วันพุธที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2567

เรื่องที่ 202 : การแปลความหมายข้อยกเว้นการปนเปื้อน (Contamination) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก (Public Liability Insurance Policy)

 

ตัวอย่างคดีศึกษาเรื่องนี้มาจากประเทศแอฟริกาใต้

 

บริษัทประกันภัยรายหนึ่งได้ออกกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก (Public Liability Insurance Policy) ให้แก่บริษัท E. ซึ่งเป็นผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จัดจำหน่ายหมึกพิมพ์ และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์ชั้นนำแห่งหนึ่งในประเทศแอฟริกาใต้

 

บริษัท E. ได้จัดจำหน่ายหมึกพิมพ์ให้แก่ลูกค้ารายใหญ่เจ้าหนึ่ง ซึ่งเป็นโรงงานผลิตถุงพลาสติกเรียกว่า P. และลูกค้าเจ้านี้ก็ได้นำไปใช้ประกอบการผลิตถุงพลาสติกส่งออกไปให้แก่ผู้นำเข้าที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีเงื่อนไขข้อตกลงพิเศษที่สำคัญระหว่างกันว่า ถุงพลาสติกเหล่านั้นจะต้องปลอดสารโลหะอันตราย เช่น สารตะกั่ว เป็นต้น ทั้งนี้ เงื่อนไขข้อตกลงดังกล่าวได้รับการตกลงยอมรับเป็นลายลักษณ์อักษรโดยบริษัท E. ด้วยเช่นกัน

 

ในการผลิตถุงพลาสติกล็อตหนึ่ง ณ โรงงานของ P. ซึ่งมีพนักงานของบริษัท E. เข้าไปช่วยในการควบคุมการผลิต ได้นำหมึกพิมพ์ที่มีสารตะกั่วหลงเหลือจากการผลิตของลูกค้ารายอื่นของ P. ไปผสมกับหมึกพิมพ์ปลอดสารตะกั่วซึ่งได้ถูกจัดเตรียมไว้เป็นพิเศษ สำหรับการผลิตถุงพลาสติกเฉพาะเพื่อการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา โดยภายหลังจากการสอบสวนพนักงานรายนั้นของบริษัท E. อ้างว่า ได้ทำไปด้วยเจตนาดีเพื่อช่วยให้โรงงาน P. สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้

 

แต่การณ์กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อถุงพลาสติกล็อตนี้ถูกนำเข้าถึงมือของผู้นำเข้าในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ตรวจพบสารตะกั่วเจือปนอยู่ จึงตีกลับสินค้านั้นทั้งล็อต พร้อมกับเรียกร้องเงินคืน และค่าเสียหายอื่น ๆ อีกด้วยจากโรงงาน P.

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ โรงงาน P. ได้เรียกร้องค่าเสียหายต่อจากบริษัท E. และบริษัท E. ก็ได้มาเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยของตนชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ในนามของตนอีกทอดหนึ่งตามความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท แต่ได้ถูกบริษัทประกันภัยแห่งนั้นตอบปฏิเสธ จึงทำให้บริษัท E. ไม่มีทางเลือกอื่น จำต้องนำคดีฟ้องร้องขึ้นสู่ศาล

 

ในชั้นนำสืบพยาน ปรากฏหลักฐานแก่ศาลว่า กรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท คือ กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก แบบเกณฑ์การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน (claims made basis) โดยมีข้อตกลงคุ้มครองเขียนว่า

 

บริษัท (ประกันภัย) จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามผู้เอาประกันภัย สำหรับความรับผิดตามกฎหมายของผู้เอาประกันภัยที่มีต่อผู้เสียหาย ซึ่งได้มีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนขึ้นเป็นครั้งแรกแก่ผู้เอาประกันภัย ในระหว่างระยะเวลาประกันภัย สำหรับการบาดเจ็บทางร่างกาย หรือความเสียหายต่อทรัพย์สินที่จับต้องได้ อันเกิดขึ้นเนื่องจากการประกอบธุรกิจที่เอาประกันภัย ภายในอาณาเขตความคุ้มครอง ณ วันที่ หรือภายหลังจากวันที่คุ้มครองย้อนหลังดังระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย

 

ทั้งนี้ มีข้อยกเว้นทั่วไประบุว่า

 

บริษัท (ประกันภัย) จะไม่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย สำหรับกรณีดังต่อไปนี้

 

........

 

7. ความรับผิดใด ๆ อันมีสาเหตุมาจาก หรือเกิดขึ้นมาจากการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ในกรณี

........

 

7.5 ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ถูกจัดจำหน่าย หรือถูกจัดส่งโดยผู้เอาประกันภัย

........

