วันพุธที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 42 : หนึ่งอุบัติเหตุ (Accident) หนึ่งเหตุการณ์ (Occurrence) หลายอุบัติเหตุ หลายเหตุการณ์ สำคัญไฉน?



(ตอนที่สอง)

การวิเคราะห์กรณีที่เกิดขึ้นเป็นกี่อุบัติเหตุ หรือกี่เหตุการณ์นั้น อาจเทียบเคียงได้กับกรณีประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งจะมีการวิเคราะห์การกระทำความผิดเป็นกรรมเดียว หรือหลายกรรม ต่างวาระกัน ซึ่งกรรมมีความหมายถึงการกระทำนั่นเอง

ภายใต้ทฤษฏีเหตุ (Cause Theory) มองที่ต้นเหตุ คือ การกระทำของผู้เอาประกันภัยเป็นเกณฑ์ในการวิเคราะห์ว่า เป็นกรรมเดียว หรือหลายกรรมในการก่อให้เกิดความบาดเจ็บ หรือความเสียหาย โดยอาศัยหลักสาเหตุใกล้ชิด (Proximate Cause) ประกอบ หากภัยเดียวก่อให้เกิดภัยอื่นหลายภัยติดตามมาต่อเนื่องโดยไม่ขาดตอน ให้ยึดภัยแรกสุดเป็นเกณฑ์ ยกตัวอย่างเช่น การชนของรถคันเดียว ก่อให้เกิดความบาดเจ็บของผู้ขับขี่กับผู้โดยสารจากการกระแทก การปะทะ การฟาดเหวี่ยง การหลุดลอยออกจากรถ ล้วนถือเป็นหนึ่งเหตุการณ์ที่มีสาเหตุมาจากการที่รถชนด้วยความประมาทเลินเล่อของผู้ขับขี่ ไม่ว่าจะมีผู้บาดเจ็บกี่คนก็ตาม

เทียบเคียงกับคดีในประเทศไทย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7973/2548
จำเลยที่ 4 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขับรถบรรทุกวัตถุระเบิดของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้นำไปส่งที่คลังสินค้าของจำเลยที่ 1 ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ระหว่างการขนส่งจำเลยที่ 4 ประมาทเลินเล่อขับรถด้วยความเร็วเกินสมควร แล่นเข้าทางโค้งที่เกิดเหตุซึ่งเป็นทางโค้งหักข้อศอกโดยไม่ระมัดระวัง จนเป็นเหตุให้ไม่สามารถควบคุมรถได้ ทำให้รถเสียหลักพลิกคว่ำ วัตถุระเบิดซึ่งบรรทุกมาตกกระจายอยู่บนพื้นถนน หลังจากนั้นมีชาวบ้านเข้ามายุ่งเกี่ยวกับวัตถุระเบิดที่ตกกระจายอยู่บนพื้นถนนดังกล่าว เป็นเหตุให้เกิดระเบิดขึ้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมหลายร้อยคน และทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหาย การกระทำของชาวบ้านที่ทำให้เกิดระเบิดขึ้นเช่นนี้ เป็นเหตุแทรกแซงที่วิญญูชนคาดหมายได้ เพราะเป็นเรื่องธรรมดาเมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบนทางหลวง ก็จะมีชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียง รวมทั้งประชาชนที่ใช้ยวดยานสัญจรผ่านที่เกิดเหตุจะหยุดรถลงไปมุงดูเหตุการณ์ และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้บาดเจ็บ รวมทั้งอาจมีคนไม่ดี ซึ่งปะปนอยู่ในกลุ่มคนเหล่านั้น ถือโอกาสหยิบฉวยเอาทรัพย์สินสิ่งของที่ตกหล่นไปได้ ทั้งการขนส่งวัตถุระเบิดครั้งนี้ก็มิได้จัดให้มีป้ายข้อความว่า "วัตถุระเบิด" ติดแสดงไว้ให้เห็นได้ง่ายที่ด้านหน้าและด้านหลังรถบรรทุกวัตถุระเบิดคันเกิดเหตุด้วย จึงต้องถือว่าเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นเป็นผลใกล้ชิดสัมพันธ์ต่อเนื่องมาจากการขับรถโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 4 ซึ่งกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 4 ด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 425

