วันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 42 : หนึ่งอุบัติเหตุ (Accident) หนึ่งเหตุการณ์ (Occurrence) หลายอุบัติเหตุ หลายเหตุการณ์ สำคัญไฉน?



(ตอนที่หนึ่ง)

ไม่ว่าการประกันภัยชีวิตร่างกาย การประกันภัยทรัพย์สิน หรือการประกันภัยความรับผิด ล้วนหลีกหนีไม่พ้นกับคำว่า “อุบัติเหตุ (Accident)” หรือ “เหตุการณ์ (Occurrence)” แทบทั้งสิ้น เพราะมันจะไปเกี่ยวโยงกับวงเงินที่จะได้รับการชดใช้ หรือค่าเสียหายส่วนแรกที่จะต้องรับผิดชอบเอง ซึ่งมักจะระบุในเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยนั้น ๆ ว่า วงเงินความคุ้มครองจำกัดต่อหนึ่งอุบัติเหตุ หรือหนึ่งเหตุการณ์ เช่นเดียวกับค่าเสียหายส่วนแรกต่อหนึ่งอุบัติเหตุ หรือหนึ่งเหตุการณ์

ในความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง หนึ่งความเสียหายอาจเป็นผลมาจากหนึ่งอุบัติเหตุ หรือหนึ่งเหตุการณ์ บางครั้ง หลายความเสียหายอาจเป็นผลมาจากหนึ่งอุบัติเหตุ หรือหนึ่งเหตุการณ์ก็ได้ กระทั่งหลายความเสียหายก็อาจเป็นผลมาจากหลายอุบัติเหตุ หรือหลายเหตุการณ์ก็ได้เช่นกัน นั่นหมายถึง วงเงินความคุ้มครองกับค่าเสียหายส่วนแรกก็จะผันแปรทวีคูณไปตามจำนวนอุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์ที่เพิ่มขึ้นไปด้วย แล้วเราจะพิจารณาหาแนวทางแยกแยะได้อย่างไร?

จากกรณีรถยนต์ชนกันหลายคัน แล้วสร้างความเสียหายอย่างมากมาย ดังที่ปรากฏเป็นข่าวทั้งใน และนอกประเทศนั้น ในแง่การประกันภัย มักจะมีความเห็นแตกต่างกันหลายมุมมอง มุมมองหนึ่งวิเคราะห์ว่า ถ้ารถยนต์ชนกันต่อเนื่องติดต่อกันหลายคัน ถือเป็นหนึ่งอุบัติเหตุ เนื่องจากกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจ กำหนดคำนิยาม อุบัติเหตุแต่ละครั้ง หมายความถึง “เหตุการณ์หนึ่ง หรือหลายเหตุการณ์สืบเนื่องกัน ซึ่งเกิดจากสาเหตุเดียวกัน

อีกมุมมองหนึ่งเห็นว่า หากมีช่วงห่างของระยะเวลากับพื้นที่ น่าจะสามารถแยกออกได้เป็นหลายอุบัติเหตุ หรือหลายเหตุการณ์ก็ได้  

ลำดับแรก เรามาลองดูความหมายของคำว่า “อุบัติเหตุ” กับ “เหตุการณ์” กันก่อน 

พจนานุกรมศัพท์ประกันภัย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ว่า 

อุบัติเหตุ (Accident)” หมายความถึง “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันโดยไม่คาดคิด และทำให้ร่างกายบาดเจ็บ หรือถึงแก่กรรม โดยผู้เอาประกันภัยมิได้เจตนา หรือถูกบุคคลใดเจตนากระทำ ลักษณะอุบัติเหตุที่ได้รับความคุ้มครองจะต้องเป็นผลจากเหตุการณ์ภายนอกซึ่งไม่ใช่จากโรคภัยไข้เจ็บ” 

ส่วน “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (Occurrence)” หมายความถึง “ในกรมธรรม์ประกันภัย ผู้รับประกันภัยจะจำกัดจำนวนความรับผิดสูงสุดไว้สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง เช่น ในกรณีเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ชนทำให้ผู้โดยสารในรถยนต์ 2 คน ได้รับบาดเจ็บ ก็ถือว่าอุบัติเหตุที่ผู้โดยสาร 2 คน ได้รับบาดเจ็บนั้น เป็นเหตุการณ์เดียวกัน

สำหรับต่างประเทศ “อุบัติเหตุ” มักหมายความถึง “สิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดหวัง หรือมุ่งหวัง และโดยมิได้เจตนา อันเป็นผลมาจากสาเหตุบางอย่างที่รับรู้ หรือไม่อาจรับรู้ได้

ส่วนคำว่า “เหตุการณ์” เพิ่งกำหนดคำนิยามมาตรฐานขึ้นมาในประเทศสหรัฐอเมริกา นับแต่ปี ค.ศ. 1973 เป็นต้นมา อันหมายความถึง “อุบัติเหตุ รวมทั้งกรณีที่ก่อให้เกิดสภาวะที่เป็นอันตรายตามปกติทั่วไปเช่นนั้นอย่างต่อเนื่อง และซ้ำซ้อน (an accident, including continuous or repeated exposure to substantially the same general harmful conditions)

ฉะนั้น จากคำนิยามดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ในต่างประเทศได้มีการแยกคำว่า “อุบัติเหตุ” กับ “เหตุการณ์” ออกจากกัน โดยอุบัติเหตุจะเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ กล่าวคือ หนึ่งเหตุการณ์อาจประกอบด้วยหลายอุบัติเหตุก็ได้

ศาลในประเทศสหรัฐอเมริกาเองได้พัฒนาทฤษฏีการตีความในการจำแนก “อุบัติเหตุ” กับ “เหตุการณ์” ออกเป็นสองทฤษฏีหลัก คือ “ทฤษฏีเหตุ (Cause Theory)” กับ “ทฤษฏีผล (Effect Theory)” ประกอบการพิจารณาข้อมูลสำคัญในเรื่อง ดังนี้

(1) ข้อกำหนด และเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนั้น ๆ
(2) ข้อความจริงที่เกิดขึ้น
(3) หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ตอนต่อไป เราจะมาดูถึงทฤษฏีการตีความดังกล่าว และลองวิเคราะห์กรณีศึกษาที่เกิดขึ้นกันนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น