 

10. การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน อันเกิดขึ้นเนื่องมาจาก

10.1 ความรับผิด อันมีสาเหตุโดยตรง หรือโดยอ้อมมาจากการรั่วไหล (seepage) ของมลภาวะ (pollution) หรือสิ่งปนเปื้อน (contamination) โดยมีเงื่อนไขว่า ข้อยกเว้นนี้จะไม่มีผลใช้บังคับ หากปรากฏว่า การรั่วไหลของมลภาวะ หรือสิ่งปนเปื้อนเช่นนั้นได้เกิดขึ้นมาจากเหตุการณ์ที่บังเกิดขึ้นโดยฉับพลัน และโดยไม่ได้เจตนา

 

เป็นที่ชัดเจนว่า กรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทนี้ไม่ได้คุ้มครองถึงความรับผิดเนื่องจากผลิตภัณฑ์ (Product Liability) แต่อย่างไรก็ดี ได้มีการตกลงขยายความคุ้มครองถึงความรับผิดเนื่องจากผลิตภัณฑ์เผื่อเอาไว้เป็นกรณีพิเศษตั้งแต่แรกแล้ว โดยมีเงื่อนไข และข้อยกเว้นเฉพาะเพิ่มเติมกำหนดไว้ ดังนี้

 

ไม่ว่าจะได้มีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นใดในข้อยกเว้นทั่วไป ข้อที่ 7.5 แล้วก็ตาม ให้เป็นที่เข้าใจ และตกลงกันว่า บริษัท (ประกันภัย) จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย อันมีสาเหตุมาจากผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ถูกจัดจำหน่าย หรือถูกจัดส่งโดยผู้เอาประกันภัย ณ สถานที่แห่งใดก็ตาม ภายในอาณาเขตความคุ้มครองดังระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย

......

 

ข้อยกเว้น

......

 

การขยายความคุ้มครองนี้จะไม่ได้คุ้มครองถึงความรับผิดดังต่อไปนี้

......

 

3) อันเกิดขึ้นมาจากการออกแบบ สูตร แผนผัง หรือข้อกำหนดรายละเอียด (เว้นเสียแต่เนื่องมาจากความประมาทเลินเล่ออันสืบเนื่องมาจากการกระทำเช่นนั้น) การดำเนินการ หรือการให้คำแนะนำของผู้เอาประกันภัย หรือของบุคคลอื่นในนามของผู้เอาประกันภัย หรือ

4) อันเกิดขึ้นมาจากการไร้ประสิทธิภาพ หรือการไม่กระทำการ หรือการปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดรายละเอียด (เว้นเสียแต่เนื่องมาจากความประมาทเลินเล่ออันสืบเนื่องมาจากการกระทำเช่นนั้น) หรือการทำให้เป็นไปตามภาระหน้าที่ที่ได้กำหนดเอาไว้ หรือได้รับรองเอาไว้ แต่ทั้งนี้ ข้อยกเว้นนี้จะไม่มีผลใช้บังคับแก่การบาดเจ็บทางร่างกาย หรือความเสียหายต่อทรัพย์อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากกรณีดังกล่าว”

 

ข้อต่อสู้ที่สำคัญของฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยมาจากข้อยกเว้นทั่วไป ข้อที่ 10.1 ข้างต้น ตรงที่ว่า การเรียกร้องค่าเสียหายของโรงงาน P. ที่มีต่อบริษัท E. ฝ่ายโจทก์นั้น เกิดขึ้นเนื่องมาจากความรับผิดโดยตรง หรือโดยอ้อมที่มีสาเหตุจากการปนเปื้อนของหมึกพิมพ์ที่มีสารตะกั่ว ซึ่งพจนานุกรมทั่วไปได้ให้ความหมายของการปนเปื้อนว่า หมายความถึง การทำให้ไม่บริสุทธิ์โดยทางกายภาพจนทำให้เกิดอันตราย ...

    

ขณะที่ข้อโต้แย้งของฝ่ายโจทก์ บริษัท E. ได้มองว่า สิ่งที่ข้อยกเว้นทั่วไป ข้อที่ 10.1 เขียนไว้นั้น มีจุดประสงค์เพื่อไม่คุ้มครองถึงการปนเปื้อนจากสิ่งอื่น ในทำนองทำให้เสียไปใช้ประโยชน์ไม่ได้เลยมากกว่า มิใช่มีลักษณะเป็นการผสมปนกันระหว่างหมึกพิมพ์ด้วยกันเอง แม้จะผิดสูตรผสมก็ตามดังกล่าว ซึ่งได้เกิดขึ้นมาจากความประมาทเลินเล่อของพนักงานของฝ่ายโจทก์ บริษัท E. เอง อีกทั้งก็ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อตัวทรัพย์สินนั้นเอง แต่มีลักษณะเป็นความเสียหายสืบเนื่อง อันจะได้รับความคุ้มครองจากตอนท้ายของข้อยกเว้น ข้อที่ 4) ของการขยายความคุ้มครองถึงความรับผิดเนื่องจากผลิตภัณฑ์

 

ศาลชั้นต้นเห็นพ้องกับข้อโต้แย้งของฝ่ายโจทก์ บริษัท E. และตัดสินให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท

