ภายใต้เอกสารแนบท้าย แบบ อค./ทส. 1.06 ว่าด้วยเงื่อนไขพิเศษทรัพย์สินส่วนบุคคล (Personal Effects Clause) ระบุว่า
“เป็นที่ตกลงว่า การประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยนี้ได้ขยายความคุ้มครองถึงทรัพย์สินส่วนบุคคล และเครื่องแต่งกายของเจ้าหน้าที่และพนักงานของผู้เอาประกันภัยซึ่งเก็บรักษาไว้ในอาคารที่เอาประกันภัย ซึ่งผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบ บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย เพื่อความเสียหายตามความเสียหายที่แท้จริง แต่ไม่เกินจำนวน 2,000 บาท ต่อหนึ่งคน และไม่เกินจำนวน 100,000 บาทต่อเหตุการณ์แต่ละครั้งตลอดระยะเวลาเอาประกันภัย”
เอกสารแนบท้ายเป็นการขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมถึงทรัพย์สินส่วนตัว
และเครื่องแต่งกายของเจ้าหน้าที่ และพนักงานของผู้เอาประกันภัย ซึ่งปกติ
จะไม่ได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัย
เนื่องจากมิใช่เป็นทรัพย์สินของผู้เอาประกันภัยเอง
เนื่องด้วยเอกสารแนบท้ายนี้ใช้คำว่า
“ทรัพย์สินส่วนบุคคล (Personal Effects)” ซึ่ง
“Personal”
นั้น พจนานุกรมศัพท์นิติศาสตร์ อังกฤษ-ไทย และ ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน สามารถแปลออกมาได้ทั้ง
“ส่วนตัว, ส่วนบุคคล” แต่ในความหมาย
“ส่วนบุคคล” นั้น กลับไม่มีในฉบับไทย-ไทย พบแต่ความหมายของคำว่า “ส่วนตัว” อันหมายความถึง เฉพาะตัว, เฉพาะบุคคล
เมื่อนำมาผสมกับคำว่า
“ทรัพย์สิน” จะมีความหมายค่อนข้างกว้าง อาจเป็นทรัพย์สินเฉพาะของบุคคลนั้น ๆ เป็นต้นว่า
โทรศัพท์มือถือ สร้อย แหวน นาฬิกาข้อมือ กระเป๋าสตางค์ แท็บเล็ต โน้ตบุ๊ค วิทยุกระเป๋าหิ้ว
หูฟัง ปืนพก หวี แปรงสีฟัน ฯลฯ
นั่นหมายความว่า
สิ่งใด อะไรที่เป็นทรัพย์สินส่วนตัว หรือส่วนบุคคลของเจ้าหน้าที่
หรือพนักงานของผู้เอาประกันภัย
ล้วนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองทั้งหมดใช่หรือไม่?
ครั้นเทียบเคียงกับในพจนานุกรมของ
American
Heritage Dictionary of the English Language ให้หมายความของคำว่า
“ทรัพย์สินส่วนตัว (Persoanl Effects)”
คือ “Privately
owned items, such as keys, an identification card, or a wallet or watch, that
are regularly worn or carried on one's person.”
