วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เรื่องที่ 25 : ความเสียหายจากสาเหตุโดยตรง (Directly Caused) หมายถึงอะไร?



(ตอนที่สี่)   


สำหรับตัวอย่างสุดท้ายของบทความเรื่องสาเหตุโดยตรง เป็นคดีที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา เรื่องมันมีอยู่ว่า


ผู้เอาประกันภัยรายนี้ ครอบครัว Stankova ได้ซื้อบ้าน พร้อมโรงรถซึ่งเชื่อมต่อเป็นส่วนหนึ่งของบ้านหลังนี้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 โดยประวัติดั้งเดิมของบ้านหลังนี้ จวบจนก่อนเกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ แม้ตั้งอยู่ใกล้เชิงเขา ไม่ปรากฏเคยได้รับความเสียหายจากภัยน้ำท่วม และโคลนถล่มมาก่อนเลย ผู้เอาประกันภัยได้เอาประกันภัยตัวบ้านพร้อมโรงรถภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยสำหรับที่อยู่อาศัยไว้กับบริษัทประกันภัย Metropolitan Property and Casualty Insurance Company


ในวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 2011 ได้เกิดไฟไหม้ป่าใกล้บริเวณบ้านพักของผู้เอาประกันภัย แล้วลุกลามมาไหม้โรงรถของผู้เอาประกันภัยในวันที่ 13 มิถุนายน แต่โชคดีที่มิได้ลามต่อเนื่องไปถึงตัวบ้าน กว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะสามารถควบคุมไฟป่าได้อย่างราบคาบ ก็ปาไปจนถึงวันที่ 8 กรกฎาคม ไฟได้ไหม้ทำลายพืชผลบริเวณเชิงเขาไปทั้งหมด ครั้นต่อมาอีกประมาณหนึ่งเดือน ในวันที่ 6 สิงหาคม ก็เกิดโคลนถล่มกับน้ำที่ไหลบ่าลงมาจากเชิงเขา ไปสร้างความเสียหายแก่ตัวบ้านของผู้เอาประกันภัย


เนื่องด้วยกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับที่อยู่อาศัยฉบับนี้ ระบุคุ้มครองถึงความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย อันเกิดจากอุบัติเหตุซึ่งเกิดขึ้นโดยฉับพลันจากภัยที่คุ้มครอง ในที่นี้คือ ไฟไหม้ ผู้เอาประกันภัยจึงไปเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นดังกล่าว


บริษัทประกันภัยพิจารณาชดใช้ความเสียหายของไฟไหม้ที่เกิดแก่โรงรถ แต่ปฎิเสธไม่คุ้มครองความเสียหายของตัวบ้านจากโคลนถล่ม และภัยเนื่องจากน้ำดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า ตกอยู่ในข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ที่ระบุว่า


ความเสียหายเนื่องจากน้ำ (Water Damage) หมายความถึง ความเสียหายใด ๆ อันมีสาเหตุมาจาก เป็นผลมาจาก มีส่วนมาจาก หรือส่งผลมาจากน้ำท่วม การไหลย้อนกลับจากท่อระบายน้ำ น้ำท่วมบนพื้นผิว หรือการรั่วไหล........

ความเสียหายจากเคลื่อนตัวของดิน (Earth Movement) หมายความถึง ความเสียหายใด ๆ อันมีสาเหตุมาจาก เป็นผลมาจาก มีส่วนมาจาก หรือส่งผลมาจากเหตุการณ์ซึ่งรวมถึง แต่ไม่จำกัดอยู่เพียงแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด หลุมยุบ โคลนถล่ม ........


ผู้เอาประกันภัยโต้แย้งว่า ไฟไหม้เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหายทั้งหมด แล้วทำให้เกิดความเสียหายจากโคลนถล่ม และภัยเนื่องจากน้ำ ถือเป็นสาเหตุใกล้ชิดต่อเนื่อง โดยไม่ขาดตอนจากไฟไหม้ ซึ่งเป็นภัยที่คุ้มครอง บริษัทประกันภัยจำต้องรับผิดด้วย