 

เมื่อคดีถูกอุทธรณ์มาถึงชั้นศาลอุทธรณ์

 

ศาลอุทธรณ์กลับมีความเห็นแตกต่างออกไป โดยวินิจฉัยว่า

 

แม้นว่า “มลภาวะ” กับ “สิ่งปนเปื้อน” จะมีความหมายคล้ายคลึงกัน แต่คำว่า “การรั่วไหล” นั้นกลับหมายความถึง การรั่วซึมออกมาทีละน้อย โดยที่อาจก่อให้เกิดมลภาวะ หรือสิ่งปนเปื้อนหรือไม่ก็ได้ ฉะนั้น ทั้งสามคำเหล่านี้ไม่ได้ให้ความหมายถึงขนาดต้องทำให้เสียไปใช้ประโยชน์ไม่ได้เลยดังที่กล่าวอ้างไว้

 

ส่วนข้อโต้แย้งที่ว่า จะได้รับความคุ้มครองจากตอนท้ายของข้อยกเว้น ข้อที่ 4) ของการขยายความคุ้มครองถึงความรับผิดเนื่องจากผลิตภัณฑ์ เพราะส่งผลทำให้ข้อยกเว้นทั่วไปของข้อที่ 10.1 สิ้นผลใช้บังคับไปแล้วนั้น ศาลอุทธรณ์ก็ไม่เห็นพ้องด้วย เนื่องจากไม่ปรากฏข้อความอย่างชัดเจนว่า การขยายความคุ้มครองดังกล่าวจะส่งผลทำให้ข้อยกเว้นทั่วไปนั้นปราศจากผลใช้บังคับโดยเฉพาะเจาะจง ดังนั้น ข้อยกเว้นเช่นว่านั้นจึงคงยังมีผลใช้บังคับอยู่ตามปกติ

 

พิพากษากลับให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยไม่ต้องรับผิด เนื่องมาจากกรณีเข้าข้อยกเว้นทั่วไป ข้อที่ 10.1 เป็นความรับผิดอันมีสาเหตุโดยตรง หรือโดยอ้อมมาจากการปนเปื้อน

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี St Paul Insurance Co SA Ltd v Eagle Ink System (Pty) Ltd (300/08) [2009] ZASCA 53 (27 May 2009) )

 

ข้อสังเกต

 

กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกฉบับมาตรฐานบ้านเรา อาจเขียนข้อยกเว้นประเด็นดังกล่าวแตกต่างออกไป แต่เชื่อว่า ตัวอย่างคดีศึกษาข้างต้นคงสามารถให้แนวทางในการวิเคราะห์ถ้อยคำเช่นว่านั้นได้บ้างนะครับ

 

หมวดที่ 3 ข้อยกเว้น

 

กรมธรรม์ประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองรวมถึง

 

1. ………

2. ความรับผิดใด ๆ ซึ่งเกิดจาก หรือสืบเนื่องจาก

2.1 ………

2.4 สินค้า หรือสิ่งของใด ๆ ซึ่งผลิต ขาย จัดหา ซ่อมแซม บริการ หรือดำเนินการโดยผู้เอาประกันภัย หรือผู้กระทำการแทนผู้เอาประกันภัย

3. ……..

5. ความรับผิดตามกฎหมายซึ่งเกิดขึ้นจากการกระทำความเสียหายใด ๆ อันเกิดจาก หรือเกี่ยวเนื่องจาก หรือเป็นผลโดยตรง หรือโดยอ้อมจากฝุ่น ควัน ไอน้ำ เขม่า กรด ด่าง สารเคมี หรือกากเคมีที่เป็นพิษ ของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซที่เป็นพิษ สิ่งปฏิกูล หรือสิ่งที่ทำให้ระคายเคือง มลพิษ หรือมลภาวะใด ๆ

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/  

 

 

วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2567

เรื่องที่ 201 : ตัวอย่างคดีศึกษาเงื่อนไขพิเศษการทำงานที่ใช้ความร้อน (Hot Work Special Clause)

 

ณ วันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ. 2016 ได้เกิดไฟไหม้ขึ้นที่โครงการก่อสร้างโรงแรมแห่งหนึ่ง ในชานเมืองแอเบอร์ดีนของสกอตแลนด์

 

จากการตรวจสอบพบว่า จุดที่เกิดเหตุ เพิ่งมีคนงานใช้เครื่องพ่นไฟ (blowtorch) ทำงานที่ใช้ความร้อนตรงบริเวณหลังคาพื้นเรียบ (flat roof) ของอาคารโรงแรมนั้น หลังจากทำงานเสร็จไม่นานก็ได้เกิดไฟไหม้ขึ้นมาลุกลามสร้างความเสียหายอย่างมาก

 

ต่อมาวันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ. 2016 ผู้ว่าจ้างเจ้าของโครงการโรงแรมแห่งนั้นได้ยื่นฟ้องเรียกร้องให้ผู้รับเหมารับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเงินประมาณเก้าล้านปอนด์ (หรือเทียบเท่าประมาณ 412 ล้านกว่าบาท)

