วันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2559

เรื่องที่ 33 :เอกสารแนบท้าย แบบ อค./ทส. 1.25 ว่าด้วยการปรับปรุง ต่อเติม และซ่อมแซม (Alterations and Repairs Clause) เราเข้าใจว่าอย่างไร?


ภายใต้เอกสารแนบท้าย แบบ อค./ทส. 1.25 ว่าด้วยการปรับปรุง ต่อเติม และซ่อมแซม (Alterations and Repairs Clause) ฉบับมาตรฐานระบุเอาไว้ว่า

      เป็นที่ตกลงว่า ถ้าข้อความใดในเอกสารนี้ขัดหรือแย้งกับข้อความที่ปรากฏในกรมธรรม์ประกันภัยนี้ ให้ใช้ข้อความตามที่ปรากฏในเอกสารนี้บังคับแทน
       บริษัทตกลงยินยอมให้ผู้เอาประกันภัยสามารถทำการปรับปรุงซ่อมแซม ตกแต่ง ต่อเติมอาคารที่เอาประกันภัยได้ โดยถือว่าไม่มีผลกระทบต่อสัญญาประกันภัย
       การปรับปรุง ซ่อมแซม และ/หรือการติดตั้งเครื่องจักรสำหรับสัญญาว่าจ้างไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัย…………………….บาทต่อหนึ่งสัญญา และจะไม่ถือเอากรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้เป็นกรมธรรม์ประกันภัยหลักที่ให้ความคุ้มครองงานดังกล่าวข้างต้น โดยให้ถือว่าการขยายความคุ้มครองนี้เป็นการประกันภัยส่วนที่เกินจากกรมธรรม์ประกันภัยงานก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรที่คุ้มครองงานดังกล่าวข้างต้นโดยเฉพาะ
       ส่วนเงื่อนไขและข้อความอื่นๆ ในกรมธรรม์ประกันภัยนี้คงใช้บังคับตามเดิม

ในระหว่างการประกอบธุรกิจตามปกติของผู้เอาประกันภัยในสถานที่เอาประกันภัย ถือเป็นความเสี่ยงภัยที่ผู้รับประกันภัยสามารถยอมรับได้ตั้งแต่ต้น ต่อมา หากผู้เอาประกันภัยได้ทำการปรับปรุง ซ่อมแซม ติดตั้ง ตกแต่ง หรือต่อเติมทรัพย์สินที่เอาประกันภัย อาจส่งผลทำให้มีความเสี่ยงภัยเพิ่มขึ้นกว่าปกติ และถึงขนาดที่อาจถูกปฏิเสธความรับผิดได้ ดังที่กำหนดไว้ในข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินที่ระบุว่า

ข.   การประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้
………………………………………………………….
10.    ทรัพย์สิน หรือสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในระหว่างการรื้อถอน การก่อสร้าง หรือการติดตั้งรวมทั้งวัตถุ หรือวัสดุที่เกี่ยวข้องกับการนั้น
…………………………………………………………
15.  ทรัพย์สินที่อยู่ในระหว่างการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ซ่อมแซม ทดลอง การติดตั้ง หรือการซ่อมบํารุง รวมทั้งวัตถุ หรือวัสดุที่จัดหามาเพื่อการดังกล่าว อย่างไรก็ตามบริษัทจะรับผิดต่อความเสียหายที่ติดตามมา ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากสาเหตุตามข้อนี้ หากความเสียหายนั้นเกิดจากสาเหตุที่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยนี้

แม้ในกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยทั่วไป แม้จะมิได้ระบุยกเว้นอย่างชัดเจนเช่นว่านั้น ก็ถือว่า ไม่คุ้มครองด้วย

ดังนั้น แอกสารแนบท้ายนี้เป็นการขยายที่จะให้ความคุ้มครองต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการปรับปรุง ซ่อมแซม ติดตั้ง ตกแต่ง หรือต่อเติมนั้นจนกว่าจะแล้วเสร็จ ทั้งนี้ โดยมีเงื่อนไขว่า การดำเนินการนั้น จะต้องกระทำด้วยการว่าจ้างบุคคลอื่น ในที่นี้คือ ผู้รับเหมามากระทำแทน และจะต้องกระทำภายในสถานที่เอาประกันภัยเท่านั้น ภายใต้วงเงินตามสัญญาจ้างไม่เกินกว่าจำนวนเงินที่ระบุไว้  โดยที่ผู้เอาประกันภัยไม่จำต้องร้องขอความเห็นชอบจากผู้รับประกันภัยเสียก่อน ตามขั้นตอนปกติของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ เพราะถือเป็นการให้ความเห็นชอบล่วงหน้าไว้แล้ว 