ศาลชั้นต้นเห็นด้วยกับบริษัทประกันภัย เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์ ก็ได้มีการตีความคำว่า “สาเหตุโดยตรง (direct cause)” สำหรับภัยไฟไหม้ คือ มิได้จำกัดอยู่เพียงการถูกเผาไหม้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงผลสืบเนื่องอย่างฉับพลันของการลุกลาม หรือการเผาไหม้ของไฟนั้น หรือกระทั่งความเสียหายทั้งหลายซึ่งมีสาเหตุใกล้ชิดมาจากไฟนั้นอีกด้วย เจตนารมณ์ของการให้ความคุ้มครองสำหรับไฟไหม้ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยก็เพื่อที่จะให้ความคุ้มครองถึงความสูญเสีย หรือความเสียหายทุกอย่าง อันมีสาเหตุใกล้ชิดมาจากไฟไหม้ ตลอดจนถึงความสูญเสีย หรือความเสียหายทุกอย่างเท่าที่จำเป็นต่อเนื่องโดยตรง และโดยฉับพลันจากภัยไฟไหม้นั้น หรือจากสภาวการณ์เช่นนั้นด้วย 


ศาลอุทธรณ์วิเคราะห์ว่า ไฟไหม้ป่านั้น มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นสาเหตุโดยตรงในการก่อให้เกิดโคลนถล่ม ในลักษณะต่อเนื่องกันโดยไม่ขาดตอน ประกอบกับผู้เอาประกันภัยเองก็ให้หลักฐานที่รับฟังได้ว่า ไม่เคยปรากฏมีโคลนถล่ม และน้ำท่วมในพื้นที่นั้นมาก่อนเลย อีกทั้งในปีที่เกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ ก็ไม่มีฝนตกหนักเกิดขึ้นมาแต่ประการใด ดังนั้น ศาลอุทธรณ์จึงรับฟังเป็นเหตุเป็นผลเชื่อได้ว่า ภัยโคลนถล่มกับภัยเนื่องจากน้ำนั้นมีสาเหตุใกล้ชิดมาจากภัยไฟไหม้


อ้างถึงคดี Stankova v. Metropolitan Prop. & Cas. Ins. Co., 2015 WL 3429395, 2015 U.S. App.



คุณคิดเห็นอย่างไรกับคำวินิจฉัยในคดีนี้ครับ


อันที่จริง ศาลอุทธรณ์เองก็มิได้ฟันธงชัดเจนนะครับ เพราะศาลชั้นต้นมิได้วิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างสองเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างกระจ่างแจ้ง แต่กระนั้น คงให้แนวทางในการศึกษา และสร้างความเข้าใจแก่พวกเราได้ไม่น้อย


คราวต่อไป เราจะมาเริ่มทำความเข้าใจกันถึงความหมายของสาเหตุโดยอ้อม (Indirectly Caused) กันต่อไปครับ  

วันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เรื่องที่ 25 : ความเสียหายจากสาเหตุโดยตรง (Directly Caused) หมายถึงอะไร?



(ตอนที่สาม)

บทความชุดนี้ ตั้งใจจะเขียนถึงถ้อยคำที่เรามักพบเห็นกันอยู่เสมอในกรมธรรม์ประกันภัย แต่ก็มักสร้างประเด็นปัญหาข้อพิพาทขึ้นบ่อยครั้งว่า สิ่งที่เขียนไว้นั้น มีความหมายเช่นใดแน่ ซึ่งจะประกอบด้วยถ้อยคำดังนี้
1) สาเหตุโดยตรง (Direct Cause)
2) สาเหตุโดยอ้อม (Indirect Cause)
3) ความเสียหายโดยตรง (Direct Loss)
4) ความเสียหายโดยอ้อม (Indirect Loss)
5) สาเหตุใกล้ชิด (Proximate Cause)

ดังนั้น บทความชุดนี้จะประกอบด้วยห้าเรื่องราวข้างต้น โดยบทความชุดแรกนี้ในสองตอนที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในหัวข้อเรื่องที่หนึ่งนั้น เราได้วิเคราะห์กันไปบ้างแล้วถึงความหมายของสาเหตุโดยตรง ตามความหมายของประกันภัย

สำหรับตอนที่สามนี้ เรามาวิเคราะห์ตัวอย่างเพิ่มเติมอีกเรื่องหนึ่งตามที่ทิ้งท้ายไว้ในตอนที่ผ่านมาว่า “ถ้าเกิดเหตุจลาจลในจุดหนึ่งของเมือง แล้วในอีกจุดหนึ่ง ก็มีคนร้ายฉวยโอกาสปล้นขโมยของ คุณคิดว่า เหตุการณ์หลังเป็นสาเหตุโดยตรงจากเหตุการณ์แรกไหมครับ?

