วันพุธที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2567

เรื่องที่ 208 : คดีศึกษาค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์การใช้รถยนต์ (Loss of Use Damages) ในประเทศอังกฤษ

 

(ตอนที่สอง)

 

เมื่อคดีนี้ได้ถูกนำขึ้นเสนอต่อศาลอุทธรณ์ ปรากฏมีประเด็นของการพิจารณา ดังนี้

 

1) โจทก์ผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องสำหรับค่าเช่ารถใช้งานชั่วคราว (credit hire claims) หรือไม่? 

 

2) สถานะทางสังคมของโจทก์ผู้เสียหายเพียงพอไหมในการพิสูจน์ถึงความจำเป็นในการเช่ารถมาใช้งานชั่วคราว

 

ประเด็นข้อแรก

 

อาจมิได้มีการนำมาโต้แย้งกันแต่แรก เมื่อพิจารณาถึงรถหรูคันที่ได้รับความเสียหายนั้น ไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนตัวของโจทก์ผู้เสียหาย แต่เป็นรถของบริษัท โจทก์ผู้เสียหายเป็นเพียงผู้ใช้รถ และผู้ครอบครองรถหรูคันนั้นระหว่างเกิดเหตุเท่านั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะมาเรียกร้องได้ ทั้งในฐานะผู้เสียหาย และตัวแทนของเจ้าของกรรมสิทธิ์รถหรูคันนั้น ส่วนที่จะมีคำถามว่า ยังคงมีรถหรูของบริษัทเหลืออยู่อีกหลายคัน ทำไมไม่ใช้นั้น คงไม่น่าจะใช่ประเด็นถกเถียงกันในที่นี้

 

ประเด็นข้อที่สอง

 

ดังที่ศาลชั้นต้นได้ให้ความเห็นไปแล้วเรื่องสถานะทางสังคมของโจทก์ผู้เสียหายนั้น ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่จะนำมาพิสูจน์แสดงให้ศาลรับฟังได้ ศาลอุทธรณ์ก็เห็นคล้อยตามด้วย โดยเฉพาะกรณีสำหรับค่าเช่ารถใช้งานชั่วคราวที่มีจำนวนสูงมากเช่นนี้

 

ฉะนั้น เมื่อโจทก์ผู้เสียหายไม่สามารถนำสืบพิสูจน์ให้ศาลรับฟังได้ถึงความจำเป็นเช่นว่านั้นได้

 

ศาลอุทธรณ์จึงตัดสินยกคำร้องขออุทธรณ์ของโจทก์ผู้เสียหาย

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Singh v Yaqubi [2013] EWCA Civ 23)

 

นั่นคือ ตัวอย่างคดีศึกษากรณีผู้เสียหายเป็นผู้มีฐานะร่ำรวย

 

ต่อไปเรามาลองดูตัวอย่างคดีศึกษากรณีผู้เสียหายที่เป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์เปรียบเทียบกันบ้าง

 

ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 1999 รถยนต์เก่าคู่ชีพยี่ห้อฟอร์ด แกรนนาดา อายุสิบปีของนาย L ซึ่งจอดไว้ ได้ถูกรถคู่กรณีขับด้วยความประมาทเลินเล่อวิ่งเข้ามาชนจนได้รับความเสียหาย

 

นาย L ผู้เสียหายได้ส่งรถยนต์ของตนเองไปเข้าอู่ซ่อม แต่เนื่องด้วยปัญหาสถานะทางการเงินกับปัญหาเรื่องสุขภาพที่ไม่สู้ดีของนาย L ทำให้ขาดแคลนทุนทรัพย์เพียงพอที่จะไปเช่ารถยนต์คันอื่นมาใช้งานตามความจำเป็นทดแทนชั่วคราวระหว่างรอซ่อมนั้น เพราะปกติทั่วไป การเช่ารถจะต้องจ่ายค่าเช่ารถล่วงหน้า อย่างไรก็ดี ขณะอยู่ในอู่ซ่อม นาย L ได้เจอประกาศโฆษณาให้เช่ารถใช้งานชั่วคราวแบบเครดิต (credit hire) ในลักษณะให้นำรถไปใช้งานก่อน แล้วค่อยชำระค่าเช่าทีหลัง

 

วันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ. 1999 นาย L ตัดสินใจทำสัญญาเช่ารถยนต์ยี่ห้อฟอร์ดมอนเดโอมาใช้งานชั่วคราวระหว่างรอซ่อมนั้น กับบริษัทให้เช่ารถแบบเครดิต (credit hire company) โดยมีเงื่อนไขให้ชำระค่าเช่าภายหลังจากครบกำหนด 26 สัปดาห์แล้ว พร้อมกับมีค่าประกันภัย สำหรับการประกันภัยคุ้มครองกรณีการผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวนั้นด้วย ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดของกรณีนี้อยู่ที่ 659.76 ปอนด์สเตอร์ลิง (ประมาณ 30,857.96 บาท) ชัดเจนว่า ค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะสูงกว่าค่าเช่าปกติทั่วไปอย่างแน่นอน

 

ครั้นเมื่อผู้เสียหายนาย L ได้นำไปเรียกร้องคู่กรณีให้รับผิดชอบเพิ่มเติมนอกเหนือจากค่าซ่อมแซมรถยนต์ที่เสียหาย ได้ถูกตอบปฏิเสธกลับมาว่า มีค่าใช้จ่ายเช่นว่านั้นสูงเกินสมควร

