วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559

เรื่องที่ 32 : การกำหนดทุนประกันภัยตามมูลค่าที่ตกลงกัน (Agreed Value) กับหลักเกณฑ์การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน



(ตอนที่หนึ่ง)

การกำหนดทุนประกันภัยให้เหมาะสม เป็นเรื่องที่อาจฟังง่าย แต่ทำลำบากมาก และเป็นปัญหาสำคัญข้อหนึ่งในหลายข้อที่ก่อให้เกิดข้อพิพาทอย่างมากมาย แม้เจ้าของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเอง อาจกำหนดมูลค่าทรัพย์สินของตนเองที่จะเอาประกันภัยไม่ถูก ไม่แน่ใจว่า ควรกำหนดมูลค่าเท่าไหร่ดี ถึงจะเหมาะสม เพราะโดยหลักการประกันภัยในเรื่องการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน (Principle of Indemnity) ต้องชดใช้ตามมูลค่าความเสียหายที่แท้จริง แต่ไม่เกินทุนประกันภัย ด้วยเหตุนี้ การกำหนดทุนประกันภัยจำต้องกำหนดให้สอดคล้องกับมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สินที่นำมาทำประกันภัย หากกำหนดทุนประกันภัยสูงเกินไป ก็เสียเบี้ยประกันภัยส่วนต่างโดยเปล่าประโยชน์ หรือถ้ากำหนดทุนประกันภัยต่ำไป แม้อาจช่วยประหยัดเบี้ยประกันภัยลง แต่ก็จะพลอยทำให้ได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนลดน้อยลงตามส่วนไปด้วย ฉะนั้น ผู้ขอเอาประกันภัยจึงมีหน้าที่ที่จะต้องกำหนดทุนประกันภัยให้เหมาะสมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่มีทรัพย์สินบางประเภทที่ไม่สามารถกำหนดมูลค่าได้ด้วยกรรมวิธีปฎิบัติปกติทั่วไป เนื่องจากอาจมีมูลค่าทางจิตใจเข้ามาปะปนอยู่ด้วย เป็นต้นว่า งานศิลป โบราณวัตถุ ของสะสม ของหายาก ซึ่งบางครั้ง จำต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในสิ่งของเหล่านั้นเข้ามาช่วยกำหนดให้แทน หรือถ้าหาไม่มี ก็เป็นเรื่องระหว่างผู้ขอเอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัยต้องมาตกลงทุนประกันภัยที่ยอมรับกันทั้งสองฝ่ายขึ้นมา เราเรียกกันว่า “มูลค่าที่ตกลงกัน (Agreed Value)” หรือที่อาจคุ้นเคยกันในการประกันภัยทางทะเลและขนส่ง (Marine Insurance) ซึ่งเรียกว่า “กรมธรรม์ประกันภัยแบบกำหนดมูลค่า (Valued Policy)” โดยที่มีต้นกำเนิดมาจากการประกันภัยทางทะเลและขนส่ง ต่อมา การประกันภัยประเภทอื่นได้นำมาปรับใช้ด้วย

พจนานุกรมศัพท์ประกันภัย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้คำนิยามของ “กรมธรรม์ประกันภัยแบบกำหนดมูลค่า (Valued Policy)” ว่า หมายความถึง “กรมธรรม์ประกันภัยแบบหนึ่ง ซึ่งผู้เอาประกันภัยตกลงล่วงหน้าว่า จำนวนเงินเอาประกันภัยที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ระกันภัย คือ มูลค่าของทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ในกรณีเกิดความเสียหายสิ้นเชิง

พจนานุกรมคำศัพท์ประกันภัยของ Lloyd’s ให้คำนิยามว่า “สัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงที่จะชดใช้ให้แก่ผู้เอาประกันภัยตามจำนวนเงินดังที่กำหนดไว้ ในกรณีเมื่อเกิดความเสียหายโดยสิ้นเชิงต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัย โดยไม่จำต้องปรับไปตามค่าเสื่อมราคา หรือมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้น

พจนานุกรม MERRIAM-WEBSTER ก็ให้คำนิยามไว้ ดังนี้
1. สิ่งที่กฎหมายกำหนดให้บริษัทประกันภัยชดใช้ให้แก่ผู้เอาประกัน
     ภัยเต็มำนวนเงินเอาประกันภัย ในกรณีความเสียหายโดยสิ้นเชิง 
     โดยไม่คำนึงถึงมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สินนั้น ณ เวลาที่เกิด
     ความเสียหาย
 2. กรมธรรม์ประกันภัยซึ่งทั้งผู้รับประกันภัย และผู้เอาประกันภัยมา
     ตกลงกันถึงจำนวนเงินที่จะชดใช้กันล่วงหน้าในเวลาเมื่อเกิดความ
     เสียหายขึ้นมาในอนาคต แทนที่จะเป็นมูลค่าที่แท้จริง 

โดยสรุป มูลค่าที่ตกลงกันเป็นการกำหนดจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนล่วงหน้า ซึ่งบริษัทประกันภัยจะต้องชดใช้ให้แก่ผู้เอาประกันภัยในเวลาเมื่อเกิดความเสียหายโดยสิ้นเชิงขึ้นมา โดยไม่คำนึงถึงมูลค่าความเสียหายที่แท้จริง ณ เวลาที่เกิดความเสียหาย ตามหลักการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความจริงทั่วไปนั่นเอง อันถือเป็นข้อตกลงพิเศษระหว่างคู่สัญญาประกันภัยทั้งสองฝ่าย เมื่อเป็นข้อตกลงพิเศษที่ผิดแผกจากหลักการทั่วไป จึงจำต้องกำหนดลงไปให้ชัดเจนในกรมธรรม์ประกันภัย มิฉะนั้นแล้ว จะไม่ส่งผลโดยอัตโนมัติให้กลายเป็นมูลค่าที่ตกลงกันไปได้เลย

สิ่งที่พบเห็นอยู่บ่อยครั้ง เวลากำหนดทุนประกันภัยให้เป็นมูลค่าที่ตกลงกัน คู่สัญญาประกันภัยได้คุยกันอย่างชัดเจน แต่กลับละเลยไม่ไปปรับเงื่อนไขการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามปกติของกรมธรรม์ประกันภัยให้สอดคล้องกันไปด้วย ครั้นเวลาเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นมา ก็เกิดปัญหาข้อโต้แย้งกันขึ้นมาอยู่เสมอ เวลาที่มีโอกาสไปบรรยายในประเด็นนี้ ผมจะพยายามย้ำเสมอว่า เมื่อตกลงกำหนดทุนประกันภัยเป็นพิเศษไปแล้ว อย่าลืมไปปรับแก้เงื่อนไขการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้สอดคล้องกันไปด้วย

อนึ่ง หากเราสังเกตคำนิยามนี้ จะเอ่ยถึงเพียงกรณีความเสียหายโดยสิ้นเชิงเท่านั้นที่กำหนดให้บริษัทประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมูลค่าที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า แต่กลับไม่เห็นพูดถึงกรณีความเสียหายบางส่วนบ้างเลยว่า จะให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกันอย่างไร?
หรือว่า กรณีความเสียหายบางส่วนก็ให้ชดใช้ตามมูลค่าที่ตกลงกันเช่นเดียวกัน แต่ถ้อยคำก็ไม่ได้สื่อความหมายเอาไว้เช่นนั้นเลย

แล้วคุณคิดว่าอย่างไรบ้างครับ?   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น