วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

เรื่องที่ 210 : การมีชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมหลายราย (Co-insureds) อาจไม่ได้หมายความว่า ทุกรายจะได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกันเสมอไป?

 

(ตอนที่หนึ่ง)

 

เคยเขียนบทความเรื่องที่ 36 : กรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดียว มีผู้เอาประกันภัยหลายคน (Multi-Insureds) ดีหรือไม่? นานมาพอสมควรแล้ว และมีบทความที่เกี่ยวเนื่องอีก ถ้าสนใจลองกลับไปค้นหาอ่านทบทวนดูก็ได้นะครับ

 

เรื่องนี้ก็เป็นอีกหนึ่งอุทาหรณ์ควรค่าแก่ความสนใจเช่นกันครับ

 

ปกติทั่วไป เรามักจะพบเห็นการระบุชื่อผู้เอาประกันภัยหลายรายไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาว่าจ้าง (Contract Works Insurance Policy) หรือบางครั้งอาจเรียกว่า กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับผู้รับเหมา (Contractor’s All Risks Insurance Policy : CAR/EAR) เนื่องด้วยจะมีผู้มีส่วนได้เสียที่อาจเอาประกันภัยได้เข้ามาเกี่ยวข้องหลายราย อย่างน้อย ได้แก่ ผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้าง (หรือผู้รับเหมา) ล่ะ

 

ตามความเข้าใจของคนทั่วไป มักสำคัญว่า ผู้เอาประกันภัยทุกรายควรได้รับสิทธิคุ้มครองเท่าเทียมกัน และหากกระทำผิดต่อกันแล้ว จะไม่สามารถใช้สิทธิไล่เบี้ยระหว่างกันได้ เหมือนดั่งเช่นในตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศเรื่องนี้ ลองมาดูกันสิจะเป็นเช่นนั้นได้หรือไม่?

 

ย้อนหลังกลับไปปี ค.ศ. 2012 สามปีก่อนหน้าที่ประเทศอังกฤษจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลกขึ้นในปี ค.ศ. 2015 ได้มีการวางแผนดำเนินการปรับปรุงสนามที่มีอยู่เดิมเพื่อจะใช้ในการแข่งขัน โดยสมาพันธ์รักบี้ฟุตบอลแห่งประเทศอังกฤษ (English Rugby Football Union (RFU)) ซึ่งเป็นเจ้าภาพ และเจ้าของโครงการได้ว่าจ้างบริษัท CSP ให้ทำการออกแบบระบบท่อร้อยสายไฟฟ้าแรงสูงใหม่ทั่วทั้งสนามแข่งขัน และยังได้ว่าจ้างบริษัท FM Conway ในสถานะผู้รับเหมาหลัก ให้ทำการวางระบบบริการโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการวางท่อสายส่ง (ductwork) ใต้ดินด้วย

 

สัญญาว่าจ้างระหว่าง RFU เจ้าของโครงการกับ FM Conway ผู้รับเหมาหลักได้มีข้อตกลงกันว่า ให้เป็นไปตามสัญญาก่อสร้างฉบับมาตรฐานของคณะกรรมการร่วมเพื่อวินิจฉัย และกำหนดมาตรฐานสัญญาก่อสร้าง แบบทางเลือก ข้อ ค (Joint Contracts Tribunal: JCT Standard Building Contract Option C) สำหรับงานปรับปรุงโครงสร้างเดิม โดยมีหลักเกณฑ์ให้เจ้าของโครงการเป็นผู้จัดทำประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับผู้รับเหมาเอง และให้ผู้รับเหมาหลักเข้ามาเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมด้วย (joint named insured) ฉะนั้น ผู้รับเหมาหลักจึงมิได้นำเอาค่าเบี้ยประกันภัยมาบวกอยู่ในมูลค่างานแต่ประการใด เพราะเข้าใจว่า กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด ฉบับนี้สามารถให้ความคุ้มครองแก่ตนอย่างครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว  

 

บริษัทประกันภัยผู้รับโอนความเสี่ยงภัยนี้จึงได้ออกกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับผู้รับเหมา โดยระบุชื่อทั้งเจ้าของโครงการกับผู้รับเหมาหลักเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมกันตามสิทธิ และส่วนได้เสียของตนที่มีอยู่ (for their respective rights and interests) พร้อมทั้งได้แนบเอกสารแนบท้ายว่าด้วยข้อยกเว้น DE3 ไม่คุ้มครองถึงการออกแบบ แบบแปลน การกำหนดรายละเอียด วัสดุ หรือฝีมือแรงงาน แต่คุ้มครองถึงความเสียหายสืบเนื่องมาจากกรณีดังกล่าว

 

ต่อมาระหว่างการดำเนินงาน ได้ตรวจพบน้ำ และเศษซากหลุดเล็ดรอดเข้าไปอยู่ในท่อสายส่ง ส่งผลทำให้เวลาทำการดึงร้อยสายส่ง สร้างความเสียหายให้แก่สายส่งเหล่านั้นด้วย

 

เจ้าของโครงการในสถานะหนึ่งในผู้เอาประกันภัยร่วมจึงเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทประกันภัยของตน โดยแจกแจงเป็นมูลค่าความเสียหายในส่วนของสายส่ง 3.3 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง (หรือเทียบเท่า 154,794,420 บาท) และค่าแก้ไขข้อบกพร่องของท่อสายส่งอีก 1.1 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง (หรือเทียบเท่า 51,598,140 บาท) รวมเป็นมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 4.4 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง (หรือเทียบเท่า 206,392,560 บาท)

 

บริษัทประกันภัยตกลงยินยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้เฉพาะในส่วนของสายส่งเป็นจำนวนเงินรวม 3 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง (หรือเทียบเท่า 140,722,200 บาท) เท่านั้น เนื่องจากข้อบกพร่องในการออกแบบ และในฝีมือแรงงานนั้น ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท ควรไปเรียกร้องเอากับบริษัท CSP ผู้ออกแบบ และบริษัท FM Conway ผู้รับเหมาหลักแทน

 

เจ้าของโครงการในสถานะหนึ่งในผู้เอาประกันภัยร่วมจึงนำคดีขึ้นสู่ศาล เพื่อเรียกร้องให้บริษัท CSP ผู้ออกแบบ และบริษัท FM Conway ผู้รับเหมาหลักรับผิด

 

โดยเฉพาะรายหลังโต้แย้งว่า ตนเองมีชื่อเป็นหนึ่งในผู้เอาประกันภัยร่วมไม่จำต้องรับผิด และได้รับความคุ้มครองอยู่ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทแล้ว ทั้งไม่อาจรับช่วงสิทธิไล่เบี้ยแก่ตนได้อีก

 

คุณคิดเห็นเช่นไรครับ?

 

สัปดาห์หน้ามาดูผลทางคดีกันครับ ซึ่งได้ต่อสู้กันจนถึงชั้นศาลอุทธรณ์

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ -กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น