หลายท่านคงนึกว่า หากผู้ชุมนุมประท้วงก่อการจลาจล จุดไฟเผาข้าวของ หรือทุบกระจก ขโมยสิ่งของในร้านค้าต่าง ๆ บริเวณที่ชุมนุม จะชัดเจนกว่าเยอะว่า มันมีความเกี่ยวข้องต่อเนื่องกันโดยไม่ขาดตอน

แต่ถ้าเกิดจลาจลในจุดหนึ่งของเมือง และอีกฝากหนึ่งของเมือง ก็มีคนร้ายฉวยโอกาสเข้าปล้นขโมยของ มันน่าจะไม่เกี่ยวกัน เพราะข้อมูลค่อนข้างชัดเจน เป็นการฉวยโอกาสของคนร้าย บางท่านคงคิดเช่นนั้น

เรามาเทียบเคียงเรื่องนี้กับคดีที่เกิดขึ้นจริงกัน เป็นคดีระหว่าง Tappoo Holdings Limited (Tappoo) ซึ่งเป็นเจ้าของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ในกรุงซูวา เมืองหลวงของประเทศฟูจิ โดยได้เอาประกันภัยทรัพย์สินของตนเองไว้กลับกลุ่มผู้ร่วมรับประกันภัยของสถาบันลอยด์ (Lloyd's Syndicates) ภายใต้กรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทุกชนิด



เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 2000 ระหว่างที่กลุ่มผู้ประท้วงชนพื้นเมืองของประเทศฟูจิได้เคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือร้องทุกข์ หลังจากที่ได้รวมตัวกันชุมนุมประท้วงยืดเยื้อมาก่อนหน้านั้นหลายสัปดาห์แล้ว คณะผู้ก่อการก็เข้าไปยึดรัฐสภา บุกจับตัวนายกรัฐมนตรีกับคณะรัฐมนตรีไว้เป็นประกัน

ครั้นเมื่อทราบข่าวการก่อการยึดอำนาจปกครอง กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปรวมตัวกันอยู่ที่รัฐสภา ประมาณสิบนาทีหลังจากการเข้ายึดอำนาจการปกครอง ก็ได้มีการออกประกาศเผยแพร่ทางวิทยุ นับแต่นั้นไป ส่งผลทำให้กลุ่มธุรกิจร้านค้าได้เริ่มทยอยปิดทำการ ปล่อยพนักงานกลับบ้าน

ประมาณสองชั่วโมงหลังเหตุการณ์การยึดอำนาจปกครองนั้น ได้มีผู้ก่อการจลาจลบุกเข้าไปทุบทำลาย และขโมยข้าวของในห้างค้าปลีกของผู้เอาประกันภัย เมื่อผู้เอาประกันภัยไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากกลุ่มผู้ร่วมรับประกันภัย กลับได้รับการปฎิเสธว่า มิได้อยู่ในความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยภายใต้ข้อยกเว้นการแข็งข้อ (insurrection) ผู้เอาประกันภัยจึงได้นำเรื่องมาฟ้องต่อศาล

ศาลชั้นต้นพิจารณาให้ผู้เอาประกันภัยชนะคดี กลุ่มผู้ร่วมรับประกันภัยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้กลุ่มผู้ร่วมรับประกันภัยไม่ต้องรับผิด เนื่องจากคดีนี้จะถือเป็นคดีตัวอย่างแก่ผู้ได้รับความเสียหายอื่น ๆ จากเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้เอาประกันภัยจึงนำเรื่องนี้ขึ้นสู่ศาลสูงของประเทศฟูจิ

ประเด็นการพิจารณาที่สำคัญ

1) การกระทำของคณะผู้ก่อการยึดอำนาจถือเป็นการแข็งข้อ (insurrection) หรือไม่?
   2) ความสูญเสีย หรือความเสียหายมีสาเหตุโดยตรง หรือโดยอ้อมมาจากการแข็งข้อ หรือไม่?

เนื่องจากในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ของผู้เอาประกันภัยมีข้อยกเว้นระบุว่า

กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ไม่คุ้มครองความสูญเสีย หรือความเสียหายใด ๆ อันมีสาเหตุมาจาก หรือเป็นผลมาจากกรณีดังต่อไปนี้ ทั้งโดยทางตรง และโดยทางอ้อม
(ก) สงคราม การรุกราน การกระทำของศัตรูต่างชาติ การปฏิบัติการเยี่ยงสงคราม  (ไม่ว่าจะได้มีการประกาศหรือไม่ก็ตาม) สงครามกลางเมือง การก่อการกำเริบของเจ้าหน้าที่รัฐ การกบฎ การปฏิวัติ การแข็งข้อ การยึดอํานาจการปกครองโดยทหาร หรือการช่วงชิงอำนาจ ......... 

