(ตอนที่สี่)
กรณีที่ฝากเป็นการบ้านเอาไว้ที่ผู้ขับรถดัมพ์ถอยรถไปทับคน
โดยขณะนั้น ไม่รู้ว่าทับคน คิดว่าเพียงเหยียบอะไรบางอย่าง จึงขับเดินหน้าไปอีกที
เป็นการทับคนซ้ำครั้งที่สอง แล้วหยุดรถลงมาดูว่า ตนเองขับรถทับอะไร?
ถ้าเรามาวิเคราะห์โดยอาศัยทฤษฏีเหตุ
(Cause
Theory) ซึ่งมองที่พฤติกรรมของผู้กระทำเป็นเกณฑ์นั้น
ดูเสมือนหนึ่งการขับรถถอยหลังไปทับคนครั้งแรก กับการเดินหน้าไปทับคนซ้ำครั้งที่สอง
ล้วนอยู่ในการบังคับควบคุมของคนขับทั้งสองครั้ง
ตีความออกมาได้เป็นสองเหตุการณ์
หากอาศัยทฤษฏีผล
(Effect
Theory) ซึ่งมองที่ผู้เสียหายเป็นหลัก ผลลัพธ์ที่ได้ไม่แตกต่างกัน
เพราะการขับรถทับผู้เสียหายสองครั้ง ก็ถือเป็นสองเหตุการณ์ด้วย
หรือคุณคิดไว้ต่างจากนี้?
โชคดีที่ผู้เสียหายที่ถูกรถทับรายนี้เพียงได้รับบาดเจ็บเท่านั้น
จึงมาเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยที่คุ้มครองรถดัมพ์คันนั้นให้รับผิดชอบ
โดยมีวงเงินคุ้มครองสูงสุด 500,000 ดอลล่าร์สหรัฐต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง
และในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ได้กำหนดนิยามคำว่า “อุบัติเหตุ” หมายความถึง “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน
มิได้คาดหวัง และมิได้เจตนา หรือเป็นภัยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือซ้ำ ๆ
ในเหตุการณ์ดังกล่าว จนทำให้เกิดความบาดเจ็บทางร่างกาย
หรือความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก โดยมีสาเหตุมาจากการเป็นเจ้าของ
การบำรุงรักษา หรือการใช้รถคันที่เอาประกันภัยของผู้เอาประกันภัย”
(ดังที่เคยกล่าวไว้แล้ว
ถ้ามิได้มีคำนิยามเฉพาะของคำว่า “เหตุการณ์” แยกต่างหาก ให้ถือว่า คำว่า “อุบัติเหตุ”
กับ “เหตุการณ์” สามารถใช้ทดแทนกันได้)
ศาลชั้นต้นเห็นด้วยกับผู้เสียหายว่า
เป็นอุบัติเหตุ/เหตุการณ์สองครั้ง จึงตัดสินให้บริษัทประกันภัยชดใช้ให้แก่ผู้เสียหาย
สำหรับอุบัติเหตุ/เหตุการณ์ทั้งสองครั้งรวมเป็นเงินสูงสุด 1,000,000
ดอลล่าร์สหรัฐ
บริษัทประกันภัยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วิเคราะห์เป็นเหตุการณ์เดียวกันต่อเนื่องโดยไม่ขาดตอน จากการถอยรถทับครั้งแรก
ส่วนการเดินหน้าทับครั้งที่สองนั้น ก็มิได้อยู่ในการบังคับควบคุมของผู้ขับขี่ได้อย่างแท้จริงเลย
จึงพิพากษากลับให้บริษัทประกันภัยชดใช้เพียงสูงสุดไม่เกิน 500,000
ดอลล่าร์สหรัฐเท่านั้น
อ้างอิงคดี
Progressive Ins. Co. v. Derby 2001
WL 672177 (Ohio App. 6 Dist.)
คุณเห็นด้วยไหมครับ?
