วันจันทร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 41 : ความหมายของการใช้รถ ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ควรมองให้แคบ หรือกว้าง



(ตอนที่สาม)

จำนวนรถบนท้องถนนเพิ่มสูงขึ้น คนใช้รถเพิ่มมากขึ้น แต่ดูเหมือนการปฎิบัติตามกฎกติกา มารยาท การมีวินัย และความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกันกลับพุ่งสวนทางลดน้อยลงไปด้วยอัตราที่มิได้เป็นสัดส่วนกันเลย ด้วยเหตุนี้ สถิติการใช้ความรุนแรงบนท้องถนนจึงพุ่งปรี๊ด ไม่เฉพาะบ้านเรา แต่ทั่วทั้งโลก   

โดยเฉพาะบ้านเรา เรามีสถิติรถติดมากติดอันดับต้น ๆ ของโลก ขณะเดียวกัน ก็มีสถิติอุบัติเหตุทางรถยนต์สูงอันดับต้น ๆ ของโลกเช่นกัน เมื่อรถติดมาก แล้วจะมีอุบัติเหตุมากได้อย่างไร? คิดดูแล้วน่าแปลกใจเหมือนกัน

ไม่รู้เหมือนกันว่า สถิติอุบัติเหตุทางรถยนต์ติดอันดับโลกของเราจะหมายความรวมถึงการใช้ความรุนแรงบนท้องถนน (Road Rage) ด้วยหรือเปล่า? ช่างเถอะ เรามาพิจารณาในแง่การประกันภัยรถยนต์กันดีกว่า จะอยู่ในความหมายของ “การใช้รถ” อันทำให้ได้รับความคุ้มครองหรือไม่?

งั้นเราลองมาเรียนรู้จากกรณีคดีศึกษาของต่างประเทศด้วยกันนะครับ เรื่องมีอยู่ว่า รถสองคันวิ่งคู่กันไปบนท้องถนน แล้วจู่ ๆ เกิดเขม่นมีปากเสียงกันขึ้นมา เมื่อคนขับรถคันแรกขับไปจอดที่จุดหมายปลายทาง คนขับรถคันที่สองซึ่งยังค้างคาใจอยู่ได้ขับรถตามมาจอดปิดท้ายรถคันแรก จากนั้นสามคนในรถคันที่สองต่างกรูกันลงมาจากรถ โดยเฉพาะคนขับได้คว้าไม้กอล์ฟจากท้ายรถติดมือมาด้วย และไม่พูดพล่ามอะไรอีก ตรงเข้าฟาดทำร้ายคนขับรถคันแรกจนบาดเจ็บ

คดีทางอาญาก็ว่ากันไป ส่วนประเด็นทางด้านประกันภัยรถยนต์ของรถคันที่สองมีข้อโต้แย้งกันอยู่ว่า การกระทำของคนขับรถคันที่สองเข้าข่าย “การใช้รถ” ซึ่งมิได้มีคำนิยามเฉพาะกำหนดไว้หรือไม่? ถ้าใช่ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ก็ต้องทำการชดใช้ความบาดเจ็บของคู่กรณีในฐานะผู้ประสบภัยจากการใช้รถไป ขณะที่บริษัทประกันภัยไม่เห็นพ้องด้วย 

เรื่องนี้จึงเป็นคดีขึ้นสู่ศาล ศาลชั้นต้นเห็นพ้องกับบริษัทประกันภัย และคดีก็ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ในที่สุด ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า แม้รถคันที่สองได้นำผู้ก่อเหตุมาถึงจุดที่เกิดเหตุ อันถือเป็นการใช้รถก็ตาม แต่การลงไปทำร้ายคู่กรณีนั้น นับเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เป็นอิสระต่างหากออกไป โดยมิได้มีความเชื่อมโยงจากการใช้รถช่วงแรกเลย ดังนั้น ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษายืนว่า บริษัทประกันภัยไม่จำต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์นี้ (อ้างอิงคดี Roque v. Allstate Ins. Co., 2012 COA 10, 2012 WL 150079 (Colo. App. 2012))

จากแนวคำพิพากษาคดีนี้จุดประเด็นเรื่องผู้ก่อเหตุลงจากรถไปก่อเหตุ จะหมายความเป็นอีกเหตุการณ์ที่แยกต่างหากออกไปจากการใช้รถ

แล้วถ้าผู้ขับขี่รถก่อเหตุไปกัดแขนตำรวจ ขณะตนยังนั่งอยู่ในรถล่ะ จะกลายเป็นได้รับความคุ้มครองใช่หรือไม่? อยากรู้ผล ก็โปรดอดใจรอตอนต่อไปครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น