ศาลสูงได้พิจารณาประกอบหลักกฎหมายของประเทศอังกฤษ ประเทศในเครือจักรภพ และประเทศสหรัฐอเมริกา สามารถสรุปคำนิยามของ “การแข็งข้อ (insurrection)” ได้ใจความดังนี้

การแข็งข้อ (insurrection) คือ การพยายามใช้กำลังล้มล้างรัฐบาล โดยขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของคณะผู้ก่อการ โดยเฉพาะหัวหน้าคณะผู้ก่อการเป็นสำคัญ มิใช่มุ่งเพียงความสำเร็จในการกระทำเท่านั้น และจำนวนของผู้ร่วมก่อการไม่จำต้องเป็นกลุ่มใหญ่ ทั้งไม่ต้องอาศัยการวางแผนเตรียมการเป็นอย่างดี อาจเพียงแค่รวมตัวกันหลวม ๆ เท่านั้น 

ข้อเท็จจริงประกอบพยานหลักฐานที่นำเสนอ ศาลไม่พบว่า ผู้ร่วมชุมนุมมีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างความเสียหาย และปล้นสะดมห้างของผู้เอาประกันภัย ทั้งไม่พบหลักฐานการปลุกปั่นของคณะผู้ก่อการอีกด้วย ซึ่งศาลอุทธรณ์ก็เห็นว่า การแข็งข้อ (insurrection) มิใช่สาเหตุโดยตรงที่ก่อให้เกิดความสูญเสีย หรือความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัย ทั้งศาลสูงเองวิเคราะห์ว่า เหตุการณ์ความไม่สงบที่แพร่กระจายในกรุงซูวานั้น อาจเป็นผลมาจากการก่อรัฐประหาร หรืออาจเป็นผลมาจากทั้งการเดินขบวนประท้วง และการก่อการยึดอำนาจปกครองผสมผสานกันก็ได้ เนื่องจากช่วงเวลาที่เกิดการจลาจลที่ห้างค้าปลีกของผู้เอาประกันภัยนั้น ก็ทิ้งช่วงห่างจากการกระทำการแข็งข้อ (insurrection) ไม่นานนัก จึงมีความใกล้ชิดเพียงพอที่จะถือเป็นสาเหตุโดยอ้อมในการก่อให้เกิดความสูญเสีย หรือความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยดังกล่าว   

ดังนั้น ข้อต่อสู้ของผู้เอาประกันภัยที่อ้างว่า กลุ่มผู้ร่วมรับประกันภัยไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความเกี่ยวข้องโดยอ้อมระหว่างเหตุการณ์การกระทำการแข็งข้อ (insurrection) กับการก่อจลาจลที่ห้างค้าปลีกของผู้เอาประกันภัยนั้นได้ จึงรับฟังไม่ขึ้น เพราะการพิจารณาว่า ทั้งสองเหตุการณ์ไม่มีความเกี่ยวพันกันนั้น ช่างค้านกับสามัญสำนึกของคนทั่วไป ด้วยเหตุนี้ กลุ่มผู้ร่วมรับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว

อ้างถึง Tappoo Holdings Ltd and Another v Stuchbery [2006] 4 LRC 191

หมายเหตุ ถ้ามีหลักฐานชัดเจนว่า การจลาจลเกิดจากฝีมือกลุ่มผู้ก่อการแข็งข้อ น่าจะรับฟังได้เพียงพอว่า มีความเกี่ยวข้องโดยตรงจากการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งยังคงตกอยู่ในข้อยกเว้นดังว่านั้นของกรมธรรม์ประกันภัยอยู่ดี

ตอนต่อไปขอยกตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่ง สำหรับบทความเรื่องสาเหตุโดยตรง โดยทิ้งท้ายให้ลองคิดกันดูนะครับว่า โคลนถล่มกับการเกิดไฟไหม้ มันมีความสัมพันธ์กันได้หรือไม่ อย่างไร?

วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เรื่องที่ 25 : ความเสียหายจากสาเหตุโดยตรง (Directly Caused) หมายถึงอะไร?



