วันจันทร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 46: ผู้โดยสารในรถ (Auto Passenger) หมายถึงใคร?

(ตอนที่สาม)

ตอนที่แล้ว ได้ทิ้งท้ายในคดีศึกษาที่สี่ไว้ว่า รถยนต์คันที่เอาประกันภัยขับไปพบเห็นรถยนต์คันหน้าประสบอุบัติเหตุชนเสาไฟฟ้าข้างทาง คนขับของรถยนต์คันที่เกิดเหตุพาตัวออกจากรถมาได้อย่างทุลักทุเล แต่ไม่มีแรงพอที่จะเข้าไปช่วยดึงตัวผู้โดยสารที่ติดอยู่ในรถอีกคนหนึ่งออกมาได้ รถคันที่เอาประกันภัยซึ่งประสบเหตุเช่นนั้น ด้วยเจตนาดี และกังวัลว่า รถยนต์คันนั้นอาจจะเกิดระเบิดไฟลุกไหม้ขึ้นมาได้ จึงจอดรถลงไปช่วยเหลือ โดยผู้โดยสารของรถคันที่เอาประกันภัยรีบออกจากรถไปดึงตัวผู้โดยสารโชคร้ายรายนั้นออกมาได้อย่างปลอดภัย จนมีรถพยาบาลพาคนเจ็บไปส่งโรงพยาบาลในท้ายที่สุด

ต่อมา ผู้โดยสารที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือนั้นก็ได้รับหนังสือเรียกร้องค่าเสียหายจากทนายของผู้บาดเจ็บรายนั้น ซึ่งกล่าวโทษฐานที่ให้ช่วยเหลือไม่ถูกต้องตามวิธีการทางการแพทย์ จนส่งผลทำให้กระดูกข้อต่อเคลื่อนถึงขนาดผู้บาดเจ็บรายนั้นกลายเป็นอัมพาต

ประเด็นข้อพิพาท

เนื่องด้วยรถยนต์ทั้งสองคันต่างมีกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ให้ความคุ้มครองอยู่ทั้งสองฝ่าย กรมธรรม์ประกันภัยฉบับใด หรือทั้งสองฉบับ ควรรับผิดชอบสำหรับในกรณีนี้?

เงื่อนไขความคุ้มครองระบุว่า ให้ความคุ้มครองอุบัติเหตุอันเกิดจากรถยนต์ที่ ใช้ (use) คำนี้มีความหมายถึงเพียงใด? ปกติจะตีความว่า หมายถึง “การใช้ การบำรุงรักษา การขนขึ้น และการขนลง (use, maintenance, loading & unloading)

กรณีนี้เมื่อขึ้นสู่ศาล ศาลชั้นต้นเห็นพ้องกับบริษัทประกันภัยที่คุ้มครองรถยนต์คันที่เกิดเหตุว่า กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ฉบับของรถยนต์คันที่เกิดเหตุไม่คุ้มครองการกระทำของผู้ที่ไปช่วยเหลือ เพราะมิใช่เป็นทั้งผู้เอาประกันภัย หรือผู้โดยสารของรถยนต์คันนั้นเอง ทั้งการไปดึงตัวคนเจ็บออกมา ก็มิได้อยู่ในความหมายของการใช้รถคันนั้นอีกด้วย และคนทั่วไปก็มิได้ใช้รถตามปกติในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้คนที่ประสบเหตุแต่ประการใด ขณะที่กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ของรถคันที่ลงไปช่วยเหลือยอมรับผิด แต่เรียกร้องให้กรมธรรม์ประกันภัยอีกฉบับมาร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนด้วย

ประเด็นข้อพิพาทที่สำคัญในชั้นอุทธรณ์จึงอยู่ที่ว่า “การขนลง (unloading)” นั้น หมายความถึงเฉพาะการขนของ หรือขนคนของรถยนต์คันนั้นเพียงเท่านั้นหรือไม่? คนที่เข้ามาทำการดังกล่าวจะจำกัดเฉพาะตัวผู้เอาประกันภัยกับผู้โดยสารที่ใช้รถคันนั้นหรืออย่างไร? คนอื่นที่เข้าไปช่วยเหลือจะมิอาจได้รับความคุ้มครองหรืออย่างไร?

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คำว่า ใช้ (use)” นั้น เมื่อมิได้มีคำนิยามเอาไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย จึงต้องตีความอย่างกว้างตามความเข้าใจของคนทั่วไป เช่นเดียวกับการขนลง (unloading)” ซึ่งอาจอนุญาตให้บุคคลอื่นเข้ามาช่วยได้ ดังเช่น การใช้รถ บุคคลอื่นสามารถใช้รถได้โดยความยินยอมของผู้เอาประกันภัย ดังนั้น การที่บุคคลอื่นนำตัวคนเจ็บออกจากรถของตน ก็ทำได้เช่นกัน ประกอบกับพยานในเหตุการณ์ ก็ให้การว่า คนขับรถคันที่เกิดเหตุก็อยู่ในที่เกิดเหตุ เห็นภาพการเข้าไปช่วยเหลือคนเจ็บโดยตลอด มิได้ทำการขัดขวาง หรือไม่ยินยอมแต่ประการใด แถมยังขอบคุณความมีน้ำใจของผู้ช่วยเหลืออีกด้วย จริงอยู่ คนทั่วไปอาจมิได้ใช้รถตามปกติในการให้ความช่วยเหลือผู้คน แต่คงไม่สามารถนิ่งดูดายที่จะไม่ช่วยเหลือได้ เมื่อประสบเหตุเช่นนั้น

จึงตัดสินให้กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ทั้งสองคันนั้นเข้ามาร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้บาดเจ็บดังกล่าว

อ้างอิงคดี Encompass Insurance Co. v. Coast National Insurance Co., 764 F.3d 981 (9th Cir. 2014)

ข้อสรุปบทความเรื่องนี้

จากคดีศึกษาดังกล่าว คำว่า “ผู้โดยสาร” อาจไม่จำเป็นต้องอยู่ใน กำลังขึ้น หรือกำลังจากรถในขณะที่เกิดเหตุก็ได้ เช่นเดียวกับ “ใช้รถ” เพราะจะต้องพิจารณาประกอบข้อความจริงที่เกิดขึ้น ข้อกำหนดของกรมธรรม์ประกันภัย และสุดท้ายอยู่ที่ดุลพินิจของศาลท่านด้วย

ถึงแม้คดีศึกษาที่อ้างถึงจะเป็นของต่างประเทศ แต่เห็นว่า น่าสนใจเสริมเป็นความรู้ได้ และยังให้มุมมองที่ชวนคิดตรึกตรองได้หลากหลายอีกด้วย หากเรื่องเช่นนี้มาเกิดขึ้นในบ้านเรา

ผู้เขียนพยายามอย่างยิ่งจะหาเรื่องราวต่าง ๆ มาเล่าสู่กันฟังต่อไป ขอบคุณทุกท่านที่คอยติดตามนะครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น