วันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 46: ผู้โดยสารในรถ (Auto Passenger) หมายถึงใคร?



(ตอนที่สอง)

เมื่อคำว่า “ผู้โดยสาร” ไม่มีคำนิยามเอาไว้โดยเฉพาะในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ จึงจำต้องอาศัยการตีความทั่วไปว่า หมายความถึง ผู้ที่อาศัยไปกับรถยนต์ โดยจะอยู่ภายในรถยนต์คันนั้นแล้ว หรือขณะกำลังขึ้น หรือขณะกำลังลงจากรถยนต์คันนั้นก็ได้ 

กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ต่างประเทศมักใช้คำว่า “ครอบครอง (occupy) แทน

ดูแล้ว เสมือนไม่ต้องตีความอะไรให้เสียเวลาอีก แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาจไม่ง่ายอย่างที่เข้าใจก็ได้นะครับ 

งั้นเรามาลองพิจารณาจากคดีศึกษาของต่างประเทศกันนะครับ

คดีแรก
ผู้บาดเจ็บนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์คันที่เอาประกันภัยไป ระหว่างทางเกิดไปเฉี่ยวชนกับรถกระบะคันหนึ่ง ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์พยายามหักรถหลบ ทำให้คนซ้อนท้ายเสียหลักหล่นกลิ้งไปอยู่ที่พื้นถนน จากนั้น รถจักรยานยนต์คันนั้นก็หลบไม่พ้น ไปชนกับรถกระบะในท้ายที่สุด ด้วยแรงชนปะทะกัน ส่งผลให้ตัวรถจักรยานยนต์คันนั้นหมุนเหวี่ยงไปกระแทกคนซ้อนท้ายที่นอนอยู่บนพื้นถนน จนได้รับบาดเจ็บเพิ่มเติม

ข้อพิพาท
เกิดข้อพิพาทว่า คนซ้อนท้ายที่นอนอยู่บนพื้นถนน แล้วถูกรถจักรยานยนต์หมุนเหวี่ยงมากระแทกนั้น ยังคงมีสถานะเป็นผู้โดยสารอยู่หรือไม่? เวลาที่เกิดเหตุรถสองคันชนกันดังกล่าว

คำวินิจฉัย
การที่คนซ้อนท้ายหลุดแยกจากตัวรถจักรยานยนต์มาชั่วคราว ไม่ทำให้สามารถเปลี่ยนสถานะจากคนซ้อนท้ายมาเป็นคนที่อยู่นอกรถได้โดยเด็ดขาด ทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนับแต่ตกจากรถจักรยานยนต์ จนถูกรถจักรยานต์คันที่ตนโดยสารมาได้หมุนเหวี่ยงมากระแทกใส่ตนอีกครั้งนั้น ล้วนถือเป็นเหตุการณ์เดียวกันต่อเนื่องโดยไม่ขาดตอนทั้งสิ้น

(อ้างอิงคดี Boyson v. Kwasowsky, 2015 N.Y. Slip Op. 03964 (App. Div. 4th Dep’t May 8, 2015))

คดีที่สอง
นาย A ขับรถยนต์ตามหลังรถยนต์คันหน้าที่เกิดอุบัติเหตุ จนทำให้คนขับรถยนต์คันนั้นช่วยเหลือตัวเองให้ออกจากรถไม่ได้ นาย A จึงจอดรถของตน เพื่อลงไปช่วยเหลือตามมนุษยธรรม ระหว่างเดินไปเพื่อทำการช่วยเหลือคนเจ็บ ได้มีรถคันที่สามที่วิ่งตามมาด้วยความเร็ว มองไม่เห็นอุบัติเหตุข้างหน้า ได้วิ่งเข้ามาชนรถยนต์ทั้งสองคัน ทำให้รถทั้งสองคันนั้นเหวี่ยงมากระแทกจนร่างนาย A ตกอยู่ในสภาพได้รับบาดเจ็บถูกเบียดอัดอยู่ระหว่างรถทั้งสองคันนั้นเอง 

ข้อพิพาท
คำถาม คือ นาย A ยังถือเป็นผู้ขับขี่ หรือผู้โดยสารได้หรือไม่? เพราะร่างของนาย A สัมผัสรถยนต์ของตนเองอยู่ ในเวลาเกิดอุบัติเหตุ

