วันอังคารที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 42 : หนึ่งอุบัติเหตุ (Accident) หนึ่งเหตุการณ์ (Occurrence) หลายอุบัติเหตุ หลายเหตุการณ์ สำคัญไฉน?



(ตอนที่สาม)

อนึ่ง กรณีที่กรมธรรม์ประกันภัยมิได้กำหนดคำนิยามของ “อุบัติเหตุ (Accident)” หรือ “เหตุการณ์ (Occurrence)” เอาไว้เป็นพิเศษ ศาลต่างประเทศจะพิจารณาให้ทั้งสองคำนี้ใช้แทนกันได้ จึงน่าสนใจว่า ในประเทศไทย กรมธรรม์ประกันภัยส่วนใหญ่มิได้กำหนดคำนิยามเอาไว้เลย แต่กลับพบเห็นทั้งสองคำนี้ในเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยทั้งในส่วนของวงเงินความคุ้มครอง และความเสียหายส่วนแรกอยู่บ่อยครั้ง เวลาเมื่อเกิดข้อพิพาทจะตีความกันอย่างไร? จะอาศัยอ้างอิงความหมายจากพจนานุกรมศัพท์ประกันภัยเพียงพอหรือไม่?

สำหรับทฤษฎีที่สอง คือ ทฤษฏีผล (Effect Theory) นั้น จะมองที่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นเกณฑ์ โดยจำแนกจำนวนผู้บาดเจ็บ/ผู้เสียชีวิต หรือทรัพย์สินที่เสียหาย  แต่ละราย หรือแต่ละชิ้นเป็นหนึ่งอุบัติเหตุ

เมื่อพิจารณาจากพจนานุกรมศัพท์ประกันภัย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน คำว่า “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (Occurrence)” หมายความถึง “ในกรมธรรม์ประกันภัย ผู้รับประกันภัยจะจำกัดจำนวนความรับผิดสูงสุดไว้สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง เช่น ในกรณีเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ชนทำให้ผู้โดยสารในรถยนต์ 2 คน ได้รับบาดเจ็บ ก็ถือว่าอุบัติเหตุที่ผู้โดยสาร 2 คน ได้รับบาดเจ็บนั้น เป็นเหตุการณ์เดียวกัน

ถ้ามองจากทฤษฎีเหตุ ถือเป็นหนึ่งเหตุการณ์ แต่ถ้าอาศัยทฤษฏีผล กลับถือเป็นสองอุบัติเหตุ โดยถือความบาดเจ็บของผู้โดยสารในรถยนต์แต่ละรายเป็นหนึ่งอุบัติเหตุแยกจากกัน ซึ่งทำให้ทฤษฏีนี้ไม่เป็นที่ยอมรับ

เมื่อสังเกตุ ทฤษฏีเหตุจะเน้นไปที่การกระทำของผู้เอาประกันภัย หรือผู้กระทำความผิดเป็นเกณฑ์ว่า อยู่ในความควบคุมของเขาได้หรือไม่?

ลองดูตัวอย่างนี้นะครับ
ผู้เอาประกันภัยขับรถยนต์โดยประมาทไปชนท้ายรถคู่กรณีคันแรก แล้วพยายามเบี่ยงรถเพื่อหลบหนี ทำให้เกิดไปชนกับรถยนต์คู่กรณีคันที่สองจนไปไม่รอด คุณคิดว่า เหตุการณ์เช่นนี้ จะตีความเป็นหนึ่งเหตุการณ์ หรือสองเหตุการณ์ดีครับ

ถ้าอาศัยทฤษฏีเหตุข้างต้น จำต้องพิจารณาการชนครั้งที่สองจะถือเป็นเหตุต่อเนื่องโดยไม่ขาดตอนหรือเปล่า? ถ้าใช่ ก็เป็นเพียงหนึ่งเหตุการณ์ แต่ถ้าไม่ใช่ ก็เป็นสองเหตุการณ์ 

ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ว่า การชนครั้งที่สอง ผู้เอาประกันภัยยังสามารถควบคุมรถยนต์ของตนได้หรือไม่? การพยายามขับรถหนี ตอบคำถามนี้ได้ ด้วยเหตุนี้ จึงถือเป็นเหตุการณ์ที่สอง ซึ่งมีช่วงระยะเวลาห่างกันไม่กี่วินาที และระยะทางไม่กี่ฟุต (อ้างอิงคดี Ennis v. Reed, Del. Super., 467 C.A. 1977 (April 4, 1978))

งั้นผมมีการบ้านฝากให้ทำหนึ่งข้อ 
แล้วถ้าผู้ขับรถดัมพ์ถอยรถไปทับคน โดยขณะนั้น ไม่รู้ว่าทับคน คิดว่าเพียงเหยียบอะไรบางอย่าง จึงขับเดินหน้าไปอีกที เป็นการทับคนซ้ำครั้งที่สอง แล้วหยุดรถลงมาดูว่า ตนเองขับรถทับอะไร? กรณีนี้ คุณคิดว่า เป็นหนึ่งเหตุการณ์ หรือสองเหตุการณ์กันแน่ครับ

แล้วเรากลับมาคุยกันอีกทีหลังเทศกาลสงกรานต์ ขอให้มีความสุขสดชื่น และปลอดภัยในช่วงเทศกาลนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น