 

เนื่องด้วยผู้รับเหมารายนี้ได้มีการทำประกันภัยคุ้มครองงานโครงการนี้เอาไว้แล้ว จึงเรียกให้บริษัทประกันภัยของตนเข้ามารับผิดชอบแทน แต่กลับได้รับคำปฏิเสธโดยกล่าวอ้างว่า

 

ก) กรณีเข้าข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทที่ระบุว่า ไม่คุ้มครองกรณีเมื่อผู้เอาประกันภัยมีการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความร้อน และ

 

ข) กรณีไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขบังคับก่อนความรับผิดของบริษัทประกันภัย ภายใต้เงื่อนไขพิเศษว่าด้วยการทำงานที่ใช้ความร้อน (Hot Work Special Clause) ที่ได้แนบไว้เพิ่มเติมเป็นส่วนหนึ่งของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท โดยมีใจความพอสรุป คือ หากมีการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความร้อนจะต้องจัดวางมาตรการป้องกันตามสมควรเสียก่อน เป็นต้นว่า ต้องใช้วัสดุไม่ติดไฟกั้นบริเวณนั้น จัดเตรียมผ้าห่มกันไฟ อุปกรณ์ดับเพลิง พร้อมกับยามคอยเฝ้าดูแลระหว่างทำงานกับหลังทำงานเสร็จแล้ว

 

แต่ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตรวจพบว่า มีเพียงคนงานคนเดียวทำงานอยู่เท่านั้น โดยปราศจากมาตรการป้องกันตามสมควรใด ๆ เลย

 

ฝ่ายผู้รับเหมาผู้เอาประกันภัยตอบโต้ว่า

 

- ได้ทำงานโดยใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว

 

- เหตุไฟไหม้ที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานใช้ความร้อน และ

 

- อุปกรณ์ดับเพลิงถูกจัดเตรียมพร้อมไว้แล้วอยู่ภายในรถตู้ที่จอดอยู่บริเวณโครงการด้วยเช่นเดียวกัน

 

นอกจากนี้ ข้อยกเว้นที่หยิบยกมาอ้างอิงนั้นจะมีผลใช้บังคับได้ต่อเมื่อได้เกิดความสะเพร่า (recklessness) ขึ้นมาเท่านั้น ทั้งจะต้องเป็นสาเหตุโดยตรงมาจากข้อยกเว้นดังกล่าวนั้นด้วย

 

ข้อโต้แย้งต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นของฝ่ายผู้เอาประกันภัย ไม่อาจโน้มน้าวให้ศาลชั้นต้นรับฟังเป็นเหตุเป็นผลได้ เพราะศาลท่านมองว่า ทั้งข้อยกเว้นกับเงื่อนไขพิเศษดังกล่าวมีจุดประสงค์ชัดเจนที่จะจำกัดขอบเขตความคุ้มครอง แม้จะมีการอนุโลมให้ทำงานเกี่ยวกับการใช้ความร้อนได้ก็ตาม แต่ก็จำต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดเช่นว่านั้นอย่างเคร่งครัดครบถ้วนถูกต้องทุกประการด้วยเช่นเดียวกัน

 

คดีนี้ ฝ่ายผู้เอาประกันภัยได้พยายามยื่นคำร้องขออุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่คำร้องนั้นได้ถูกตีตกไป คดีนี้จึงสิ้นสุดแค่ศาลชั้นต้น

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Aspen Insurance UK Ltd & Liberty Mutual Insurance Europe Ltd v Sangster and Annand (2018))

 

ข้อสังเกต

 

ที่จริงคดีนี้มีการจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยแยกเป็นสองฉบับ ได้แก่ ฉบับคุ้มครองตัวงานก่อสร้าง และฉบับคุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก ซึ่งในทางปฏิบัติอาจเลือกจัดทำแยกฉบับ หรือรวมเป็นฉบับเดียวกันดั่งเช่นของบ้านเราก็ได้

 

แม้นกระนั้น ไม่น่าจะก่อให้เกิดผลทางคดีแตกต่างกัน

 

เมื่อมีการแนบเงื่อนไขพิเศษว่าด้วยการใช้ความร้อน หรือของบ้านเรามีชื่อเรียกเป็นทางการว่า “แบบ CWI 015 เอกสารแนบท้ายว่าด้วยอุปกรณ์ดับเพลิง และมาตรการป้องกันอัคคีภัยในสถานที่ก่อสร้าง (Special Conditions Concerning Fire-Fighting Facilities and Fire Safety on Construction Sites Clause)” ก็ควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดจะปลอดภัยกว่า ทั้งผู้ว่าจ้าง แม้จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง แต่ก็ควรกำชับดูแลผู้รับเหมาให้ปฏิบัติตามอย่างครบถ้วนถูกต้องด้วย เพราะมิฉะนั้น หากเกิดอุบัติเหตุลักษณะนี้ขึ้นมา จะพลอยเสียเงิน เสียเวลาคล้ายกับตัวอย่างคดีศึกษานี้