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3008 - 3009/2527
รถของโจทก์ถูกรถของจำเลยชนโดยประมาทพังขวางอยู่กลางถนน แล้วถูกรถของบุคคลอื่นชนซ้ำ โดยไม่ใช่ความประมาทของบุคคลนั้น แม้จะก่อให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้น ก็เป็นผลโดยตรงอันเกิดจากความประมาทของฝ่ายจำเลยเป็นผู้ก่อขึ้นก่อน ดังนั้น จำเลยจึงต้องรับผิดในผลอันนี้ด้วย สำนวนแรกโจทก์มิได้ฟ้องผู้รับประกันภัยเป็นจำเลย คงฟ้องแต่ผู้อื่น เมื่อผู้รับประกันภัยเข้ามาเป็นโจทก์ในสำนวนที่สอง โดยอ้างว่าเป็นผู้รับช่วงสิทธิในฐานะผู้รับประกันภัยฟ้องจำเลยอื่นและโจทก์ในสำนวนแรกให้ร่วมรับผิด อันเนื่องจากเหตุรถชนรายเดียวกัน โจทก์ในสำนวนแรกจึงมีสิทธิฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากผู้รับประกันภัย ซึ่งเป็นโจทก์ในสำนวนที่สองได้ ไม่เป็นฟ้องซ้อน โจทก์ที่ 2 เป็นจำเลยตามฟ้องแย้งในสำนวนที่สองของโจทก์ที่ 1 ส่วนจำเลยเป็นจำเลยตามฟ้องสำนวนแรกของโจทก์ที่1 แม้จะเป็นค่าเสียหายรายเดียวกัน แต่เป็นคนละคดีต้องเสียค่าขึ้นศาลต่างหากจากกัน เมื่อโจทก์ที่ 2 และจำเลยแพ้คดีและฎีกาต่อมา จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลเป็นรายคดีการที่ฎีการ่วมกันมาไม่ทำให้หน้าที่ที่จะต้องเสียค่าขึ้นศาลลดน้อยลง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ย นับแต่วันละเมิดเป็นการเกินคำขอ เพราะโจทก์ขอเรียกดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2522 ศาลฎีกาควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง

แต่หากสามารถจำแนกการกระทำของผู้เอาประกันภัยแยกจากกันออกได้เป็นหลายกรรม หลายการกระทำ โดยพิจารณาถึงช่วงระยะเวลากับระยะทางที่ต่างกันออกไป ก็เปรียบเสมือนภัยที่ติดตามมานั้นขาดตอน ไม่ต่อเนื่องกันอีกต่อไปแล้ว ทั้งนี้ ช่วงห่างของระยะเวลาอาจเป็นไม่กี่วินาที หลายนาที หรือระยะทางอาจเป็นคืบ เป็นศอกก็ได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับข้อความจริงที่เกิดขึ้นด้วย อย่างนี้ จะถือเป็นการกระทำต่างกรรม ต่างวาระกันไป คือ เป็นหลายเหตุการณ์นั่นเอง

ยกตัวอย่างคดีต่างประเทศ
คดี Liberty Mutual Ins. Co. v. Rawls. C05.40038; 404 F.2d 880 (1968)
ระหว่างผู้เอาประกันภัยขับรถยนต์ไปตามถนนหลวงด้วยความเร็วสูง ได้ถูกรถสายตรวจวิ่งไล่กวดตามไปสองคัน รถยนต์ของผู้เอาประกันภัยพุ่งเข้าชนท้ายรถยนต์ของคู่กรณีคันที่หนึ่งทางด้านซ้าย จนรถคู่กรณีเสียหลักตกถนนทางด้านขวา แต่รถยนต์ของผู้เอาประกันภัยยังคงวิ่งต่อไปทางทิศเหนือ และวิ่งข้ามช่องทางไปพุ่งชนประสานงากับรถยนต์ของคู่กรณีคันที่สอง ซึ่งแล่นสวนไปทางทิศใต้ ประเด็นข้อพิพาทคดีนี้ คือ ถือเป็นเหตุการณ์เดียว หรือหลายเหตุการณ์ เพราะช่วงห่างของระยะเวลาที่เกิดขึ้นต่างกันเพียงไม่กี่วินาที และระยะทางห่างกันหลายสิบฟุต ซึ่งศาลอุทธรณ์เห็นว่า เป็นสองเหตุการณ์แยกจากกัน ด้วยทั้งระยะเวลากับระยะทางที่ต่างกัน หลังการชนรถคู่กรณีรายแรก ผู้เอาประกันภัยยังสามารถควบคุมรถได้จนกระทั่งไปชนกับรถคู่กรณีคันที่สองในที่สุด บริษัทประกันภัยจำต้องชดใช้วงเงินความคุ้มครองสูงสุดแยกไปแต่ละเหตุการณ์ เช่นเดียวกับที่ผู้เอาประกันภัยจำต้องรับผิดค่าเสียหายส่วนแรกแยกตามไปด้วย

ข้อสังเกต เมื่อเทียบเคียงกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3008 - 3009/2527 ข้างต้น ซึ่งมีรถสองคันชนกันคาถนนอยู่ แล้วมีรถคันที่สามมาชนซ้ำอีกที หากคนขับรถคันที่สามไม่มีส่วนประมาท ถือเป็นความประมาทของรถที่ก่อเหตุแรกสุด ถ้ารถคันที่สามมีส่วนประมาท ก็ถือเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์แยกจากกันได้

ทฤษฏีเหตุ (Cause Theory) นี้ ศาลในต่างประเทศมักใช้อ้างอิงบ่อยครั้ง ดูแล้ว จากแนวคำพิพากษาศาลไทยคงไม่ต่างกัน

ขอยกยอดไปคุยกันต่อในตอนที่สามนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น