(ตอนที่สี่)
แม่บ้านรายหนึ่งโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ตนเองทะเลาะมีปากเสียงกับลูกสาวชื่อกรีน
แล้วลูกสาวก็ผลุนผลันพาหลานสาวตัวเล็ก (ลูกของลูกสาว) ขึ้นรถยนต์ขับหนีออกไปจากบ้าน
เนื่องจากลูกสาวมีอาการป่วยทางจิต ต้องทานยาตามกำหนดอย่างสม่ำเสมอ ตนเองเกรงจะเกิดอันตรายกับหลาน
จึงขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยติดตามนำตัวทั้งสองคนกลับมาบ้านอย่างปลอดภัยด้วย
จากนั้นไม่นาน รถสายตรวจคันหนึ่งก็เจอรถคันนั้น
และเข้าหยุดรถเอาไว้ เจ้าหน้าที่ตำรวจรายนั้นได้เรียกกำลังเสริม เพื่อทำการควบคุมตัวคนขับ
และช่วยเหลือเด็กผู้หญิงต่อไป เมื่อกำลังเสริมมาสมทบแล้ว
เจ้าหน้าที่สายตรวจทั้งสองนายก็ตรงเข้าไปใกล้รถคันนั้น พบเห็นเด็กหญิงนั่งอยู่เบาะหลังรถ
คนขับรถดูมีปฎิกิริยากระสับกระส่าย จึงสอบถามชื่อคนขับรถ ซึ่งได้คำตอบกลับมาว่า ชื่อ
“บียอนเซ่” เจ้าหน้าที่สายตรวจแจ้งว่า แม่เป็นห่วงมาก อยากให้คุณกลับไปทานยา
โดยขอให้คนขับดับเครื่องยนต์ และนำใบขับขี่มาแสดง คนขับเริ่มโวยวาย ไม่ยินยอม
เมื่อเจ้าหน้าที่ขอให้คนขับนำกุญแจรถวางไว้บนหลังคา คนขับยิ่งมีปฎิกิริยามากขึ้น
ทันใดนั้น ก็ได้เปิดประตูรถออกมา ตรงเข้าทำร้ายเจ้าหน้าที่สายตรวจทั้งสองราย
โดยรายหนึ่งถูกกัดเข้าที่แขนจนได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง
ภายหลังถูกควบคุมตัว คนขับให้การว่า
จำได้เพียงว่า ขับรถอยู่ แล้วถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจให้หยุดรถ จึงเกิดความกลัว พร้อมกังวลกับความปลอดภัยของลูกสาวตัวเอง
ไม่เข้าใจว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจให้หยุดรถ และส่งมอบกุญแจด้วยเหตุผลอะไร? เหตุต่อสู้เจ้าพนักงาน
ก็จำไม่ได้ชัดว่า กัดแขนหรือเปล่า? เพียงแต่ต่อสู้ป้องปัดไปบ้างเท่านั้น
ประเด็นของคดีนี้อยู่ที่กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ของคนขับ
ซึ่งเป็นผู้ต้องหารายนี้ให้ความคุ้มครองต่อความบาดเจ็บของเจ้าหน้าที่สายตรวจทั้งสองรายหรือไม่?
บริษัทประกันภัยปฎิเสธ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มิได้เกิดเนื่องมาจากการใช้รถตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์
เมื่อคดีขึ้นสู่ศาล ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า
รถมิได้ถูกใช้ในการทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย รถถูกหยุดวิ่ง และดับเครื่องยนต์แล้ว
ทั้งผู้ต้องหาก็ออกมาจากรถ แล้วตรงเข้าทำร้ายผู้เสียหายขณะอยู่นอกรถ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงไม่มีความเกี่ยวเนื่องจากการใช้รถ
ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย
โดยให้ความเห็นเสริมว่า แม้เหตุการณ์จะมีรถเข้ามาเกี่ยวข้อง
แต่รถมิได้มีความเกี่ยวเนื่องอย่างชัดแจ้งในการทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย แม้ถ้าผู้ต้องหาทำร้ายขณะที่ยังนั่งอยู่ในรถ
ก็มิได้ส่งผลทำให้ผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป เพราะจากคำให้การของผู้ต้องหาเอง จำไม่ได้ว่า
ตนถูกหยุดรถด้วยเหตุผลอะไร? แต่กังวลความปลอดภัยของลูกสาวของตัวเอง ดังนั้น
จึงน่าเชื่อว่า ความต้องการปกป้องตนเอง และลูกสาวเพิ่งเกิดขึ้นมาภายหลังจากการใช้รถ
มิใช่เกิดขึ้น เพราะมีต้นเหตุมาจากการใช้รถ
จึงไม่ถือเป็นสาเหตุใกล้ชิดเนื่องจากการใช้รถ อันจะได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์แต่ประการใด (อ้างอิงจากคดี
Colon v. Liberty Mutual Ins. Co., New
Jersey Superior Court, App. Div., Jan. 20, 2012)
กรณีเหตุการณ์รถชนกันหลายสิบคัน
ในแง่ประกันภัย ถือเป็นกี่อุบัติเหตุ? (Accident) หรือกี่เหตุการณ์?
(Occurrence)
โปรดติดตามได้ในเรื่องต่อไป คราวหน้านะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น