 

อย่างไรก็ดี ต่อให้ปราศจากเอกสารแนบท้ายนี้กำกับไว้ เชื่อว่า ไม่น่าจะส่งผลทำให้บริษัทประกันภัยจะต้องเข้ามารับผิดชอบแทนให้ได้นะครับ เพราะอาจผิดเงื่อนไขอื่นด้วย ลองไปอ่านดูรายละเอียดในกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาว่าจ้าง (Contract Works Insurance Policy) อีกทีก็ได้ครับ   

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นัราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/  

 

 

วันจันทร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2567

เรื่องที่ 200 :  เงื่อนไขการประกันภัยต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (Under Insured Condition under Business Interruption Insurance Policy)

 

(ตอนที่สอง)

 

ตอนที่ผ่านมา ทิ้งประเด็นข้อทักท้วงเพิ่มเติมของฝ่ายบริษัทประกันภัยรายนี้ที่ว่า  ฝ่ายผู้เอาประกันภัยควรจะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนน้อยกว่านั้นลงไปอีก เพราะเหตุที่ได้ทำประกันภัยต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น โดยหยิบยกข้อกำหนดความคุ้มครองว่าด้วยการประกันภัยต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็นมากล่าวอ้าง ดังนี้

 

แต่ทั้งนี้ ถ้าหากจำนวนเงินเอาประกันภัยภายใต้รายการที่เอาประกันภัยน้อยกว่าจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ควรจะเป็น ซึ่งคำนวณได้จากการนำอัตรากำไรขั้นต้นคูณกับยอดรายได้รายปี หรือ (คูณกับยอดรายได้รายปีที่เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนตามระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสูงสุดที่เกินกว่า 12 เดือน) แล้ว จำนวนเงินที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจะลดลงตามส่วน

 

ฉะนั้น ในกรณีนี้นำตัวเลขต่าง ๆ ที่คำนวณได้มาแทนค่าออกมาได้เป็น

 

จำนวนเงินเอาประกันภัย สำหรับกำไรขั้นต้น คือ 3 ล้านแรนด์แอฟริกาใต้ (หรือเทียบเท่าประมาณ 5.6 ล้านบาท)

 

ยอดรายได้รายปีที่คาดการณ์ คือ 9,058,764 แรนด์แอฟริกาใต้ (หรือเทียบเท่าประมาณ 17 ล้านบาท)

 

อัตรากำไรขั้นต้น คือ 57%

 

จำนวนเงินเอาประกันภัยที่ควรจะทำ คือ 

 9,058,764 x 57%                               =   5,163,495.48

 

ถือเป็นการทำประกันภัยต่ำกว่าที่ควรจะต้องทำ 

  3,000,000                                        =   58%

5,163,495.48

 

ค่าสินไหมทดแทนที่ควรจะชดใช้ คือ 2,651,588 แรนด์แอฟริกาใต้ (หรือเทียบเท่าประมาณ 5 ล้านบาท)

 

ค่าสินไหมทดแทนที่ควรจะได้รับ คือ  

2,651,588 x 58%                                =   1,537,921.04

 

คดีนี้ได้ต่อสู้กันถึงชั้นศาลอุทธรณ์ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการทำประกันภัยต่ำว่ามูลค่าที่ควรจะทำ แต่ทั้งสองชั้นศาลล้วนมีความเห็นพ้องไปในแนวทางเดียวกันว่า เมื่อพิจารณาคำจำกัดความของยอดรายได้รายปีกับยอดรายได้มาตรฐานซึ่งเขียนว่า

 

ยอดรายได้รายปี (Annual Turnover) หมายความถึง ยอดรายได้ระหว่างระยะเวลา 12 เดือนโดยนับย้อนหลังจากวันที่เกิดเหตุความเสียหาย

 

ยอดรายได้มาตรฐาน (Standard Turnover) หมายความถึง ยอดรายได้ที่อยู่ในช่วงระยะเวลาตรงกันกับระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนซึ่งอยู่ในช่วง 12 เดือนโดยนับย้อนหลังจากวันที่เกิดเหตุความเสียหาย ซึ่งได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสมแล้วในกรณีที่ระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่า 12 เดือน

 

ตรงข้อความที่ขีดเส้นใต้ล้วนแสดงความหมายคล้ายคลึงกันมาก

 

ถ้านำอัตรากำไรขั้นต้นไปคูณกับยอดรายได้ตามจริงที่ปรับปรุงแล้ว จะได้ผลลัพธ์

 

4,406,855 x 57%                                =   2,511,907.35

 

ซึ่งผลลัพธ์นั้นจะไม่ได้สูงกว่าจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ได้ทำไว้เลย

 

