วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

เรื่องที่ 209 : การยึดทรัพย์ (Seizure) ที่ปรากฏอยู่ในกรมธรรม์ประกันภัย มีความหมายเช่นไรกันแน่?

 

บ่อยครั้ง เราอาจรู้สึกว่า เอกสารกรมธรรม์ประกันภัยมีการใช้ถ้อยคำค่อนข้างฟุ่มเฟือย

 

อ่านแล้ว ไม่แน่ใจว่า ควรแปลความหมายเช่นไรกันดี? หรือ

 

ถ้าปรากฏถ้อยคำใกล้เคียงกันหลายคำ ควรจะยึดถือ หรือแยกแยะอย่างไร?

 

การนัดหยุดงาน (strike) การจลาจล (riot) การลุกฮือของประชาชน (civil commotion) การกระทำโดยเจตนาร้าย (malicious act) การลักทรัพย์ (theft) การก่อการร้าย (terrorism) การก่อวินาศกรรม (sabotage) การแข็งข้อ (insurrection) ฯลฯ

 

นี่คือตัวอย่างบางส่วนเท่านั้น แถมไม่ปรากฏคำจำกัดความเขียนกำกับไว้อีก หรือต่อให้กำกับไว้ ก็อาจมีปัญหาข้อพิพาทในการตีความอยู่ดี

  

ดั่งเช่นข้อพิพาทล่าสุดของต่างประเทศเรื่องนี้ ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างบริษัทประกันภัยตรงกับบริษัทประกันภัยต่อถึงความหมายที่ถูกต้องของคำว่า “การยึดทรัพย์ (seizure)” ที่ปรากฏอยู่ภายใต้สัญญาประกันภัยตรง (ระหว่างผู้เอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัย) และสัญญาประกันภัยต่อ (ระหว่างบริษัทประกันภัยตรงกับบริษัทประกันภัยต่อ) เพราะมีความเห็นไม่ตรงกัน

 

ต้นเรื่องมีที่มา ดังนี้ครับ

 

ประมาณช่วงเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2021 ภายหลังจากการถอนกำลังทหารสหรัฐออกไปจากประเทศอัฟกานิสถาน กองกำลังของกลุ่มตาลีบันก็เข้าไปยึดครองประเทศกลับมาเป็นของตนอีกครั้ง รวมถึงคลังสินค้าขนาดใหญ่ประมาณ 1.5 ล้านตารางฟุต ซึ่งเป็นฐานส่งอาหาร และเสบียงอื่น ๆ ให้แก่ทหารสหรัฐ ตั้งอยู่ที่ฐานปฏิบัติการทางอากาศแบกแรม (Bagram Airbase)

 

ด้วยความที่คลังสินค้าแห่งนี้ได้จัดทำการประกันภัยความรุนแรงทางการเมือง (Political Violence Insurance) เอาไว้ในจำนวนเงินเอาประกันภัยรวมทั้งสิ้น 41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือเทียบเท่า 1,509,415,000 บาท) กับบริษัทประกันภัยท้องถิ่นแห่งหนึ่ง

 

ครั้นผู้เอาประกันภัยไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัยของตน เนื่องจากวงเงินเอาประกันภัยค่อนข้างสูง บริษัทประกันภัยท้องถิ่นแห่งนั้นได้ไปเรียกให้บริษัทประกันภัยต่อของตนให้เข้ามาร่วมทำการชดใช้ด้วย กลับได้รับคำปฏิเสธ และบริษัทประกันภัยต่อนั้นเองก็ได้นำคดีขึ้นสู่ศาล เพื่อให้รับรองคำปฏิเสธของตน

 

ศาลชั้นต้นได้วิเคราะห์ประเด็นข้อพิพาทออกมาเป็นข้อ ๆ ดังนี้

 

1) ข้อยกเว้นของคำว่า “การยึดทรัพย์ (seizure)” ที่ปรากฏอยู่ในเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งฝ่ายบริษัทประกันภัยต่อได้นำมาอ้างปฏิเสธความรับผิดนั้น มีความหมายเช่นไรกันแน่?

 

เนื่องด้วยฝ่ายบริษัทประกันภัยต่อแปลความหมายว่า หมายถึง การยึดถือครองทรัพย์เอาไว้เป็นของบุคคลอื่นทุกกรณีตามความหมายปกติทั่วไป

 

ขณะที่ฝ่ายผู้เอาประกันภัยโต้แย้งโดยหยิบยกถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท ซึ่งเขียนไม่คุ้มครองถึง

 

ความสูญเสีย หรือความเสียหายทั้งโดยตรง หรือโดยอ้อม อันมีสาเหตุมาจากการยึดทรัพย์ การริบทรัพย์ การโอนทรัพย์สินเป็นของรัฐ การเรียกเกณฑ์ การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ การกักกัน การยึดถือครองทรัพย์สินที่เอาประกันภัยในที่นี้ ทั้งโดยถูกกฎหมาย หรือโดยผิดกฎหมาย การห้ามส่งสินค้า การเวนคืนทรัพย์ ....