 

ประเด็นข้อพิพาทนี้จึงถูกนำเป็นคดีขึ้นสู่ศาล

 

โดยฝ่ายคู่กรณีได้อ้างอิงแนวคำพิพากษาศาลในคดีก่อนหน้านั้นว่า ฝ่ายผู้เสียหายมีสิทธิเพียงเรียกร้องค่าเช่ารถทดแทนมาใช้งานชั่วคราวได้ตามความจำเป็น และในราคาเช่ารถปกติทั่วไป (spot hire rate) ที่เหมาะสมเป็นเกณฑ์เท่านั้น ประเด็นเรื่องการขาดแคลนทุนทรัพย์ (impecuniosity) ของฝ่ายคู่กรณีไม่ใช่องค์ประกอบที่เกี่ยวข้องอันจะทำให้จำต้องมาพิจารณาประกอบการวินิจฉัยแต่ประการใด

 

คดีนี้ทั้งศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ล้วนเห็นพ้องต้องกันว่า    

 

ความรับผิดของฝ่ายคู่กรณีในเรื่องอุบัติเหตุรถยนต์นั้น นอกเหนือจากรับผิดซ่อมแซม หรือชดใช้ค่าเสียหายของตัวรถยนต์ของฝ่ายผู้เสียหายแล้ว ยังจำต้องรับผิดในเรื่องค่าใช้จ่ายในการทุเลาความเสียหาย (mitigation costs) ของฝ่ายผู้เสียหายด้วย ซึ่งมักจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายด้านการขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ (loss of use) นั่นเอง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะประเมินตามความจำเป็น และตามสมควร เพื่อให้เกิดความเหมาะสม และเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่ายด้วย

 

สำหรับคำถามเรื่องสถานะทางการเงินที่ด้อยของฝ่ายผู้เสียหายนั้น ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการพิจารณาค่าใช้จ่ายด้านการขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์นั้นหรือเปล่า?

 

ในคดีนี้ ทั้งสองศาลมองว่า มีความสำคัญอันก่อให้เกิดทางเลือกที่เหมาะสมแก่ฝ่ายผู้เสียหาย

 

ก) ถ้าเขามีเงินเพียงพอ ทางเลือกแรก คือ การเช่ารถยนต์ตามปกติทั่วไป โดยอาจต้องจ่ายเงินล่วงหน้าไปก่อน ค่อยมาเรียกร้องจากฝ่ายคู่กรณีภายหลัง หรือ

 

ข) ถ้าเงินไม่เพียงพอ ทางเลือกที่สอง ก็คือ ไปเช่ารถยนต์กับบริษัทให้เช่ารถยนต์ แบบเครดิต โดยนำรถเช่าไปใช้ก่อน ครบกำหนดที่ตกลงกัน ค่อยนำเงินไปจ่ายทีหลัง หรือมอบอำนาจให้บริษัทให้เช่ารถยนต์จำพวกนี้ไปเรียกร้องเอากับฝ่ายคู่กรณี หรือกระทั่งบริษัทประกันภัยรถยนต์ของฝ่ายคู่กรณีแทนก็ได้ โดยที่บริษัทให้เช่ารถยนต์จำพวกนี้ก็จะบวกค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมจากอัตราค่าเช่าปกติ

 

เมื่อมองตามหลักการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเป็นจริง เพื่อจะทำให้ฝ่ายผู้เสียหายสามารถกลับคืนสู่สภาพดังเดิมเสมือนหนึ่งไม่ได้มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น การเลือกทางเลือกที่สองของฝ่ายผู้เสียหายจึงสอดคล้องกับหลักดังกล่าว มิฉะนั้นแล้ว กรณีนี้จะกลายเป็นเสมือนหนึ่งบังคับให้ฝ่ายผู้เสียหายได้รับความเสียหายมากกว่าความเป็นจริง และไม่ถือเป็นการขัดต่อหลักความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนด้วย เนื่องจากได้พิจารณาไปตามสภาวะกับสถานการณ์ตามความเป็นจริงที่เหมาะสมด้วย ทั้งไม่ได้ถือการแสวงหากำไรเกินควรแต่ประการใด อีกไม่ได้เป็นการพิจารณาขัดกับแนวคำพิพากษาเดิม เพราะยังจำต้องมีการพิสูจน์ถึงความจำเป็นกับความเหมาะสมประกอบกันอยู่เช่นเดิม

 

จึงตัดสินให้ฝ่ายคู่กรณีรับผิด ในส่วนของค่าเช่ารถทดแทนมาใช้งานชั่วคราวตามที่เรียกร้องมาแก่ฝ่ายผู้เสียหาย

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Lagden v O’ Connor [2004] 1 AC 1067)

 

ยังมีเรื่องราวที่จำต้องคุยกันต่อในตอนที่สามอีกนะครับ ทีนี้ จะเกี่ยวข้องกับบริษัทประกันภัยรถยนต์โดยตรงว่า จะยอมรับสถานะของบริษัทให้เช่ารถแบบเครดิต (credit hire company) จำพวกนี้บ้างไหม? เพราะธุรกิจจำพวกนี้ได้ขยายตัวออกไปหลายประเทศแล้ว โปรดติดตาม

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ -กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/  

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น