(ตอนที่สอง)

เรื่องนี้ ผู้เอาประกันภัยไม่ยอมรับความเห็นของบริษัทประกันภัย จึงนำเรื่องนี้ขึ้นสู่ศาล โดยศาลชั้นต้นเห็นด้วยกับบริษัทประกันภัย การตีความต้องอาศัยความหมายปกติทั่วไปในพจนานุกรมของ “สาเหตุโดยตรง (directly caused)” คือ สาเหตุต้องเกิดขึ้นโดยฉับพลัน (immediate cause) ในที่นี้คือ ควรต้องเกิดไฟไหม้ต่อเครื่องจักรที่เอาประกันภัยไว้ แต่กลับปรากฏว่าในคดีนี้ สาเหตุที่เกิดขึ้นโดยฉับพลันกลับเป็นไฟฟ้าลัดวงจรแทน

อย่างไรก็ตาม ผู้เอาประกันภัยไม่ยอมแพ้ สู้ต่อถึงศาลอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์วิเคราะห์ คำว่า “สาเหตุโดยตรงจากไฟไหม้ (directly caused by fire)” ในกรมธรรม์ประกันภัยนั้น หมายความเทียบเคียงได้กับคำว่า “สาเหตุใกล้ชิด (proximate cause)” ซึ่งเป็นคำที่ควรใช้ในการตีความทางกฎหมายมากกว่าใช้ความหมายของ “โดยตรง” จากพจนานุกรมอย่างที่ศาลชั้นต้นใช้ตีความ เมื่อพิจารณาจากเจตนารมณ์ของคู่สัญญาประกันภัย ต่างก็ประสงค์จะให้คุ้มครองถึงความเสียหายที่มีสาเหตุมาจากไฟไหม้ แม้ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยมิได้ถูกไฟไหม้เลย ตราบใดที่ยังมีทรัพย์สินอื่นถูกไฟไหม้อยู่ ฉะนั้น เมื่อบริษัทประกันภัยใช้ถ้อยคำ “สาเหตุโดยตรงจากไฟไหม้ (directly caused by fire)” ในกรมธรรม์ประกันภัย ก็เสมือนให้มีความหมายเช่นเดียวกับ “สาเหตุใกล้ชิด (proximate cause)” นั่นเอง

การเกิดไฟไหม้ (ที่เสาไฟฟ้า) จึงเป็นสาเหตุที่ส่งผลโดยตรง และต่อเนื่องโดยไม่ขาดตอน จนทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรแก่เครื่องจักรที่เอาประกันภัยไว้ของผู้เอาประกันภัย แต่ถ้าบริษัทประกันภัยไม่ประสงค์จะให้ความคุ้มครองถึงขนาดนี้ ก็ควรเลือกใช้ถ้อยคำอื่นทำนองว่า “สาเหตุโดยฉับพลันที่สุดจากไฟไหม้ (most immediate cause)” แทนจะตรงกับความประสงค์ดังกล่าวมากกว่าใช้คำว่า “โดยตรง” เช่นนี้

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศาลอุทธรณ์จึงตัดสินให้บริษัทประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย

อ้างถึง คดี Lasermax Engineering Pty Limited v QBE Insurance (Australia) Limited [2005] NSWCA 66

พจนานุกรมศัพท์ประกันภัย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของคำว่า “สาเหตุใกล้ชิด (proximate cause)” หมายความถึง “ต้นเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหายโดยตรง หรือเป็นเหตุต่อเนื่องโดยไม่ขาดตอน ที่ทำให้เกิดความเสียหาย

คุณเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ไหมครับ? 

เทียบเคียงได้กับกรณีที่เราเคยเรียนรู้กันมาว่า หากเกิดไฟไหม้ข้างเคียง ผู้เอาประกันภัยภายใต้กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยเกรงว่า ไฟจะลุกลามมาถึงบ้านของตนเอง จึงขนของหนี แต่สุดท้ายโชคดีไฟถูกดับทันก่อนที่จะลุกลามมาถึงบ้านของผู้เอาประกันภัย ครั้นพอมาตรวจสอบทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ซึ่งถูกขนหนีออกมา ปรากฏว่า บางชิ้นแตกหักเสียหายจากการโยน บางชิ้นถูกคนร้ายแอบขโมยไป ทั้งหมด ไม่มีรายการใดเลยเสียหายจากไฟไหม้ ซึ่งเราก็สรุปกันว่า ความเสียหายทั้งหมดล้วนมีสาเหตุใกล้ชิดมาจากไฟไหม้ที่อื่น อันจะได้รับความคุ้มครองทั้งสิ้น
  
หากคุณยังไม่คล้อยตามนัก ลองดูตัวอย่างเรื่องต่อไปนี้ในคราวหน้ากัน

ถ้าเกิดเหตุจลาจลในจุดหนึ่งของเมือง แล้วในอีกจุดหนึ่ง ก็มีคนร้ายฉวยโอกาสปล้นขโมยของ คุณคิดว่า เหตุการณ์หลังเป็นสาเหตุโดยตรงจากเหตุการณ์แรกไหมครับ?