อย่างไรก็ดี
ไม่ว่าทฤษฏีเหตุ หรือทฤษฏีผลก็ยังไม่อาจตอบสนองกรณีที่มีการกระทำความผิดแก่เหยื่อผู้เสียหายหลายรายเป็นระยะเวลาต่อเนื่องนาน
ๆ อย่างเช่นกรณีล่วงละเมิดทางเพศ หรือเรื่องมลภาวะ เป็นต้น จึงได้มีการคิดค้นทฤษฏีเพิ่มเติมโดยผสมผสานทั้งสองทฤษฏีเข้ามาประกอบกับการพิจารณาถึงภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาพรวม
ซึ่งเรียกว่า “ทฤษฏีเหตุการณ์แห่งความโชคร้าย (Unfortunate
Events Theory)”
ตัวอย่างคดีสำหรับทฤษฏีเหตุการณ์แห่งความโชคร้าย
คือ
รถดัมพ์คันหนึ่งวิ่งไปตามถนนหลวง
แล้วจู่ ๆ กระบะดัมพ์ก็ยกตัวไปเกี่ยวกับสะพานทางข้าม
จนกระบะดัมพ์หลุดแยกจากตัวรถหล่นไปอยู่บนพื้นถนน จากนั้นไม่นาน
มีรถตู้คันหนึ่งวิ่งไปชนกระบะดัมพ์นั้น ทำให้มีผู้บาดเจ็บหลายราย อึดใจต่อมา
ก็มีรถอีกคันแล่นไปชนกระบะดัมพ์ซ้ำอีกที คนในรถคันนั้น ได้รับบาดเจ็บเช่นกัน
รวมแล้วเกิดการชนทั้งหมดสามครั้ง อย่างนี้
จะถือเป็นกี่อุบัติเหตุ/เหตุการณ์กันแน่?
ถ้ามองว่า
เหตุการณ์ทั้งหมดล้วนมีต้นเหตุมาจากการที่กระบะของรถดัมพ์ไปเกี่ยวสะพานข้ามทั้งสิ้น
การชนอีกสองครั้งที่ติดตามมา ก็เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเท่านั้น น่าจะถือเป็นอุบัติเหตุ/เหตุการณ์เดียวได้
ใช่หรือไม่?
ศาลในคดีนี้วิเคราะห์ว่า
เหตุการณ์กระบะดัมพ์ไปเกี่ยวกับสะพานจนหล่นไปตกบนพื้นถนนนั้น มิได้เป็นสาเหตุทำให้เกิดการชนอีกสองครั้งตามมา
ทั้งรถตู้ที่วิ่งไปชนกระบะดัมพ์ก่อน
ก็มิได้เสียหลักเหวี่ยงตัวไปชนรถคันที่สามแต่อย่างใด ดังนั้น กรณีการชนของรถทั้งสามคัน
จึงไม่ได้เกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยไม่ขาดตอนแต่ประการใด
แม้ช่วงเวลาการชนทั้งสามครั้งจะเกิดต่างกันชั่วไม่กี่วินาทีก็ตาม
ถึงแม้ในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์จะกำหนดนิยามคำว่า “อุบัติเหตุ” ให้ความบาดเจ็บทางร่างกายกับความเสียหายทางทรัพย์สิน ซึ่งเป็นผลมาจากภัยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
หรือซ้ำซ้อนจากสภาวะการณ์เดียวกัน ให้ถือรวมเป็นหนึ่งอุบัติเหตุก็ตาม
(อ้างอิงคดี Itzkowitz v. Nat’l Liab. & Fire
Ins. Co., 2015 WL 5332109 (2d Cir. Sept. 15, 2015), as amended (Sept. 22, 2015))
ลองเทียบเคียงกับคดีต่อไปนี้ของไทยดูก็แล้วกันนะครับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1281/2546
จำเลยใช้เหล็กทุบทำลายกระจกรถยนต์ 9 คัน ทั้งยังได้ลักทรัพย์ และพยายามลักทรัพย์ในรถยนต์ทั้ง 9 คันด้วย แม้จำเลยอาจจะเมาสุราขาดสติเพียงครั้งเดียว และได้กระทำความผิดในคราวเดียวกัน แต่จำเลยได้กระทำต่อรถยนต์ถึง 9 คัน ซึ่งเป็นของผู้เสียหายคนละคนกัน โดยจำเลยกระทำความผิดทีละคัน และคนละเวลากัน แม้จะเป็นเวลาที่ต่อเนื่องใกล้ชิดกัน แต่การกระทำความผิดในรถยนต์แต่ละคัน ก็เป็นความผิดสำเร็จเด็ดขาดไปแล้ว และเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามที่ได้กระทำต่อรถยนต์ทุกคันมิใช่กรรมเดียว
จำเลยใช้เหล็กทุบทำลายกระจกรถยนต์ 9 คัน ทั้งยังได้ลักทรัพย์ และพยายามลักทรัพย์ในรถยนต์ทั้ง 9 คันด้วย แม้จำเลยอาจจะเมาสุราขาดสติเพียงครั้งเดียว และได้กระทำความผิดในคราวเดียวกัน แต่จำเลยได้กระทำต่อรถยนต์ถึง 9 คัน ซึ่งเป็นของผู้เสียหายคนละคนกัน โดยจำเลยกระทำความผิดทีละคัน และคนละเวลากัน แม้จะเป็นเวลาที่ต่อเนื่องใกล้ชิดกัน แต่การกระทำความผิดในรถยนต์แต่ละคัน ก็เป็นความผิดสำเร็จเด็ดขาดไปแล้ว และเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามที่ได้กระทำต่อรถยนต์ทุกคันมิใช่กรรมเดียว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5929/2534
ขณะที่จำเลยยิงผู้ตายทั้งสอง
ผู้ตายทั้งสองอยู่ด้วยกันในห้องนอน จำเลยยิงนาย ล. ก่อน แล้วจึงยิงนาง น.
