วันอังคารที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2567

เรื่องที่ 208 : คดีศึกษาค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์การใช้รถยนต์ (Loss of Use Damages) ในประเทศออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์

 

(ตอนที่สาม)

 

ตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศ เรื่องที่ 3 ความรับผิดของบริษัทประกันภัยรถยนต์ต่อบริษัทให้เช่ารถแบบเครดิต (credit hire company)

 

เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางตามกฎหมายแล้วว่า เมื่อคู่กรณีฝ่ายผิดสร้างความเสียหายให้แก่รถยนต์อีกคันหนึ่ง (หรือหลายคันก็ได้)

 

นอกจากจะต้องรับผิดชอบเรื่องค่าซ่อมแซมให้แก่รถยนต์คันที่เสียหายแล้ว

 

ยังต้องรับผิดในเรื่องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถคันนั้น (loss of use) อีกด้วย หรือ

 

ความเสียหายสืบเนื่องทางการเงินอื่น ๆ อีกก็ได้

 

ทั้งนี้ โดยมีหลักการเพื่อชดใช้ตามความเป็นจริง จนทำให้ผู้เสียหายนั้นเสมือนหนึ่งไม่ได้เกิดความเสียหายนั้นขึ้นมาเลย

 

และเพื่อทุเลาความเสียหาย (loss mitigation) ที่บังเกิดขึ้นแก่ตน ผู้เสียหายนั้นมีสิทธิตามกฎหมายที่จะเช่ารถคันอื่นมาใช้ตามความจำเป็นของตนได้ ระหว่างรอซ่อมรถของตนที่เสียหายนั้นเอง

 

ในทางปฏิบัติ มีทางเลือกกันอยู่สามทาง ได้แก่

 

(1) ผู้เสียหายนั้นไปจัดหาเช่ารถแบบทั่วไป (spot hire) เอาเอง โดยอาจเป็นลักษณะครั้งคราว หรืออาจลักษณะแบบชั่วระยะเวลาก็ได้ ซึ่งผู้เสียหายนั้นจำต้องออกเงินเองไปก่อน แล้วค่อยรวบรวมหลักฐานมาเบิกกับคู่กรณี หรือบริษัทประกันภัยของคู่กรณีภายหลัง หรือ

 

(2) บริษัทประกันภัยของคู่กรณีอาจเป็นภาระจัดหารถเช่าทดแทนชั่วคราวให้ ซึ่งมีอยู่น้อยมาก

 

(3) ปัจจุบันนี้ ประเทศใหญ่ ๆ หลายประเทศเริ่มพัฒนาธุรกิจรถเช่าแบบมีเครดิต (credit hire company) ในลักษณะให้นำรถเช่าไปใช้ก่อน แล้วค่อยมาจ่ายทีหลังตอนนำรถมาคืน โดยจะมีการกำหนดระยะเวลาเช่าไว้ตามความจำเป็น ซึ่งบริษัทจำพวกนี้ได้เข้ามาเจาะตลาดประกันภัยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่มุ่งเน้นไปที่กลุ่มของผู้เสียหายดังกล่าวในข้อ (1) และถึงขนาดรับอาสาที่จะไปเรียกร้องในส่วนของค่าเช่าในนามของผู้เสียหายเอากับบริษัทประกันภัยของคู่กรณีอีกด้วย

 

มุมมองของบริษัทประกันภัยรถยนต์ต่อต้านอย่างแน่นอน เพราะวิธีการเช่ารถทดแทนรูปแบบนี้จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าวิธีปกติ อีกทั้ง บริษัทประกันภัยรถยนต์ก็มองว่า บริษัทรถเช่าแบบเครดิตจำพวกนี้เสมือนหนึ่งไม่ได้มีนิติสัมพันธ์โดยตรงในข้อพิพาทที่เกิดขึ้น มุ่งประสงค์ที่จะมาแสวงหาประโยชน์มากกว่า

 

ในแง่กฎหมาย อาจเข้าหลักเรื่อง Maintenance and Champerty คือ การห้ามบุคคลภายนอกกระทำการในลักษณะให้ความช่วยเหลือทางการเงิน โดยได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากเงินที่คู่พิพาทได้รับจากการชนะคดี โดยเห็นว่า การที่บุคคลภายนอกผู้ไม่มีส่วนได้เสียในข้อพิพาท ช่วยสนับสนุนทางการเงินให้แก่คู่กรณี เพื่อฟ้องคดี หรือต่อสู้คดีด้วยประการใด ๆ อันเป็นการยุยงให้บุคคลเป็นความกันนั้น ย่อมเป็นโมฆะ ใช้บังคับไม่ได้ เพราะขัดกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งมีน้อยประเทศที่ออกกฎหมายเปิดช่องให้สามารถกระทำเช่นว่านั้นได้ แต่ไม่ใช่บ้านเรา เว้นเสียแต่ถูกตีความว่า ไม่เข้าหลักกฎหมายดังกล่าว ถึงจะมีผลใช้บังคับได้

 

ในคดีฟ้องร้องเช่นว่านี้ในประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งถือว่า ได้ตัดสินวางแนวทางไว้ว่า

 

บริษัทประกันภัยรถยนต์ของคู่กรณีได้ปฏิเสธการมาเรียกร้องเงินค่าเช่ารถทดแทนของรถเช่าแบบเครดิต โดยมีประเด็นข้อพิพาทแยกย่อยให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาวินิจฉัยดังนี้

 

1) ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเช่ารถคันอื่นมาทดแทนระหว่างรอซ่อมแซมรถยนต์ของตนที่เสียหายหรือไม่?

