วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2559

เรื่องที่ 31 : คนกลางประกันภัยไม่แนะนำ หรือจัดประกันภัยไม่เหมาะสม หรือไม่เพียงพอ ต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยหรือไม่?



(ตอนที่สี่)

แม้นายหน้าประกันภัย (ต่อไปนี้ จะใช้คำนี้แทนทั้งนายหน้าประกันวินาศภัยกับนายหน้าประกันชีวิต เพราะทั้งคู่เข้าข่ายความรับผิดได้เช่นเดียวกัน) อาจทำผิดหน้าที่ของตนเองไปบ้าง แล้วหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยในการอ่านทำความเข้าใจกรมธรรม์ประกันภัยล่ะ ไม่มีผลอะไรบ้างเลยหรือ ทำไมจะต้องมากล่าวโทษนายหน้าประกันภัยอย่างเดียว

ในอดีต ศาลต่างประเทศเคยมองว่า ผู้เอาประกันภัยในฐานะคู่สัญญาประกันภัย จำต้องเข้าใจสิ่งที่ตนซื้อ หรือทำสัญญาผูกพันลงไป จะมาอ้างภายหลังว่า ไม่ได้อ่าน หรือเข้าใจข้อสัญญานั้น ศาลเห็นว่า ถือเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนเองอย่างเต็มที่ แม้จะได้ทำสัญญาผ่านคนกลางก็ตาม

แต่ปัจจุบัน ศาลต่างประเทศเปลี่ยนมุมมอง โดยมองว่า นายหน้าประกันภัยประกอบวิชาชีพโดยมีใบอนุญาตรับรอง ทั้งยังทำเพื่อบำเหน็จเป็นการตอบแทน ดังนั้น ถือเป็นผู้มีความรู้ และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการปฎิบัติหน้าที่ของตน ด้วยการใช้ความระมัดระวังในการ “ชี้ช่อง” แจกแจงในรายละเอียดที่สำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัยได้ ส่วนการที่ผู้เอาประกันภัยละเลยไม่อ่านทำความเข้าใจในเอกสารกรมธรรม์ประกันภัยนั้น เพียงอาจส่งผลให้ผู้เอาประกันภัยมีความประมาทเลินเล่อร่วมด้วย แต่ภาระหน้าที่สำคัญยังตกอยู่แก่นายหน้าประกันภัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้นอยู่ดี

ดังในคดี Zaremba Equipment, Inc. v. Harco National Insurance Co., 761 N.W.2d 151 (Mich. Ct. App. 2008) ศาลเห็นว่า แม้การที่นายหน้าประกันภัยไม่ทำหน้าที่ในการให้คำแนะนำในการจัดความคุ้มครองให้เหมาะสมกับมูลค่าของทรัพย์สินที่เอาประกันภัย คือ จำนวนเงินเอาประกันภัยต่ำกว่าเกินไปนั้น จะต้องรับผิด แต่การที่ผู้เอาประกันภัยละเลยไม่อ่านกรมธรรม์ประกันภัย ก็ถือว่ามีส่วนต้องร่วมรับผิดด้วยเช่นกัน

คดี Rider v. Lynch, 42 N.J. 465 (1964) ได้วางแนวทางในการทำหน้าที่ของคนกลางประกันภัยจนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางกระทั่งทุกวันนี้เอาไว้ ซึ่งสามารถถอดความออกมาได้ ดังนี้

(1) จะต้องมีความรู้และความเชี่ยวชาญที่ดีในการปฎิบัติงานตาม
      ความรับผิดชอบในวิชาชีพของตน
(2) จะต้องทำงานด้วยความซื่อตรง ด้วยความเชี่ยวชาญตามสมควร 
      และด้วยความระมัดระวัง เอาใจใส่ในการการปฎิบัติงานตามความ
      รับผิดชอบในวิชาชีพของตน
(3) จะต้องมีความรู้ที่ดีพอในเงื่อนไขความคุ้มครองที่ผู้เอาประกันภัย
      ต้องการ
(4) จะต้องจัดซื้อความคุ้มครองที่เหมาะสมกับความเสี่ยงภัยของผู้เอา
      ประกันภัย หรือแจ้งต่อผู้เอาประกันภัยอย่างชัดแจ้ง หากไม่
      สามารถกระทำตามความต้องการของผู้เอาประกันภัยได้อย่าง
      ครบถ้วน

ฉะนั้น การสื่อสารระหว่างผู้เอาประกันภัยกับนายหน้าประกันภัย จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และควรพัฒนาให้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อทำให้เกิดความชัดเจนเข้าใจตรงกัน ก็น่าเชื่อว่า จะสามารถลดข้อพิพาทที่อาจจะเกิดขึ้นลงได้

คิดว่า บทความหลายตอนในเรื่องนี้ คงสามารถเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ทุกท่านที่ประกอบวิชาชีพคนกลางประกันภัยได้ เพื่อจะได้พัฒนาวิชาชีพนี้ให้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางต่อไป ขอเอาใจช่วยนะครับ

เรื่องต่อไป จะขอพูดถึงการกำหนดทุนประกันภัยตามมูลค่าที่ตกลงกัน (Agreed Value) นั้น ในเวลาเมื่อเกิดความเสียหายบางส่วน จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกันอย่างไร?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น