จำเลยยอมรับว่า จำเลยยิงนาย ล. 2 นัด แล้วจึงยิงนางน.
1 นัด แสดงว่าในการยิงปืนแต่ละนัด ความประสงค์และจุดมุ่งหมายของจำเลยได้แยกออกจากกันว่า
กระสุนนัดใดจำเลยยิงผู้ตายคนใด เจตนาฆ่าผู้ตายทั้งสองในขณะจำเลยลงมือกระทำความผิด จึงแยกออกจากกันได้
ความต้องการให้ผู้ตายทั้งสองถึงแก่ความตาย แม้จะเกิดขึ้นในใจของจำเลยพร้อม ๆ กัน และต่อเนื่องกับการลงมือกระทำความผิด
ก็มิใช่เจตนาในขณะที่จำเลยลงมือกระทำความผิด การกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นความผิดสองกรรม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 310/2546
การที่จำเลยที่
1
ลักเอาบัตร เอ.ที.เอ็ม. ของธนาคาร ก. ซึ่งอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายไปนั้น
จำเลยที่ 1 ย่อมทราบดีว่า ไม่สามารถเบิกถอนเงินจากบัญชีผู้เสียหายในครั้งเดียวได้หมด
เพราะมีข้อจำกัดของธนาคารเกี่ยวกับจำนวนเงินในการเบิกถอน เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1
นำบัตรดังกล่าวไปเบิกถอนเงินในวันเวลาและสถานที่ต่าง ๆ
กันหลายจังหวัด ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 1 ได้ว่า ต้องการใช้บัตรนั้นเบิกถอนเงินจากบัญชีของผู้เสียหายเป็นคราว
ๆ ไป การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
เมื่อจำเลยที่ 1 ใช้บัตร เอ.ที.เอ็ม. เบิกถอนเงิน 60 ครั้ง เป็นความผิด 60 กระทง เมื่อรวมกับความผิดฐานลักบัตรดังกล่าวอีก
1 กระทง จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดรวม 61
กระทง
คำพิพากษาฎีกาที่ 5684/2546
จำเลยที่ 1 ลักบัตรเครดิตของโจทก์ร่วมไป เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า เหตุที่จำเลยที่
1 ต้องถอนเงินจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติถึง 2 ครั้ง เป็นเงิน 20,000 บาท นั้น เพราะจำเลยที่ 1
ไม่อาจถอนเงินได้ในครั้งเดียว เพราะขัดต่อระเบียบของธนาคาร เห็นได้ว่า
หากจำเลยที่ 1 สามารถถอนเงินได้เพียงครั้งเดียวในจำนวนสูงสุด
จำเลยที่ 1 คงไม่ถอนเงินอีกเป็นครั้งที่ 2 เป็นข้อยืนยันว่า การถอนเงินของจำเลยที่ 1 เกิดจากเจตนาอันเดียวกันที่จะถอนเงินให้ได้มากที่สุดในครั้งนั้น
จึงถอนเงินต่อเนื่องกันไป การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดกรรมเดียว
มิใช่ต่างกรรม
กรรมเป็นเรื่องของเจตนาจริง ๆ
แม้แนวคำพิพากษาศาลฎีกาของไทยจะเป็นคดีอาญาที่เน้นเรื่องเจตนาเป็นสำคัญ
แต่ผมเห็นว่า สามารถเทียบเคียงกับเรื่องจำนวนของอุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์ที่เราพูดถึงกันได้
หลักการไม่น่าจะแตกต่างกันมากนัก ถ้าเราจับหลักการได้ ก็น่าจะช่วยในการวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
และไม่จำกัดว่า จะต้องเป็นเรื่องของการประกันภัยรถยนต์เท่านั้น
ฉะนั้น บางท่านที่เคยสอบถามเรื่องข่าวรถชนวินาศสันตะโรในกรุงเทพฯ
เมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา จะลองนำหลักการดังกล่าวไปปรับใช้ ก็เชิญตามอัธยาศัยนะครับ
ต่อไป เราคงสลับไปคุยเรื่องอื่นบ้าง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น