ทั้งสองชั้นศาลจึงตัดสินไม่ให้นำข้อกำหนดความคุ้มครองมาใช้บังคับในคดีนี้ โดยให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยชดใช้ตามค่าสินไหมทดแทนที่ควรจะต้องชดใช้ กล่าวคือ 2,651,588 แรนด์แอฟริกาใต้ (หรือเทียบเท่าประมาณ 5 ล้านบาท)

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Chem Alum (Pty) Ltd v. Mutual & Federal Insurance Co., Ltd [2006] JOL 16404 (D))

 

ข้อสังเกต

 

คดีศึกษานี้มีการอ้างอิงตัวเลขค่อนข้างสับสนพอสมควร แต่ใจความสำคัญจะไปอยู่ที่ถ้อยคำของคำจำกัดความระหว่างยอดรายได้รายปี (Annual Turnover) กับยอดรายได้มาตรฐาน (Standard Turnover) มากกว่า

 

ส่วนตัวแรกเริ่มที่พยายามศึกษาเรียนรู้การประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก พออ่านแล้ว พบว่าทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างสองความหมายเหล่านี้ได้ลำบากมาก  เพราะแทบจะไม่เห็นแตกต่างได้

 

ครั้นต่อมาได้ศึกษาค้นคว้ามากขึ้น จึงค่อย ๆ สามารถจำแนกแยกแยะได้ ทั้งยังได้รับรู้อีกด้วยว่า

 

ยอดรายได้รายปี (Annual Turnover) นั้น มีจุดประสงค์เพื่อใช้ตรวจสอบการทำประกันภัยต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะทำ

 

ส่วนยอดรายได้มาตรฐาน (Standard Turnover) นั้น มีจุดประสงค์เพื่อใช้ตรวจสอบยอดรายได้ที่ขาดหายไป

 

สงสัยเหมือนกันที่ในคดีนี้ ฝ่ายบริษัทประกันภัยกลับนำตัวเลขของยอดรายได้มาตรฐานมาอ้างอิงแทน

 

แม้การประกันภัยประเภทนี้จะได้ถูกคิดค้นมานานร่วมหลายร้อยปีแล้ว แต่ก็ยังค้นพบข้อบกพร่องอยู่บ้าง

 

ดังนั้น หลักการนั้นมีอยู่แท้แน่นอน เพียงแต่จะสามารถนำไปใช้บังคับได้อย่างแท้จริงไหม? นั่นคงเป็นเรื่องที่ต้องเผชิญกันต่อไปนะครับ

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นัราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/  

 

 

วันจันทร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2567

เรื่องที่ 200 : เงื่อนไขการประกันภัยต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (Under Insured Condition under Business Interruption Insurance Policy)

 

(ตอนที่หนึ่ง)

 

พจนานุกรมศัพท์ประกันภัย ฉบับราชบัณฑิตยสภา พิมพ์ครั้งที่ 6 (แก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ. 2560 ให้คำนิยามถ้อยคำที่เกี่ยวข้องไว้ ดังนี้

 

การประกันภัยต่ำกว่ามูลค่า (Under Insurance) หมายความถึง การประกันภัยซึ่งจำนวนเงินเอาประกันภัยน้อยกว่ามูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สินนั้น ผลของการประกันภัยต่ำกว่ามูลค่าจะถือว่า ผู้เอาประกันภัยจะต้องแบกรับความเสียหายไว้เองด้วย ในส่วนที่ทำประกันภัยไว้ไม่เต็มมูลค่าทำให้ผู้เอาประกันภัยได้รับค่าสินไหมทดแทนน้อยกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงตามหลักการเฉลี่ย (ดู average 1. ประกอบ)

 

ข้อกำหนดการเฉลี่ยค่าเสียหาย (Average Clause) หมายความถึง ข้อกำหนดในกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินที่ให้มีการเฉลี่ยความรับผิดระหว่างผู้รับประกันภัยกับผู้เอาประกันภัย ในกรณีที่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยสียหายบางส่วน และมีการเอาประกันภัยไว้ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สิน โดยให้ถือว่า ผู้เอาประกันภัยเป็นผู้รับประกันภัยเอง ในส่วนที่ทำประกันภัยไว้ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สิน และจำนวนเงินที่ผู้รับประกันภัยชดใช้จะลดลงตามส่วนตามวิธีการคำนวณดังนี้

 

ค่าสินไหมทดแทน = จำนวนเงินเอาประกันภัย x มูลค่าความเสียหาย

                          มูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สิน

 

โดยปกติมักจะคุ้นเคย และพบเห็นเงื่อนไข/ข้อกำหนดข้างต้นเหล่านี้ได้ในการประกันภัยทรัพย์สินทั่วไปทุกชนิด

 

