เรื่องที่ 36 :กรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดียว
มีผู้เอาประกันภัยหลายคน (Multi-Insureds) ดีหรือไม่?
(ตอนที่หนึ่ง)
จากประสบการณ์ที่เคยเป็นฝ่ายรับประกันภัย
เคยพบเห็นมา และล่าสุดที่มีคำถามประเด็นเรื่องนี้ขึ้นมา
ทำให้เกิดคำถามกับตัวเองเหมือนกันว่า การระบุผู้เอาประกันภัยหลายรายนั้น ทำไปทำไม? มีข้อดีหรือข้อเสียอย่างไรบ้าง?
ผมจึงจำต้องไปสืบค้นหาความรู้เพิ่มเติมใส่ตัว
ในการทำความเข้าใจประเด็นเรื่องนี้
ก่อนอื่นควรเริ่มตั้งคำถามกันก่อนว่า เวลาตกลงทำประกันภัยขึ้นมาสักฉบับหนึ่ง “ใครควร
คือ ผู้เอาประกันภัย? (บ้าง)” นั่นเป็นสิ่งที่ผมมักพยายามเน้นเสมอ
เวลาไปพูดเรื่องความรู้ด้านการประกันภัย เพราะส่วนตัวมองว่า ถ้าเริ่มต้นผิดตั้งแต่แรก
ทุกอย่างก็จะผิดตามกันไปทั้งหมด และมิใช่ใคร ๆ ก็สามารถทำประกันภัยก็ได้
หลักการประกันภัยข้อแรกในความคิดของผม
คือ หลักส่วนได้เสีย (Principle of Insurable Interest) ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 863
บัญญัติว่า “อันสัญญาประกันภัยนั้น
ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้
ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด” ฉะนั้น
คนที่ไปตกลงทำสัญญาประกันภัยกับบริษัทประกันภัย
โดยที่ตนเองไม่มีส่วนได้เสียในวัตถุที่เอาประกันภัย (อาจเป็นชีวิต ทรัพย์สิน
หรือความรับผิดตามกฎหมายก็ได้) ในเวลาทำสัญญานั้น หลังจากนั้นเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นมาจากเหตุ
หรือภัยที่ตกลงกันไว้แล้ว และคาดหวังว่า จะต้องได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย
ก็ต้องทำใจว่า อาจไม่เป็นเช่นนั้น เพราะผลตามกฎหมายบ่งบอกแล้ว
บริษัทประกันภัยไม่มีความผูกพันตามสัญญาประกันภัยในการที่จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แต่ประการใด
ดังคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3054/2525 โจทก์นำรถของคนอื่นที่เข้ามาวิ่งในนามของโจทก์มาทำประกันภัย
โดยที่ตนเองมิใช่เจ้าของรถ หรือผู้ใช้รถ หรือรับประโยชน์จากการใช้รถคันนั้นเลย โจทก์จึงมิได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัย
สัญญาประกันภัยย่อมไม่ผูกพันให้จำเลย (บริษัทประกันภัย) ต้องรับผิดเมื่อรถคันนั้นเกิดเสียหายขึ้นมา
แม้กระทั่ง
ตอนเวลาทำสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยจะมีส่วนได้เสียอยู่ก็ตาม ภายหลังได้มีการขายทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้นออกไป
ต่อมาเกิดความเสียหายขึ้นมาแก่ทรัพย์สินนั้น
บริษัทประกันภัยอาจปฎิเสธความรับผิดได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 875 ว่า
“ถ้าวัตถุอันได้เอาประกันภัยไว้นั้น เปลี่ยนมือไปจากผู้เอาประกันภัยโดยพินัยกรรมก็ดี
หรือโดยบัญญัติกฎหมายก็ดี ท่านว่าสิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยก็ย่อมโอนตามไปด้วย
ถ้าในสัญญามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
เมื่อผู้เอาประกันภัยโอนวัตถุที่เอาประกันภัย และบอกกล่าวการโอนไปยังผู้รับประกันภัยไซร้
ท่านว่าสิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยนั้นย่อมโอนตามไปด้วย อนึ่ง
ถ้าในการโอนเช่นนี้ ช่องแห่งภัยเปลี่ยนแปลงไปหรือเพิ่มขึ้นหนักไซร้
ท่านว่าสัญญาประกันภัยนั้นกลายเป็นโมฆะ”
โดยบทบัญญัตินี้
มักจะกำหนดเอาไว้อย่างชัดเจนในหลายกรมธรรม์ประกันภัยด้วย เว้นแต่จะได้มีข้อตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นโดยชัดแจ้ง
สรุป คือ ผู้เอาประกันภัยต้องมีส่วนได้เสียอยู่ตลอดเวลา ทั้งในเวลาที่เอาประกันภัย
และเวลาที่เกิดความเสียหายด้วย (นอกจากการประกันภัยทางทะเลและขนส่งที่วางแนวทางไว้ให้เป็นผู้มีส่วนได้เสียเวลาที่เกิดความเสียหายก็พอ)
ดังนั้น
จะเห็นได้ว่า การเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะสามารถเอาประกันภัยได้นั้น
จึงมีความสำคัญ และไม่ควรละเลยอย่างยิ่ง เพราะมิฉะนั้นแล้ว สุดท้ายก็อาจจะส่งผลเสียให้แก่ผู้เอาประกันภัยภายหลังได้
อนึ่ง
ผู้มีส่วนได้เสียที่สามารถเอาประกันภัยได้นั้น จะต้องเป็นส่วนได้เสียตามกฎหมาย
และมิได้จำกัดเฉพาะที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เท่านั้น อาจเป็นส่วนได้เสียอื่นก็ได้
ดังในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4830/2537 ที่ได้วางแนวไว้ว่า
ผู้มีสิทธิเอาประกันภัยนั้นมิได้จำกัดเพียงเฉพาะผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่เอาประกันภัยเท่านั้น ผู้ที่มีความสัมพันธ์อยู่กับทรัพย์
หรือสิทธิหรือผลประโยชน์หรือรายได้ใด ๆ ซึ่งถ้ามีวินาศภัยเกิดขึ้นจะทำให้ผู้นั้นต้องเสียหาย
และความเสียหายที่ผู้นั้นจะได้รับสามารถประมาณเป็นเงินได้แล้ว ผู้นั้นย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่อาจเอาประกันภัยได้ ซึ่งภาษาอังกฤษจะเรียกว่า
“Noting of Interests”
หรือ “Interested
Party” โดยขอแปลเป็นภาษาไทยว่า “การรับรู้ถึงผู้มีส่วนได้เสียต่าง
ๆ” และ “ผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น