ้นคล้ายคลึงกัน และก็ถูกบริษัทประกันภัยปฏิเสธเช่นเคย จึงขอหยิบยกคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวมากล่าวถึงไว้เป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อที่จะมิให้เกิดปัญหาเช่นว่านี้ขึ้นมาอีกในอนาคต ยิ่งปัจจุบัน เราจะเห็นทรัพย์สินจำพวกนี้ปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8265/2559
การทำนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อันเป็นตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 นั้น คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต้องร่วมรู้ หรือมีความมุ่งหมายในการนั้น การทำสัญญาประกันอัคคีภัย ผู้ร้องไม่ทราบว่าสินค้าที่เอาประกันภัยเป็นสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ หรือละเมิดเครื่องหมายการค้า ซึ่งถือเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย ตัวแทนของผู้ร้องเพียงแต่ถ่ายภาพสินค้าในตู้โชว์สินค้าไว้เพียงภาพเดียว ผู้คัดค้านไม่เคยแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าวให้ทราบว่า เป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายหรือไม่ และผู้ร้องไม่เคยทราบ หรือล่วงรู้ว่าสินค้าที่เอาประกันภัยไว้ เป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย เช่นนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ร้องรู้รายละเอียดยี่ห้อนาฬิกาข้อมือ ระดับราคาหรือแหล่งที่มาของนาฬิกาที่ผู้คัดค้านนำมาขาย ย่อมเห็นได้ว่า ผู้ร้องคงมีเจตนารับประกันภัยสินค้านาฬิกาข้อมือที่ผู้คัดค้านมีไว้เพื่อขายโดยทั่วไปเท่านั้น สำหรับข้อเท็จจริงที่ว่านาฬิกาข้อมือดังกล่าวอาจจะมีลักษณะเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายหรือไม่นั้น ผู้ร้องมิได้รู้เห็นด้วย สัญญาประกันอัคคีภัยในส่วนสต็อกสินค้านาฬิกาข้อมือ จึงทำขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองแก่ทรัพย์สินของผู้คัดค้าน กรณีเกิดอัคคีภัยหรือภัยเพิ่มเติมที่ตกลงทำประกันภัย ซึ่งเมื่อผู้คัดค้านเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองสินค้านาฬิกาข้อมือที่มีไว้เพื่อขาย หากนาฬิกาข้อมือได้รับความเสียหายจากอัคคีภัยหรือภัยที่ระบุไว้ ย่อมทำให้ผู้คัดค้านสูญเสียตัวทรัพย์ หรือผลประโยชน์ที่จะได้จากทรัพย์สินนั้น ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัย สัญญาประกันภัยระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้าน หาได้มีวัตถุประสงค์ที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150 ผู้ร้องและผู้คัดค้านจึงมีความผูกพันกันตามเงื่อนไขข้อตกลงและความรับผิดในการรับประกันอัคคีภัยที่มีผลบังคับโดยสมบูรณ์
 
ผู้ร้องอ้างว่า นาฬิกาข้อมือที่ผู้คัดค้านเอาประกันอัคคีภัยสต็อกสินค้าไว้กับผู้ร้อง เป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย มีเครื่องหมายการค้าปลอมของผู้อื่นนั้น ก็เป็นข้อเท็จจริงอีกส่วนหนึ่งที่อาจทำให้ผู้คัดค้านถูกดำเนินคดีอาญา ฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าเครื่องหมายการค้าปลอมของผู้อื่น ซึ่งหากศาลในคดีอาญาลงโทษผู้คัดค้านโดยให้ริบสินค้านาฬิกาข้อมือปลอม ผู้คัดค้านก็จะไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินส่วนนั้นอีกต่อไป แต่ตราบใดที่ผู้คัดค้านยังคงยึดถือ และครอบครองสินค้านาฬิกาข้อมือที่มีไว้เพื่อขายในฐานะเจ้าของสินค้าเหล่านั้น โดยผู้คัดค้านไม่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับสินค้านาฬิกาข้อมือดังกล่าว ต้องถือว่าไม่มีบุคคลใดมีสิทธิในทรัพย์สินนั้นดีกว่าผู้คัดค้าน หากถือตามที่ผู้ร้องอ้างว่า สัญญาประกันอัคคีภัยกรณีนี้ไม่ให้ความคุ้มครองสินค้านาฬิกาข้อมือที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของผู้อื่น และผู้ร้องไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนสต็อกสินค้านาฬิกาข้อมือที่ผิดกฎหมาย ก็จะเป็นการระงับสิทธิในทางทรัพย์สินของผู้คัดค้าน ทั้งที่ไม่มีการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้คัดค้านในความผิดตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง จึงเสมือนกับผู้ร้องสามารถอ้างเอาว่า การกระทำใด ๆ ของผู้คัดค้านเป็นความผิดในทางอาญาก็ได้ ซึ่งไม่น่าจะชอบด้วยเหตุผล การที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ผู้ร้องชำระค่าสินไหมทดแทนในส่วนสต็อกสินค้านาฬิกาข้อมือให้แก่ผู้คัดค้าน ก็เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาประกันอัคคีภัย ซึ่งมีผลผูกพันคู่สัญญาโดยชอบ คำชี้ขาดในส่วนนี้เป็นการบังคับตามสัญญาเพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้คัดค้าน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเท่านั้น มิได้มีผลกระทบต่อประชาชนโดยส่วนรวมแต่อย่างใด การบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ให้ผู้ร้องชำระค่าสินไหมทดแทนสต็อกสินค้านาฬิกาข้อมือ 2,012,446.75 บาท จึงหาได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 40 (2) (ข) แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น