แต่กับกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก ซึ่งจัดเป็นการประกันภัยทรัพย์สินรูปแบบหนึ่ง กลับไม่ใคร่คุ้นเคยกันมากนัก ทั้งที่มีเขียนเอาไว้เช่นเดียวกัน ภายใต้ข้อกำหนดความคุ้มครองเฉพาะ สำหรับการประกันภัยกำไรขั้นต้น แบบจำนวนเงินเอาประกันภัย วิธีผลต่าง (Specification Wordings: Gross Profit – Sum Insured: Difference Basis) ซึ่งระบุว่า

 

แต่ทั้งนี้ ถ้าหากจำนวนเงินเอาประกันภัยภายใต้รายการที่เอาประกันภัยน้อยกว่าจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ควรจะเป็น ซึ่งคำนวณได้จากการนำอัตรากำไรขั้นต้นคูณกับยอดรายได้รายปี หรือ (คูณกับยอดรายได้รายปีที่เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนตามระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสูงสุดที่เกินกว่า 12 เดือน) แล้ว จำนวนเงินที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจะลดลงตามส่วน

 

โดยไม่มีการเขียนสูตรการคำนวณกำกับไว้อย่างชัดเจน ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า

 

ก) จะมีผลใช้บังคับได้จริงไหม? และ

 

ข) จะใช้สูตรคำนวณเช่นไร?

 

งั้นเราลองมาพิจารณาตัวอย่างคดีศึกษาจากประเทศแอฟริกาใต้เรื่องนี้เป็นแนวทางกันดูนะครับ

 

ผู้ประกอบการโรงงานแห่งหนึ่งได้จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักฉบับพิพาทไว้ โดยมีเงื่อนไขความคุ้มครองที่สำคัญ ดังนี้

 

ระยะเวลาเอาประกันภัยตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1999 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม ค.ศ. 2000 (เข้าใจว่า เพื่อให้ความคุ้มครองสิ้นสุดลงพร้อมกับกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สิน) และ

 

ระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสูงสุด (maximum indemnity period) 12 เดือน

 

จำนวนเงินเอาประกันภัย สำหรับกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 3 ล้านแรนด์แอฟริกาใต้ (หรือเทียบเท่าประมาณ 5.6 ล้านบาท)  

 

ต่อมา ได้เกิดมีไฟไหม้โรงงานเกิดขึ้น ณ วันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 2000 สร้างความเสียหายบางส่วนแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย และส่งผลทำให้การประกอบกิจการต้องหยุดชะงักลงไปชั่วคราวเป็นระยะเวลาสองเดือน แต่ได้สร้างผลกระทบต่อความสูญเสียทางการเงินจากผลกำไรที่คาดหวังไว้ อันเนื่องมาจากการลดลงไปของยอดรายได้ กว่าจะกลับคืนสู่สถานะทางการเงินดังคาดหวังไว้นั้นได้ ก็ใช้ระยะเวลานานเกินกว่า 12 เดือน นับแต่วันที่เกิดเหตุไฟไหม้นั้นเอง

 

ฉะนั้น ผู้เอาประกันภัยจึงได้ยื่นฟ้องเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยรายนี้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัย 3 ล้านแรนด์แอฟริกาใต้ (หรือเทียบเท่าประมาณ 5.6 ล้านบาท)  

 

ฝ่ายบริษัทประกันภัยรายนี้ได้ตอบโต้ว่า เนื่องด้วยข้อกำหนดความคุ้มครองนี้ได้กำหนดสูตรการคำนวณค่าสินไหมทดแทนเอาไว้ เวลาเมื่อเกิดความสูญเสียทางการเงิน ดังนี้

 

“การประกันภัยภายใต้รายการที่ 1 จะให้ความคุ้มครองเฉพาะการสูญเสียกำไรขั้นต้น อันเนื่องมาจาก () การลดลงของยอดรายได้และ () การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยบริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ดังต่อไปนี้

 

(ก)  ในกรณีของการลดลงของยอดรายได้ (reduction in turnover):

       บริษัทประกันภัยจะชดใช้จำนวนเงินที่คำนวณได้จากการนำอัตรากำไรขั้นต้น คูณกับจำนวนยอดรายได้ที่ขาดหายไป ในระหว่างระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

…………………

…………………

 

แต่ทั้งนี้ ถ้าหากจำนวนเงินเอาประกันภัยภายใต้รายการที่เอาประกันภัยน้อยกว่าจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ควรจะเป็น ซึ่งคำนวณได้จากการนำอัตรากำไรขั้นต้นคูณกับยอดรายได้รายปี หรือ (คูณกับยอดรายได้รายปีที่เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนตามระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสูงสุดที่เกินกว่า 12 เดือน) แล้ว จำนวนเงินที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจะลดลงตามส่วน

 

พร้อมกับกำหนดคำนิยามต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไว้ด้วย ดังนี้

 

อัตรากำไรขั้นต้น (Rate of Gross Profit) หมายความถึง อัตราของกำไรขั้นต้นที่ได้รับต่อยอดรายได้ระหว่างปีทางบัญชีงวดท้ายสุดก่อนหน้าวันที่เกิดเหตุความเสียหาย

 