 

คำตอบ คือ มีสิทธิ

 

2) สัญญาเช่ารถยนต์มาทดแทนชั่วคราวระหว่างผู้เสียหายกับบริษัทรถเช่าแบบเครดิตไม่มีผลผูกพัน เพราะเข้าหลักเรื่อง Maintenance and Champerty ให้บุคคลภายนอกที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องมาแสวงหาประโยชน์ใช่หรือไม่?

 

คำตอบ คือ ไม่ใช่

 

3) ศาลชั้นต้นที่ตัดสินให้บริษัทรถเช่าแบบเครดิตรับมอบสิทธิจากผู้เสียหายให้มาเรียกร้องเอากับบริษัทประกันภัยรถยนต์คู่กรณี วินิจฉัยโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรถึงความเหมาะสมที่ได้ไปเช่ารถคันอื่นมาทดแทนระหว่างรอซ่อมแซมจากบริษัทรถเช่าแบบเครดิตใช่หรือไม่?

 

คำตอบ คือ ไม่ใช่ และมิใช่การรับช่วงสิทธิ

 

4) ผู้เสียหายที่ตัดสินใจเลือกเช่ารถคันอื่นมาทดแทนระหว่างรอซ่อมแซมรถยนต์จากบริษัทรถเช่าแบบเครดิตแทนที่จะใช้ทางเลือกอย่างอื่นนั้น ถือว่า มีเหตุผลอันสมควรหรือเปล่า?

 

คำตอบ คือ มีเหตุผลอันสมควร เนื่องจากรับฟังได้ว่า ได้รับคำแนะนำจากอู่ซ่อมของบริษัทประกันภัยรถยนต์คู่กรณีเอง

 

5) ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่บริษัทรถเช่าแบบเครดิตมาเรียกเก็บนั้นเหมาะสมไหม?

 

คำตอบ คือ เหมาะสม แม้อาจเทียบเคียงกับค่าเช่ารถปกติทั่วไปแล้วแพงกว่าก็ตาม แต่เมื่อคำนึงถึงประโยชน์ของผู้เสียหายที่ไม่ต้องไปแสวงหาผู้ให้เช่ารถรายอื่น ประกอบกับได้เครดิตด้วย ไม่จำเป็นต้องออกเงินไปก่อน

 

6) ค่าใช้จ่ายทั้งหมดเหล่านั้นได้รวมค่าบริการอย่างอื่นมาด้วย ซึ่งไม่ควรถือเป็นค่าใช้จ่ายในการทุเลาความเสียหายของผู้เสียหายที่จะควรได้หรือเปล่า?

 

คำตอบ คือ ถือว่าควรได้ด้วย มิฉะนั้นแล้วจะกลายเป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้เสียหายเกินควรไป

 

สรุป ศาลอุทธรณ์ตัดสินยืนตามศาลชั้นต้น ให้บริษัทรถเช่าแบบเครดิตรับมอบสิทธิจากผู้เสียหายมาเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนค่าเช่ารถยนต์ทดแทนชั่วคราวระหว่างรอซ่อมแซมรถยนต์ที่เสียหายของตนเอากับบริษัทประกันภัยรถยนต์คู่กรณีได้

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Frucor Beverages Ltd v Ilan Blumberg [2019] NZCA 547 และบทความ Third Party Funding: อีกหนึ่งทางเลือกในการส่งเสริมกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ธันวาคม 17, 2021 สืบค้นจากเวป https://thac.or.th/th/third-party-funding/)

 

หมายเหตุ

 

ศาลต่างประเทศในคดีนี้ยังเสนอแนะให้บริษัทประกันภัยรถยนต์ปรับแนวคิดที่ว่า บริษัทรถเช่าแบบเครดิตจะมาแสวงหาประโยชน์จากช่องว่าง และอาจส่งผลทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายของค่าสินไหมทดแทนจะเพิ่มสูงขึ้น มาเป็นร่วมมือกันให้บริการจะดีกว่า บางศาลก็พิจารณาค่าธรรมเนียมที่บวกเพิ่มขึ้นจากค่าเช่ารถทดแทนปกติเป็นค่าเสียหายพิเศษซึ่งผู้กระทำละเมิดควรคาดหวังได้ ซึ่งจะต้องรับผิดชอบด้วย

 

หากศาลไทยแปลความหมายการประกอบธุรกิจนี้ไม่เข้าหลักเรื่อง Maintenance and Champerty เช่นเดียวกับคดีอ้างอิงข้างต้น เราอาจจะพบเห็นธุรกิจจำพวกนี้เกิดขึ้นในบ้านเราก็ได้นะครับ

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ -กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น