เรื่องที่ 208 : คดีศึกษาค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์การใช้รถยนต์ (Loss of Use Damages) ในประเทศอังกฤษ
(ตอนที่หนึ่ง)
อ่านเจอบทความกรณีนี้แล้วน่าสนใจ อยากจะมาเล่าสู่กันฟังประดับความรู้
ณ วันที่ 6 เดือนสิงหาคม ค.ศ. 2009 ขณะที่นักธุรกิจหนุ่มผู้ประสบความสำเร็จรายหนึ่งกำลังขับรถหรู Rolls Royce Phantom (ราคาประมาณ 53.5 ล้านบาท) ไปตามท้องถนน ได้ประสบอุบัติเหตุชนกับรถคู่กรณีจนได้รับความเสียหายเล็กน้อยทางด้านประตูหลัง โดยรถคู่กรณีเป็นฝ่ายยอมรับผิด และต่างฝ่ายได้แยกย้ายกันไป
วันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 2009 รถหรูคันนั้นได้ถูกส่งไปยังตัวแทนจำหน่าย เพื่อประเมินราคาค่าซ่อม
ระหว่างรอการซ่อม นักธุรกิจหนุ่มรายนี้ได้เช่ารถยนต์ยี่ห้อ Bentley จากบริษัทรถเช่าแห่งหนึ่งมาใช้งานชั่วคราวเป็นระยะเวลาห้าวัน และสลับเปลี่ยนไปเช่ารถ Rolls Royce มาใช้งานแทนต่อไปอีก พร้อมกับบอกกล่าวให้บริษัทประกันภัยรถยนต์ของตนให้ได้รับทราบ
รถยนต์หรูคันที่เอาประกันภัยนั้นซ่อมเสร็จเรียบร้อยลง ณ วันที่ 29 กันยายน นักธุรกิจหนุ่มรายนี้จึงได้มาแจ้งยกเลิกสัญญาเช่ารถในวันที่ 30 กันยายนปีเดียวกันนั้นเอง รวมค่าเช่ารถทั้งสองคันสองช่วงเป็นราคาทั้งสิ้น 99,439.06 ปอนด์สเตอร์ลิง (ประมาณ 4,649,690.89 บาท) และต่อมาได้ปรับตัวเลขใหม่เป็น 92,953.90 ปอนด์สเตอร์ลิง (ประมาณ 4,346,450 บาท)
เมื่อนักธุรกิจหนุ่มรายนี้ได้นำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อเรียกร้องให้คู่กรณีชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมด (รวมค่าซ่อมกับค่าเช่ารถใช้งานชั่วคราว)
ศาลชั้นต้นได้ตัดสินยกฟ้องในส่วนของค่าเช่ารถใช้งานชั่วคราว (credit hire claims) ถึงแม้นทนายฝ่ายโจทก์นักธุรกิจหนุ่มรายนี้หยิบยกข้อกล่าวอ้างถึงเหตุผลความจำเป็นต้องเช่ารถหรูเหล่านั้นมาใช้งานชั่วคราวทดแทนระหว่างซ่อม เนื่องด้วยตัวนักธุรกิจหนุ่มรายนี้มีกลุ่มลูกค้าเป็นผู้มีฐานะในสังคมระดับสูง ทำให้ต้องใช้รถยนต์หรูให้เหมาะสมแก่การติดต่อทางการค้า และทางสังคมเช่นนั้นด้วย
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ยังไม่มีเหตุผลพึงรับฟังได้อย่างเพียงพอ ซึ่งความจำเป็นในการเช่ารถมาทดแทนชั่วคราวนั้น ควรประกอบด้วยปัจจัย ดังนี้
ก) ปัจจัยการใช้งานรถที่แท้จริงก่อนเกิดอุบัติเหตุ และ
ข) ปัจจัยการใช้งานรถที่แท้จริงหลังเกิดเหตุ
เพื่อมาพิจารณาเปรียบเทียบกันถึงความจำเป็นดังกล่าว ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสถาการณ์ความเป็นจริงของแต่ละกรณีด้วย
แต่คดีนี้ ปัจจัยเรื่องสถานะสูงส่งทางสังคมนั้นเสมือนภาพลวงตา ถ้าปล่อยให้เป็นไปในลักษณะนั้นได้ อาจส่งผลทำให้บริษัทประกันภัยจำต้องคิดเบี้ยประกันภัยเพิ่มสูงขึ้นเผื่อไว้ อันจะส่งผลกระทบอย่างมากแก่ประชาชนทั่วไปที่จะต้องมาแบกรับโอกาสความเสี่ยงภัยนี้ได้
อีกทั้งในความเป็นจริง โจทก์ผู้เสียหายเป็นหุ้นส่วนของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ซึ่งมีรถหรูของบริษัทอยู่รวมถึงเจ็ดคันด้วยกัน และรถหรูคันที่เสียหายเป็นเพียงหนึ่งในเจ็ดคันนั้นเอง มิใช่รถยนต์ส่วนตัวของโจทก์ผู้เสียหาย
ภายหลังอุบัติเหตุดังกล่าว โจทก์ผู้เสียหายก็ได้มีการเดินทางไปต่างประเทศบางช่วงด้วย
อย่างไรก็ดี หากแม้นโจทก์ผู้เสียหายจะสามารถหยิบยกเหตุผลอันสมควรมาชักจูงให้ศาลคล้อยตามไปได้ ศาลก็ยังคิดว่า ค่าใช้จ่ายในการเช่ารถมาทดแทนชั่วคราวที่สมเหตุผลควรจะอยู่ที่ประมาณรวม 21,428.57 ปอนด์สเตอร์ลิง (ประมาณ 1,001,982.79 บาท) มากกว่า
ฉะนั้น ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศาลชั้นต้นจึงตัดสินให้โจทก์ผู้เสียหายได้รับค่าสินไหมทดแทน สำหรับค่าเสียหายที่บังเกิดขึ้นรวมทั้งสิ้นเพียง 8,709.50 ปอนด์สเตอร์ลิง (ประมาณ 407,249.25 บาท) เท่านั้น โดยให้ยกฟ้องในส่วนค่าเช่ารถดังกล่าวทั้งหมด
โจทก์ผู้เสียหายอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น
เราจะมาติดตามผลทางคดีในชั้นศาลอุทธรณ์กันสัปดาห์หน้านะครับ
พร้อมกับความหมายของ Credit Hire ซึ่งขอแปลเองว่า “การเช่ารถมาใช้งานทดแทนชั่วคราว” นั้น จะแตกต่างอย่างไรกับค่าเสียหายจากการขาดการใช้ประโยชน์รถยนต์ตามที่ปรากฏอยู่ในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจของบ้านเรา
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ -กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น