ยอดรายได้รายปี (Annual Turnover) หมายความถึง ยอดรายได้ระหว่างระยะเวลา 12 เดือนโดยนับย้อนหลังจากวันที่เกิดเหตุความเสียหาย

 

ยอดรายได้มาตรฐาน (Standard Turnover) หมายความถึง ยอดรายได้ที่อยู่ในช่วงระยะเวลาตรงกันกับระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนซึ่งอยู่ในช่วง 12 เดือนโดยนับย้อนหลังจากวันที่เกิดเหตุความเสียหาย ซึ่งได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสมแล้วในกรณีที่ระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่า 12 เดือน

 

ทั้งนี้ อัตรากำไรขั้นต้น ยอดรายได้รายปี และยอดรายได้มาตรฐานจะต้องมีการปรับปรุงให้เป็นไปตามแนวโน้มของธุรกิจ และ/หรือความผันแปรของธุรกิจ หรือสถานการณ์ใด ๆ ก็ตามที่มีผลกระทบต่อธุรกิจ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหน้าหรือหลังความเสียหาย  หรือควรจะมีผลกระทบต่อธุรกิจ ถ้าไม่ได้เกิดความเสียหายขึ้นเสียก่อน เพื่อว่าตัวเลขที่ได้รับการปรับปรุงแล้วนั้นจะแสดงผลลัพธ์ที่ธุรกิจควรจะได้รับตลอดระยะเวลาที่ธุรกิจได้รับผลกระทบจากแนวโน้มของธุรกิจ และ/หรือความผันแปรของธุรกิจ หรือสถานการณ์ใด ๆ ก็ตามที่มีผลกระทบต่อธุรกิจดังกล่าวนั้นได้ใกล้เคียงความเป็นจริงเท่าที่ในทางปฏิบัติจะสามารถกระทำได้ (Reasonably Practicable) ถ้าไม่ได้เกิดความเสียหายขึ้นเสียก่อน


การขาดหายไปของยอดรายได้ (Shortage in Turnover) หมายความถึง จำนวนเงินยอดรายได้ในระหว่างช่วงระยะเวลาหนึ่งซึ่งขาดหายไปจากยอดรายได้มาตรฐานในส่วนที่สัมพันธ์กับช่วงเวลาดังกล่าว อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความเสียหาย

 

ทั้งนี้ คู่ความทั้งสองฝ่ายมีความเห็นสรุปร่วมกันกับผู้เชี่ยวชาญทางการเงินว่า

 

(1) ยอดรายได้มาตรฐาน สำหรับช่วงระยะเวลาระหว่างวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 2000 ถึงวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 2001 สามารถคำนวณตัวเลขออกมาได้ 9,058,764 แรนด์แอฟริกาใต้ (หรือเทียบเท่าประมาณ 17 ล้านบาท) ไม่รวมภาษี

 

(2) ยอดรายได้ตามจริงที่ปรับปรุงแล้ว สำหรับช่วงระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 12 เดือน สามารถคำนวณตัวเลขออกมาได้ 4,406,855 แรนด์แอฟริกาใต้ (หรือเทียบเท่าประมาณ 8.2 ล้านบาท) ไม่รวมภาษี

 

(3) ยอดรายได้ที่ขาดหายไป สำหรับช่วงระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 12 เดือน สามารถคำนวณตัวเลขออกมาได้ 4,651,909 แรนด์แอฟริกาใต้ (หรือเทียบเท่าประมาณ 8.7 ล้านบาท) ไม่รวมภาษี

 

(4) อัตรากำไรขั้นต้น ซึ่งได้ปรับปรุงตามสถานการณ์แล้ว สามารถคำนวณตัวเลขออกมาได้อัตราร้อยละ 57

 

(5) ค่าสินไหมทดแทนจากการสูญเสียกำไรขั้นต้น สามารถคำนวณตัวเลขออกมาได้ตามสูตร

 

อัตรากำไรขั้นต้น x ยอดรายได้ที่ขาดหายไป

             57%   x 4,651,909 แรนด์แอฟริกาใต้ (ประมาณ 8.7 ล้านบาท)

 

ค่าสินไหมทดแทนควรจะชดใช้ = 2,651,588 แรนด์แอฟริกาใต้ (หรือเทียบเท่าประมาณ 5 ล้านบาท)

 

แต่ยังก่อนนะครับ

 

เนื่องด้วยฝ่ายบริษัทประกันภัยรายนี้ได้ทักท้วงเพิ่มเติมว่า ฝ่ายผู้เอาประกันภัยควรจะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนน้อยกว่านั้นลงไปอีก เพราะเหตุที่ได้ทำประกันภัยต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น

 

คุณเห็นคล้อยตามด้วยไหมครับ? และ

 

ค่าสินไหมทดแทนที่ลดน้อยลงไปอีกนั้นจะคำนวณออกมาได้เช่นไร?

 

โปรดติดตามตอนต่อไปคราวหน้าครับ

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นัราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/