เรื่องที่ 47: ผู้ซื้อรถที่ถูกขโมยมา
สามารถเอาประกันภัยได้หรือไม่?
มีผู้เอาประกันภัยรถยนต์รายหนึ่ง
รถยนต์ถูกคนร้ายขโมยไป
จึงไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยของตนตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์
ภาคสมัครใจ ประเภทหนึ่ง
บริษัทประกันภัยรายนั้นกลับปฏิเสธความรับผิด
เนื่องจากการสืบสวนข้อมูลได้ความว่า รถยนต์คันที่เอาประกันภัยนั้น
ทะเบียนเป็นของปลอม และเป็นรถที่ถูกขโมยมาก่อนหน้านั้น
โดยคนร้ายได้ไปจัดทำทะเบียนปลอมมาสวมแทน จากนั้น ได้นำมาประกาศขาย
ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้ไปซื้อมาเป็นของตน และได้จดทะเบียนโอนมาเป็นชื่อของตนกับหน่วยงานราชการอย่างถูกต้อง
จึงนำรถคันนั้นมาทำประกันภัยกับบริษัทประกันภัยรถยนต์ดังกล่าว
เนื่องด้วยข้อมูลที่สืบค้นมาชัดเจนว่า
คนขายรถยนต์คันนี้มิใช่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อย่างแท้จริง
ผู้เอาประกันภัยรายนี้ที่ไปซื้อต่อมา จึงไม่มีสิทธิในรถคันนี้ ทำให้ไม่มีส่วนได้เสียที่จะเอาประกันภัยรถคันนี้ได้
สัญญาประกันภัยจึงไม่มีผลผูกพันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 863
บริษัทประกันภัยไม่จำต้องผูกพันที่จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย
ด้วยเหตุผลดังกล่าว
เรื่องนี้
จึงเกิดเป็นข้อพิพาทขึ้นมาสู่ศาลว่า ผู้เอาประกันภัยรายนี้มีส่วนได้เสียในรถคันนี้หรือไม่?
และบริษัทประกันภัยจำต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือเปล่า?
ผู้เอาประกันภัยรายนี้โต้แย้งว่า
ตนซื้อรถคันนี้โดยสุจริตใจ ไม่ทราบว่า เป็นรถที่ถูกขโมยมา ทั้งเวลาที่ไปโอนทะเบียน
เจ้าหน้าที่ก็ดำเนินการให้อย่างไม่มีข้อโต้แย้งประการใด
จนกระทั่งมาเกิดเรื่องนี้ขึ้นมาในที่สุด
เรื่องนี้สู้กันถึงศาลฎีกา
มาพิจารณาคำวินิจฉัยของศาลฎีกาท่านดูนะครับ
แม้ผู้ขายรถยนต์คันพิพาทให้แก่โจทก์
ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยรายนี้จะไม่มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันพิพาท
ไม่อาจโอนขายให้โจทก์ได้ก็ตาม แต่ข้อความจริงฟังได้ว่า
โจทก์ได้รับโอนรถยนต์คันพิพาทมาโดยสุจริตเสียค่าตอบแทน มีการโอนทะเบียนรถยนต์โดยเปิดเผย
โจทก์ได้ยึดถือรถยนต์คันพิพาทไว้โดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน
มีการแจ้งย้ายทะเบียนรถยนต์ไปยังจังหวัด ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของโจทก์
และครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์คันพิพาทตลอดมา
โจทก์ย่อมมีสิทธิครอบครองรถยนต์คันพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน
ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง”
โจทก์จึงมีสิทธิใช้สอยและได้รับประโยชน์จากรถยนต์คันพิพาท
มีสิทธิให้ปลดเปลื้องจากการถูกรบกวนการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายจากบุคคลใด
ตามมาตรา 1374 มีสิทธิโอนสิทธิครอบครองให้บุคคลอื่นก็ได้ ตามมาตรา 1378 และอาจได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา
1382 จึงเป็นที่เห็นได้ว่า หากมีวินาศภัยเกิดขึ้นแก่รถยนต์คันพิพาทในระหว่างที่อยู่ในความครอบครองของโจทก์ โจทก์ย่อมได้รับความเสียหาย
คือ ต้องขาดประโยชน์ในการใช้สอยรถยนต์คันพิพาทไปจากที่เคยได้รับเป็นปกติ
ทั้งผู้มีสิทธิเอาประกันภัยนั้นมิได้จำกัดเพียงเฉพาะผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่เอาประกันภัยเท่านั้น
ผู้ที่มีความสัมพันธ์อยู่กับทรัพย์หรือสิทธิหรือผลประโยชน์หรือรายได้ใด ๆ
ซึ่งถ้ามีวินาศภัยเกิดขึ้น จะทำให้ผู้นั้นต้องเสียหาย และความเสียหายที่ผู้นั้นจะได้รับสามารถประมาณเป็นเงินได้แล้ว
ผู้นั้นย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่อาจเอาประกันภัยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 863
โจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการยึดถือครอบครองใช้ประโยชน์จากรถยนต์คันพิพาท
โจทก์จึงมีสิทธิเอาประกันภัยรถยนต์ดังกล่าวไว้แก่จำเลย
โดยมิต้องคำนึงถึงว่ากรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ เมื่อรถยนต์คันพิพาทที่เอาประกันภัยได้สูญหายไป
โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกร้องให้จำเลยผู้รับประกันภัยใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ตามสัญญาประกันภัยได้
(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 359/2542)
ข้อสรุป
โดยหลักการแล้ว ถ้าบุคคลใดกระทำการโดยสุจริต จะได้รับการปกป้องจากกฎหมาย
ถ้าผู้เอาประกันภัยสุจริตใจ เมื่อเกิดเหตุขึ้นมา บริษัทประกันภัยจำต้องรับผิดตามสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างกัน
เมื่อเทียบเคียงกับบทความเรื่องที่ 44:
สินค้าผิดกฎหมายทำประกันภัยได้หรือไม่? และบริษัทประกันภัยจำต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ได้หรือเปล่า?
ผลสรุปที่ได้ไม่แตกต่างกัน นี่เรียกว่า คนดี พระท่านคุ้มครองตามภาษาชาวบ้านครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น