(ตอนที่สอง)
ดังที่ได้กล่าวไว้ในตอนที่ผ่านมา
กรมธรรม์ประกันภัยแบบกำหนดมูลค่า (Valued Policy) นั้น
เป็นกรมธรรม์ประกันภัยที่กำหนดมูลค่าชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเอาไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ต้น
ในกรณีความเสียหายโดยสิ้นเชิง โดยไม่คำนึงถึงมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สินที่เอาประกันภัย
ซึ่งได้รับความเสียหาย ในเวลาเมื่อเกิดความเสียหาย อันเป็นข้อตกลงพิเศษแตกต่างจากหลักการประกันภัยที่ว่าด้วยการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเป็นจริง
โดยสามารถสรุปเปรียบเทียบให้เห็นภาพได้ ดังนี้
สมมุติ ทุนประกันภัยตามมูลค่าทรัพย์สินใหม่
ณ วันที่ทำประกันภัย เทียบกับมูลค่าที่ตกลงกันของทรัพย์สินที่เอาประกันภัย
มีจำนวนเงินเท่ากันอยู่ที่ 1,000,000
บาท
เมื่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้นได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิงจากภัยที่คุ้มครอง
และมูลค่าที่แท้จริงในเวลาที่เกิดความเสียหาย มีค่าเสื่อมราคาอยู่ที่ 50,000 บาท
การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจะสรุปได้ ดังนี้
มูลค่าที่แท้จริง
มูลค่าที่ตกลงกัน
ทุนประกันภัย 1,000,000 บาท 1,000,000 บาท
หักค่าเสื่อมราคา 50,000 บาท 0 บาท
จำนวนเงินที่ชดใช้ 950,000 บาท 1,000,000 บาท
========= =========
แล้วถ้าเกิดเป็นความเสียหายบางส่วนล่ะ
จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกันอย่างไร?
ในพจนานุกรม Farlex Financial ได้ให้คำนิยามประเด็นนี้เอาไว้ว่า
“กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สิน ซึ่งกำหนดว่า หากมีเหตุการณ์ที่คุ้มครองเกิดขึ้น
บริษัทประกันภัยจะชดใช้จำนวนเงินค่าซ่อมแซม หรือค่าเปลี่ยนทดแทนทรัพย์สินนั้น
หรือชดใช้จำนวนเงินสูงสุดที่เรียกว่า มูลค่าที่ตกลงกันแล้วแต่กรณี โดยทั่วไป
ผู้เอาประกันภัยจะต้องชำระเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นตามมูลค่าที่ตกลงกันที่สูงขึ้นไปด้วย”
เช่นเดียวกับที่อ้างอิงในหนังสือ Insurance Theory and Practice ของ Rob
Thoyts ซึ่งระบุว่า กรณีความเสียหายบางส่วน
บริษัทประกันภัยจะทำการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน สำหรับค่าซ่อมแซม
เพื่อให้กลับคืนสู่สภาพดังเดิม เสมือนหนึ่งไม่เกิดเหตุ แต่ถ้าไม่สามารถกระทำได้
จะชดใช้ตามอัตราร้อยละของมูลค่าที่ตกลงกัน
ซึ่งเทียบเท่ากับอัตราร้อยละของมูลค่าที่ตกลงไป อันเนื่องมาจากความเสียหายนั้นเอง
ดังที่ได้เกิดขึ้นในคดีตัวอย่าง Elcock v Thomson (1949) 2 KB 755 กรณีทรัพย์สินที่เอาประกันภัยมีมูลค่าราคาตลาดอยู่ที่
18,000 ปอนด์
ได้เอาประกันภัยด้วยมูลค่าที่ตกลงกันที่ 106,850 ปอนด์ ต่อมา
เกิดความเสียหายบางส่วน ส่งผลทำให้มูลค่าราคาตลาดลดลงเหลือ 12,600 ปอนด์ (ลดหายไป 5,400 ปอนด์ หรืออัตราร้อยละ 30) ฉะนั้น ค่าสินไหมทดแทนที่ชดใช้ คือ อัตราร้อยละ 30 ของมูลค่าที่ตกลงกัน เท่ากับ 32,055 ปอนด์ นั่นเอง
แทนค่าเป็นสูตรออกมา ดังนี้
มูลค่าที่หายไป (มูลค่าที่เสียหาย) x มูลค่าที่ตกลงกัน = ค่าสินไหมฯ
มูลค่าราคาตลาด ณ วันทำประกันภัย
Damage X Insured Value = Indemnity
Actual Value
5,400 x 106,850 =
32,055
18,000
เมื่อพิจารณาแล้ว ส่วนตัวเห็นด้วย
เพราะหากทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเป็นวัตถุหายาก มีมูลค่าราคาซื้อขายในตลาดนักสะสมอยู่ที่
1,000,000 บาท
และเป็นทุนประกันภัยตามมูลค่าที่ตกลงกัน ต่อมาเกิดเสียหายบางส่วนจากภัยที่คุ้มครอง
ส่งผลทำให้วัตถุนั้นมีตำหนิ มูลค่าลดหายไปร้อยละยี่สิบ
ผู้เอาประกันภัยคงคาดหวังที่จะได้รับการชดใช้ตามมูลค่าที่ลดหายไป คือ 200,000
บาท ด้วยเหตุที่นั่นคือ มูลค่าความเสียหายที่แท้จริงของผู้เอาประกันภัยต่างหาก
สำหรับกรณีการซ่อมแซมนั้น บางครั้ง
แม้สามารถจะซ่อมแซมได้ แต่ต้นทุนค่าซ่อมแซมอาจสูงกว่าปกติ
เนื่องจากต้องใช้ช่างฝีมือคุณภาพ กอปรกับต้องใช้วัสดุที่เหมือนเดิม
หรือใกล้เคียงของเดิมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
จึงไม่สมควรที่จะทำการชดใช้ด้วยค่าซ่อมแซมด้วยกรรมวิธีปกติทั่วไป
เว้นแต่จะได้มีการตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นเป็นกรณีพิเศษ อย่างเช่น
ในการทำประกันภัยอาคารโบราณ ซึ่งปัจจุบัน อาจเลือกตกลงชดใช้ด้วยมูลค่าของฝีมือแรงงานทั่วไปกับวัสดุปกติ
โดยที่ทุนประกันภัยจะเลือกคำนวณให้สอดคล้องกันไปด้วยเช่นกัน
ตัวเลขในคดี Elcock v
Thomson อาจดูค่อนข้างแตกต่างกันมาก
แต่ก็มิได้ทำให้ผิดหลักการประกันภัยในเรื่องการแสวงหากำไรจากการประกันภัย เพราะหากผู้เอาประกันภัยมีเจตนาไม่ดีเช่นนั้น
ก็มีผลเข้าข่ายทุจริตตั้งแต่แรก ทำให้สัญญาประกันภัยไม่มีผลใช้บังคับได้
ดังนั้น ในการกำหนดทุนประกันภัยตามมูลค่าที่ตกลงกัน
ควรที่จะต้องตกลงกันถึงวิธีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยชัดแจ้งลงไปในกรมธรรม์ประกันภัยด้วยนะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น