ซึ่งสามารถถอดความได้ว่า “เป็นสิ่งของส่วนตัว อันได้แก่ กุญแจ บัตรประจำตัว
กระเป๋าสตางค์ หรือนาฬิกาข้อมือ ที่สวมใส่
หรือพกติดประจำตัวอย่างสม่ำเสมอของบุคคลนั้น”
จะเห็นได้ว่า
ความหมายของภาษาอังกฤษค่อนข้างจำกัดเฉพาะเจาะจง และชัดเจนกว่า เพราะให้หมายความถึงเพียงทรัพย์สินส่วนตัวที่ปกตินำติดตัวมาอย่างสม่ำเสมอเท่านั้น
มิได้รวมถึงทรัพย์สินส่วนตัวอื่น ๆ ที่มิได้นำมาเป็นประจำ เป็นต้นว่า กล้องถ่ายรูป
เครื่องเล่นวิทยุ อุปกรณ์กีฬา และยังไม่ได้รวมถึงทรัพย์สินส่วนตัวของบุคคลอื่นที่อยู่ในความครอบครองของลูกจ้างของผู้เอาประกันภัยด้วย
ฉะนั้น
ตราบใดที่เอกสารแนบท้ายนี้ยังมิได้กำหนดความหมายของ “ทรัพย์สินส่วนบุคคล (Personal
Effects)” ไว้อย่างชัดเจนโดยเฉพาะเจาะจง
ก็คงต้องตีความอย่างกว้าง เพื่อประโยชน์แก่ผู้เอาประกันภัย หรือผู้เสียหายต่อไป
ส่วนคำว่า
“เครื่องแต่งกาย” หมายถึง สิ่งที่มนุษย์นำมาใช้เป็นเครื่องห่อหุ้มร่างกาย
(สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง) เนื่องด้วย
ผ้า คือ สิ่งที่ทอด้วยเส้นใยใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม เพราะฉะนั้น เสื้อผ้า
จึงหมายถึง การใช้สิ่งทอด้วยเส้นใยมาผลิตเป็นเครื่องนุ่งห่มในรูปแบบต่าง ๆ ตามความต้องการ
เช่นนี้ ความหมายของคำว่า “เครื่องแต่งกาย”
จะมีความหมายกว้างกว่าเสื้อผ้าที่ใช้สวมใส่ ดังเช่น ผ้าพันคอ ผ้าคลุม
จะอยู่ในความหมายของเครื่องแต่งกาย
พจนานุกรม
ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของ "ลูกจ้าง" ว่า หมายถึง ผู้รับจ้างทำการงาน
ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้าง โดยได้รับค่าจ้าง ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร โดยมิได้คำนึงถึงว่าจะมีการทำสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่
หรือได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนเป็นทรัพย์สินอย่างอื่น
ในทางกฎหมายได้กำหนดคำนิยามของลูกจ้างไว้แตกต่างกัน
โดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน
2541
มาตรา 4 บัญญัติว่า ลูกจ้างหมายถึง “ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร” หรือ
ในพระราชบัญญัติเงินทดแทน
พ.ศ. 2537
มาตรา 5 บัญญัติว่า ลูกจ้าง หมายความว่า “ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร
แต่ไม่รวมถึง ลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย”
หรือ
ในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์
พ.ศ. 2518
มาตรา 5 บัญญัติว่า ลูกจ้าง หมายความว่า “ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้าง”
เมื่อพิจารณาประกอบกับเงื่อนไขความคุ้มครองที่นอกจากจะต้องเป็นทรัพย์สินส่วนตัว
หรือส่วนบุคคลของลูกจ้างของผู้เอาประกันภัยแล้ว จะต้องเข้าเงื่อนไขเพิ่มเติมดังต่อไปนี้ด้วย
1) ขณะเกิดเหตุต้องเก็บรักษาเอาไว้อยู่ภายในตัวอาคาร
หรือสิ่งปลูกสร้างที่เอาประกันภัยเท่านั้น
2) ต้องเกิดความเสียหายจากภัยที่คุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย
และ
3) ต้องเป็นความรับผิดชอบตามกฎหมายของผู้เอาประกันภัยต้องด้วย
โดยจะต้องเข้าเงื่อนไขครบถ้วนทั้งหมดถึงจะได้รับความคุ้มครอง ทั้งจำกัดวงเงินชดใช้ไว้ตามมูลค่าที่แท้จริง
แต่ไม่เกิน 2,000 บาท
ต่อหนึ่งคน และรวมกันแล้วสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
ต่อเหตุการณ์แต่ละครั้ง และทุกครั้ง รวมแล้วตลอดระยะเวลาเอาประกันภัยเท่านั้น
ดังนั้น เอกสารแนบท้ายนี้ จึงเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้เอาประกันภัยที่ควรจะขยายเพิ่มเติมเอาไว้ในกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย
หรือกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน แล้วแต่กรณี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น