(ตอนที่หนึ่ง)
อย่างที่เราทราบกันดีว่า ผลทางกฎหมายของการไม่มีส่วนได้เสียในวัตถุที่เอาประกันภัย ถึงขนาดทำให้สัญญาประกันภัยไม่มีผลผูกพัน และการปกปิดข้อความจริงกับการแถลงข้อความนั้นเป็นเท็จก็ถึงขนาดทำให้สัญญาประกันภัยตกเป็นโมฆียะ และกลายเป็นโมฆะในท้ายที่สุด เมื่อบริษัทประกันภัยบอกล้าง
ปัจจุบัน การทำประกันภัยออนไลน์เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะเป็นช่องทางสะดวก และรวดเร็วมาก แต่ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมาได้เหมือนกันเช่นเดียวกับช่องทางอื่น ๆ ดังเช่นเรื่องราวที่เกิดขึ้นมานี้
สามีเป็นเจ้าของบ้านตามเอกสารสิทธิแต่ผู้เดียว ภรรยาตามกฎหมายพักอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ด้วย ทั้งคู่เห็นพ้องว่า บ้านหลังนี้และทรัพย์สินภายในบ้านควรจัดทำประกันภัยคุ้มครองเอาไว้ ภรรยาจึงเข้าเวปไซต์เพื่อขอทำประกันภัยกับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง โดยได้กรอกข้อมูลครบถ้วนตามใบคำขอเอาประกันภัยทางหน้าเวปนั้น ซึ่งคำถามข้อหนึ่งถามว่า “คุณเป็นเจ้าของบ้าน และพักอาศัยอยู่ในบ้านกับครอบครัวของคุณหรือเปล่า?” ภรรยาได้คลิ้กคำตอบว่า “ใช่”
เมื่อบริษัทประกันภัยรายนั้นพิจารณาข้อมูลในใบคำขอเอาประกันภัยทางหน้าเวปแล้ว เป็นที่พอใจ จึงตกลงตอบรับประกันภัย และได้ออกกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินให้แก่ภรรยา โดยระบุชื่อภรรยานั้นเป็นผู้เอาประกันภัยเพียงผู้เดียว
อีกประมาณเก้าเดือนต่อมา ได้เกิดลมพายุสร้างความเสียหายให้แก่บ้านหลังนั้น และทรัพย์สินที่เอาประกันภัยที่อยู่ภายในด้วย ภรรยารายนี้ในฐานะผู้เอาประกันภัยได้แจ้งเหตุแห่งความเสียหายนั้น พร้อมเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งให้ความคุ้มครองถึงภัยลมพายุด้วยต่อบริษัทประกันภัยแห่งนั้น
เมื่อบริษัทประกันภัยนั้นได้อ่านรายงานของผู้ประเมินวินาศภัยที่ได้รับมอบหมายจากบริษัทประกันภัยนั้นให้เข้ามาตรวจสอบและประเมินมูลค่าความเสียหายแล้ว พบว่า ภรรยาซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยนั้น ความจริงแล้ว มิใช่เป็นเจ้าของบ้านตามเอกสารสิทธิ จึงมิใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสียอันอาจเอาประกันภัยได้ ทั้งยังแถลงข้อความอันเป็นเท็จที่ได้ตอบคำถามเรื่องเป็นเจ้าของบ้านหรือเปล่าด้วย บริษัทประกันภัยได้ตอบปฎิเสธไม่ยอมรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยอ้างเหตุทั้งสองข้อดังกล่าว
สามีภรรยาคู่นี้จึงได้นำคดีขึ้นสู่ศาล
คุณคิดเห็นอย่างไรครับ?
สำหรับคำปฎิเสธของบริษัทประกันภัยทั้งสองเหตุดังกล่าว
คู่สามีภรรยานี้มีโอกาสจะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่?
ฝากให้คิดเป็นการบ้าน
แล้วเราค่อยมาดูผลสรุปของคดีนี้ในตอนต่อไปว่า จะตรงตามความคิดเห็นของเราหรือเปล่านะครับ?
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น