 

ความหมายที่ถูกที่ควรของ “การยึดทรัพย์” นั้น หมายความถึง การยึดทรัพย์ของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายเท่านั้น เพราะถ้อยคำต่าง ๆ ที่เขียนตามมาสื่อออกมาในลักษณะเช่นว่านั้น

 

เวลาที่กลุ่มตาลีบันเข้าไปยึดครองคลังสินค้าที่เอาประกันภัยแห่งนั้น ยังไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจปกครองโดยเด็ดขาด และโดยชอบธรรมเลย ฉะนั้น จึงไม่ตกอยู่ในข้อยกเว้นนี้

 

ศาลชั้นต้นเห็นพ้องกับฝ่ายบริษัทประกันภัยต่อ เนื่องด้วยแนวคำพิพากษาคดีก่อนหน้า ก็ได้แปลความหมายของคำนี้ไว้เช่นกันว่า การยึดทรัพย์ หมายความถึง การเข้ายึดถือครองไว้โดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมาย หรือโดยอาศัยกำลังอำนาจของบุคคลอื่นก็ได้

 

2) ข้อยกเว้นของคำว่า “การยึดทรัพย์ (seizure)” นี้ เมื่อปรากฏอยู่ในกรมธรรม์ประกันภัยความรุนแรงทางการเมือง (Political Violence Insurance Policy) กับกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทางการเมือง (Political Risks Insurance Policy) ก็จะให้ความหมายแตกต่างกันออกไป?

    

ฝ่ายผู้เอาประกันภัยได้พยายามนำเสนอข้อสนับสนุนเพิ่มเติมอีกว่า ในธุรกิจประกันภัยจะมีการนำเสนอกรมธรรม์ประกันภัยสองฉบับในลักษณะที่แตกต่างกัน เสมือนหนึ่งมุ่งเน้นไปที่ใครคือผู้กระทำผิดมากกว่า กล่าวคือ กรมธรรม์ประกันภัยความรุนแรงทางการเมืองจะมุ่งเน้นไปที่การกระทำผิดของบุคคลทั่วไปโดยมีแรงจูงใจทางการเมือง เป็นต้นว่า การจลาจล การนัดหยุดงาน การก่อการร้าย การก่อวินาศกรรม ขณะที่กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทางการเมืองจะมุ่งไปที่การกระทำของรัฐบาล หรือเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่า

 

ศาลชั้นต้นไม่เห็นพ้องด้วย เพราะทั้งสองฉบับ ก็พูดถึงภัยสงครามเหมือนกัน ซึ่งล้วนต้องเกิดขึ้นมาจากการกระทำของสองรัฐ หรือมากกว่านั้นที่เป็นศัตรูกัน

 

3) คำว่า “ความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยตรงทางกายภาพ (Direct physical loss or damage)” หมายความรวมถึง การสูญเสียสิทธิการครอบครองทรัพย์สินโดยถาวร (deprivation loss) หรือไม่?

 

ศาลชั้นต้นไม่รับฟังคำโต้แย้งของฝ่ายผู้เอาประกันภัยตรงที่ว่า การสูญเสียสิทธิการครอบครองทรัพย์สินที่เอาประกันภัยอย่างถาวร เนื่องด้วยถูกกองกำลังตาลีบันเข้าไปยึดถือไว้เป็นของตนนั้น จะเข้าข่ายอยู่ในความหมายของความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยตรงทางกายภาพ อันจะทำให้ได้รับความคุ้มครองด้วยนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะจะต้องเป็นการเกิดความสูญเสีย ความวินาศ หรือความเสียหายโดยตรงอย่างแท้จริงแก่กายภาพของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเท่านั้น จึงจะได้รับความคุ้มครอง โดยไม่ได้รวมถึงการสูญเสียประโยชน์จากการใช้งาน (loss of use) หรือการสูญเสียสิทธิการครอบครองอย่างถาวรแต่ประการใด

 

ตัดสินให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยต่อไม่จำต้องรับผิด

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Hamilton Corporate Member and Others v (1) Afghan Global Insurance (2) Anham USA (3) Anham FZCO [2024] EWHC 1426 (Comm))

 

หมายเหตุ

 

คงต้องรอดูคดีนี้จะได้ขึ้นไปสู่ศาลชั้นสูงต่อไปอีกหรือเปล่านะครับ เชื่อว่า น่าจะต้องมีลุ้นแน่ เพราะเดิมพันสูงเหลือเกิน หากได้ข่าวคราวเพิ่มเติม จะสืบค้นมาเล่าสู่กันฟังอีก

 

ดั่งที่เกริ่นตอนต้น ถ้าบอกว่า การยึดทรัพย์โดยบุคคลใดก็ได้ แล้วเกิดบุคคลนั้นเป็นผู้นัดหยุดงาน ผู้ก่อจลาจล ฯลฯ แล้วจะจัดอยู่ในภัยใดกันแน่? 

 

หรืออย่างคดีนี้ ขณะเกิดเหตุกลุ่มตาลีบันตกอยู่ในสถานะใดกันแน่? 

 

จะเรียกว่า เป็นผู้ก่อสงครามกลางเมือง ผู้ก่อการกบฏ ผู้ก่อการปฏิวัติ ผู้ล้มอำนาจการปกครอง ผู้ก่อการร้าย ฯ ได้หรือเปล่า? 

 

ถ้าได้ คดีนี้ควรจะคุ้มครอง หรือไม่คุ้มครอง???

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ -กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น