คำวินิจฉัย
ศาลตีความโดยอาศัยความหมายทั่วไปของการอยู่บนรถ ในรถ กำลังขึ้น หรือกำลังลง เมื่อนาย A ได้เปิดประตูก้าวออกจากรถ พร้อมปิดประตูรถของตน และได้ก้าวเดินไปแล้ว จึงเกิดเหตุขึ้นนั้น เป็นสิ่งที่ชัดเจนแล้วว่า นาย A มิได้ตกอยู่ในสภาพของผู้ขับขี่ หรือผู้โดยสารแล้วแต่กรณี อีกต่อไปแล้ว การที่ยังมีส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายสัมผัสกับตัวรถยนต์อยู่ ไม่ส่งผลทำให้ยังคงมีสภาพของผู้ขับขี่ หรือผู้โดยสารได้ตามความหมายทั่วไปดังกล่าว

(อ้างอิงคดี U.S. Fid.& Guar. Co. v. Goudeau, No. 06-0987 (Tex. 2008))

คดีที่สาม
รถยนต์คันที่เอาประกันภัยเกิดยางแบน ผู้เอาประกันภัยจึงจอดรถข้างทาง เพื่อทำการเปลี่ยนยาง ขณะที่กำลังก้มตัวลงไปดึงเอายางอะไหล่ที่เก็บอยู่ช่องเก็บของท้ายรถออกมาอยู่นั้น ได้ปรากฏมีรถยนต์คู่กรณีวิ่งมาชนอัดร่างผู้เอาประกันภัยเข้ากับตัวรถจนได้รับบาดเจ็บ

ข้อพิพาท
ผู้เอาประกันภัยจะยังได้รับความคุ้มครองในฐานะผู้ขับขี่ หรือผู้โดยสารหรือไม่? ในเมื่อเวลาเกิดเหตุ ผู้เอาประกันภัยยืนอยู่นอกตัวรถ แม้ส่วนบนของร่างกายจะอยู่ในระหว่างการโน้มตัวลงไปในช่องเก็บของท้ายรถก็ตาม

คำวินิจฉัย
ศาลชั้นต้นตีความว่า ไม่อยู่ในสถานะเป็นผู้อยู่ในรถยนต์คันนั้น แต่ศาลอุทธรณ์มีความเห็นต่างว่า บางส่วนของตัวผู้เอาประกันภัยอยู่ในรถแล้ว ในขณะที่เกิดเหตุนั้นขึ้นมา

(อ้างอิงคดี Madden v. Farm Bureau Mutual Auto. Ins. Co., 82 Ohio App. 111, 79 N.E.2d 586 (Ct. App. 1948))

คดีที่สี่
ผู้โดยสารของรถยนต์คันที่เอาประกันภัยลงจากรถ เพื่อไปช่วยผู้โดยสารของรถยนต์อีกคันหนึ่งซึ่งเกิดอุบัติเหตุขับไปชนเสาไฟฟ้า ด้วยเกรงว่า รถยนต์คันนั้นจะเกิดระเบิดไฟลุกไหม้ขึ้นมา และตัวผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บนั้นเสมือนหนึ่งช่วยเหลือตัวเองให้ออกจากรถไม่ได้

ภายหลังจากได้ช่วยเหลือคนเจ็บออกมา และได้มีรถพยาบาลนำส่งโรงพยาบาลเรียบร้อยไปแล้ว 

ข้อพิพาท
ต่อมา ปรากฏว่า ผู้บาดเจ็บนั้นซึ่งได้รับบาดเจ็บถึงขนาดเป็นอัมพาตได้มาฟ้องเรียกค่าชดเชยจากผู้โดยสารของรถยนต์คันที่เอาประกันภัยผู้ซึ่งลงไปช่วยเหลือ โดยกล่าวหาว่า เพราะเคลื่อนตัวคนเจ็บไม่ถูกวิธี จึงส่งผลทำให้เกิดเป็นอัมพาตขึ้นมา 

คุณคิดว่า กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ของรถยนต์คันที่เอาประกันภัยจะให้ความคุ้มครองแก่ผู้โดยสารที่ถูกฟ้องรายนี้ได้ไหมครับ?

ขอยกยอดไปต่อตอนที่สามก็แล้วกัน พร้อมกับข้อสรุปสุดท้ายของบทความเรื่องนี้

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น