เรื่องที่ 210 : การมีชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมหลายราย (Co-insureds) อาจไม่ได้หมายความว่า ทุกรายจะได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกันเสมอไป?
(ตอนที่สอง)
ตัวอย่างคดีศึกษานี้ได้ต่อสู้กันจนขึ้นไปถึงชั้นศาลอุทธรณ์ โดยมีประเด็นข้อพิพาทที่สำคัญ พอสรุปได้ ดังนี้
1) ประเด็นว่าด้วยผู้เอาประกันภัยร่วม (co-insured)
2) ประเด็นว่าด้วยสิทธิในการรับช่วงสิทธิ (subrogation right)
ก) ศาลชั้นต้น
ประเด็นแรก ในการพินิจพิเคราะห์จำต้องอาศัยหนังสือแสดงเจตน์จำนง (letter of intent) กับสัญญาว่าจ้างงาน (contract works) และกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทของคู่กรณีมาร่วมพิจารณาประกอบกันกับหลักกฎหมายว่าด้วยตัวการกับตัวแทน ซึ่งจะต้องเข้าเงื่อนไขตามกฎหมายดังต่อไปนี้เสียก่อนเป็นลำดับแรก
1.1) RFU เจ้าของโครงการมีอำนาจในการจัดทำประกันภัยเผื่อให้ในนามของ FM Conway ผู้รับเหมาหลักหรือไม่?
1.2) RFU เจ้าของโครงการมีเจตนาในการจัดทำประกันภัยเผื่อให้ในนามของ FM Conway ผู้รับเหมาหลักหรือไม่?
1.3) กรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทไม่ได้ส่งผลทำให้ FM Conway ผู้รับเหมาหลักมิได้รับความคุ้มครองหรือเปล่า?
สำหรับสองข้อแรก คู่สัญญาว่าจ้างตกลงให้ยึดถือสัญญาก่อสร้างมาตรฐาน แบบทางเลือก ข้อ ค (Joint Contracts Tribunal: JCT Standard Building Contract Option C) สำหรับงานปรับปรุงโครงสร้างเดิมเป็นเกณฑ์ โดยมีหลักเกณฑ์ให้เจ้าของโครงการเป็นผู้จัดทำประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับผู้รับเหมาเอง และให้ผู้รับเหมาหลักเข้ามาเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมด้วย (joint named insured) ซึ่งได้มีการกำหนดคำนิยามของผู้เอาประกันภัยร่วมในที่นี้กำกับไว้เป็นพิเศษ หมายความถึง “กรมธรรม์ประกันภัยซึ่งรวมทั้งผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้างเข้ามาเป็นผู้เอาประกันภัยแบบรวม (composite insured) โดยที่ผู้รับประกันภัยไม่มีสิทธิไล่เบี้ยแก่ผู้เอาประกันภัยดังระบุชื่อรายใด …….”
ฉะนั้น หลีกเลี่ยงที่จำต้องไปทำความเข้าใจถึงรูปแบบของการประกันภัยร่วม ซึ่งมีอยู่สองรูปแบบด้วยกัน กล่าวคือ
(1) กรมธรรม์ประกันภัยแบบควบ (Joint Policy) ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายอย่างเดียวกันหลายคนต่อวัตถุที่เอาประกันภัยเดียวกัน ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดียวกัน โดยทุกอย่างถือรวมกันเป็นหนึ่งเดียว
(2) กรมธรรม์ประกันภัยแบบรวม (Composite Policy) ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายที่แตกต่างกันหลายคนต่อวัตถุที่เอาประกันภัยเดียวกัน ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดียวกัน โดยมีความแตกต่างกันทั้งแง่ของสิทธิ และข้อผูกพัน การกระทำผิดของคู่สัญญาประกันภัยฝ่ายหนึ่งจะไม่ส่งผลกระทบแก่อีกฝ่ายหนึ่ง นั่นหมายความถึง ในโครงการก่อสร้าง หากผู้รับจ้าง/ผู้รับเหมาหลักกระทำผิดเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ประกันภัย ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิที่จะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ว่าจ้าง/เจ้าของโครงการ
ด้วยเหตุผลดังกล่าว แม้คำตอบของสองข้อแรก คือ ใช่ แต่สิทธิกับหน้าที่ที่จะได้รับตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทมีความไม่เท่าเทียมกัน เช่นเดียวกับหลักกฎหมายว่าด้วยตัวการกับตัวแทน
อีกทั้งตัวกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทเองยังระบุโดยชัดแจ้งไม่คุ้มครองถึงข้อบกพร่องในการออกแบบ แบบแปลน การกำหนดรายละเอียด วัสดุ หรือฝีมือแรงงานของผู้รับเหมา (ข้อยกเว้น DE3) ส่งผลทำให้คำตอบของข้อที่สามออกมาเป็นลบ
ข้อโต้แย้งของฝ่ายผู้รับจ้าง/ผู้รับเหมาหลักที่ตนควรได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกันทุกอย่างในสถานะผู้เอาประกันภัยร่วมนั้น จึงคลาดเคลื่อน เพราะไม่ปรากฏหลักฐานทางเอกสารใด ๆ มายืนยันสนับสนุนได้เลย
ส่วนประเด็นข้อที่สองว่าด้วยสิทธิในการรับช่วงสิทธิของบริษัทประกันภัยซึ่งได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนบางส่วนอันได้รับความคุ้มครองให้แก่ฝ่ายผู้ว่าจ้าง/เจ้าของโครงการไปแล้ว ในรูปแบบของผู้เอาประกันภัยรวม (composite insured) นั้น บริษัทประกันภัยมีสิทธิจะกระทำได้
ศาลชั้นต้นจึงตัดสินให้ฝ่ายผู้รับจ้าง/ผู้รับเหมาหลักรับผิดตามฟ้อง
ฝ่ายผู้รับจ้าง/ผู้รับเหมาหลักยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ข) ศาลชั้นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาเห็นพ้องกับคำพิพากษาดังกล่าวของศาลชั้นต้น
(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี FM Conway Limited (Appellant) v The Rugby Football Union, Royal & Sun Alliance Insurance PLC and Clark Smith Partnership Limited (Respondents) [2023] EWCA Civ 418)
หมายเหตุ
การทำความเข้าใจถึงข้อแตกต่างระหว่างสองรูปแบบของการประกันภัยร่วมข้างต้นถือเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะคำกล่าวกว้าง ๆ ลอย ๆ อาจสร้างปัญหาภายหลังเสมือนดั่งตัวอย่างคดีศึกษานี้ได้
จริงอยู่ บางครั้งอาจพบการเขียนข้อสละสิทธิไล่เบี้ยอย่างชัดแจ้งไว้ในบางเอกสารกรมธรรม์ประกันภัยก็ตามที แต่ก็ควรไปอ่านวิเคราะห์ให้ดีถึงขอบเขตของถ้อยคำเช่นว่านั้นด้วย
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ -กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น