โดยที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้นิยามของคำที่เกี่ยวข้องไว้ ดังนี้
ก)   คำว่า “ปรับปรุง” หมายความถึง แก้ไขให้เรียบร้อยยิ่งขึ้น
ข)   คำว่า “ซ่อมแซม” หมายความถึง แก้ไข ปรับปรุง เพิ่มเติมของที่ชํารุดให้กลับคืนสู่สภาพเดิม
ค)   คำว่า “ตกแต่ง” หมายความถึง ประดับ, ปรุงจัดให้ดี, ทำให้งาม
ง)    คำว่า “ต่อเติม” หมายความถึง ขยายหรือเพิ่มให้มากหรือใหญ่ขึ้น เช่น ต่อเติมข้อความ ต่อเติมบ้าน
จ)   คำว่า “ว่าจ้าง” หมายความถึง จ้าง ตกลงให้ทําการสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยให้ค่าจ้าง เช่น เขาว่าจ้างช่างให้มาทำรั้วบ้าน

ส่วนคำว่า “ติดตั้ง” จะมีความหมายถึง ประกอบเข้าด้วยกัน

ปกติแล้ว ในการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น ทั้งผู้ว่าจ้างและ/หรือผู้รับจ้าง (ผู้รับเหมา) ควรต้องไปจัดทำประกันภัยเฉพาะประเภทการประกันภัยวิศวกรรม แยกต่างหากออกไปภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยงานก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักร หรือที่เรียกเป็นทางการว่า “กรมธรรม์ประกันภัยการปฎิบัติงานตามสัญญาว่าจ้าง (Contract Works Insurance)” มากกว่า แต่เนื่องจากเอกสารแนบท้ายนี้ เป็นการขยายทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ซึ่งตกอยู่ในข้อยกเว้นในช่วงระยะเวลาดำเนินดังกล่าวโดยผู้รับจ้าง ให้ได้รับความคุ้มครองต่อไปดังเดิม หากทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้นได้รับความเสียหายจากภัยที่คุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ และเป็นความรับผิดตามกฎหมายของผู้รับจ้างด้วย จะส่งผลทำให้ผู้รับประกันภัยมีสิทธิตามกฎหมายไปไล่เบี้ยเอากับผู้รับจ้างได้ตามกฎหมาย เพื่อหลีกเลี่ยงประเด็นข้อนี้ ผู้รับจ้างอาจไปทำประกันภัยการปฎิบัติงานตามสัญญาว่าจ้างในนามของตนเอง หรือในนามทั้งผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้างก็ได้ เพื่อทำให้ตัวงานที่ดำเนินการโดยผู้รับจ้างนั้น สามารถที่จะได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับ โดยไม่อนุญาตให้ไปหวังพึ่งเอกสารแนบท้ายนี้อย่างเดียว มิฉะนั้นแล้ว เอกสารแนบท้ายนี้จะไม่มีผลใช้บังคับเลย แต่เนื่องด้วยเอกสารแนบท้ายนี้ ได้กำหนดเงื่อนไขจะให้ความคุ้มครองที่ซ้ำซ้อนกันเพียงเป็นส่วนเกินจากกรมธรรม์ประกันภัยการปฎิบัติงานตามสัญญาว่าจ้างเท่านั้น

ดังนั้น คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นจากการดำเนินการดังกล่าว ให้ไปเรียกร้องจากกรมธรรม์ประกันภัยการปฎิบัติงานตามสัญญาว่าจ้างเสียก่อน หากยังมีความเสียหายขาดเหลืออยู่ ค่อยมาเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเอาจากเอกสารแนบท้ายนี้

แต่ครั้นพอไปอ่านเงื่อนไขทั่วไปของกรมธรรม์ประกันภัยการปฎิบัติงานตามสัญญาว่าจ้างกลับกำหนดเอาไว้ ดังนี้

8. This insurance is not to be called upon in contribution and is only to pay any loss hereon if and so far as not recoverable under any other insurance.” 
 หรือที่ถอดความเป็นภาษาไทยได้ว่า
8. การประกันภัยนี้จะไม่เข้าไปร่วมรับผิด และจะเพียงชดใช้ค่าเสียหายใด ๆ ในที่นี้ ถ้า และเท่าที่จะไม่ได้รับการชดใช้ภายใต้การประกันภัยอื่นใด

ตีความได้ว่า กรมธรรม์ประกันภัยการปฎิบัติงานตามสัญญาว่าจ้างจะไม่เข้าไปร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกับกรมธรรม์ประกันภัยอื่นแต่ประการใด เว้นเสียแต่กรมธรรม์ประกันภัยอื่นนั้นไม่ได้ชดใช้ให้เลย

เมื่อเป็นเช่นนี้ เสมือนหนึ่งทั้งเอกสารแนบท้ายนี้บอกปัดให้ผู้เอาประกันภัยไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากกรมธรรม์ประกันภัยการปฎิบัติงานตามสัญญาว่าจ้างก่อน ซึ่งเรียกว่า “การร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนวิธีแบบส่วนเกิน (Excess Method Contribution)” แต่กรมธรรม์ประกันภัยการปฎิบัติงานตามสัญญาว่าจ้างนั้นเองก็บอกปัดเช่นกันว่า ให้ไปเรียกร้องจากกรมธรรม์ประกันภัยอื่นก่อน ถ้าไม่ได้ถึงจะรับผิดชอบให้ อันเป็น “การร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนวิธีแบบบอกปัด (Escape Method Contribution)

แล้วจะทำยังไงดีเล่า ซึ่งในการพิจารณาเทียบเคียงกับคดีในต่างประเทศ หากกรมธรรม์ประกันภัยสองฉบับที่ซ้ำซ้อนกัน ล้วนต่างกำหนดเงื่อนไขการร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแตกต่างกันเช่นนี้ ศาลในต่างประเทศส่วนใหญ่พิพากษาให้เงื่อนไข “การร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนวิธีแบบบอกปัด (Escape Method Contribution)” รับผิดชอบก่อน แล้วจึงถึงคิวของเงื่อนไข “การร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนวิธีแบบส่วนเกิน (Excess Method Contribution)” หากยังขาดเหลือความเสียหายอยู่ อ้างอิงคดี Zurich General Accident & Liability Insurance Co. v. Clamor 124 F.2d 717 (7th Cir. 1941) ต่อมา บางศาลมีแนวความเห็นแตกต่างออกไป โดยกำหนดให้แบ่งส่วนความรับผิดชอบตามสัดส่วนแทน อ้างอิงคดี Home Insurance Co. v. Liberty Mutual Insurance Co., 641 N.E.2d 855, 857 (I1. App. Ct. 1994)

ตัวอย่างเอกสารแนบท้ายเรื่องนี้ของต่างประเทศที่มีถ้อยคำกระชับกว่าของเรา

ALTERATION AND REPAIRS CLAUSE
Minor alterations, additions and repairs to building plant fixtures and fittings, and machinery (exclusive of any Sprinkler Installations) and works in progress allowed and the insurance by this policy is extended to cover on and/or whilst in such additions.

ALTERATIONS AND REPAIRS CLAUSE
Notwithstanding anything contained in the printed conditions of the Policy to the contrary, it is noted and agreed that this Insurance shall not be prejudiced in the event of any alterations being made to the property insured whereby the risk of damage is increased, provided that notice of such alterations be given to the Insurer within sixty (60) days of the commencement of such alterations and additional premium paid, if required from the date of such alterations.

Alterations Clause

Notwithstanding anything contained in the printed conditions of the Policy to the contrary, it is noted and agreed that this Insurance shall not be prejudiced in the event of any alterations being made to the property insured whereby the risk of damage is increased, provided that notice of such alteration be given to the Insurer within sixty (60) days of the commencement of such alterations and additional premium paid, if required from the date of such alteration.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น