เรื่องที่ 187 : การนับวันเวลาสำคัญไฉน?
(ตอนที่สอง)
ตัวอย่างคดีศึกษาจากประเทศอังกฤษนี้อาจไม่เกี่ยวข้องกับการประกันภัยโดยตรง แต่น่าจะสามารถพอปรับเทียบเคียงได้บ้างนะครับ
เป็นคดีข้อพิพาทการผิดสัญญาว่าจ้างไม่ชำระเงินค่าจ้างตามที่กำหนดไว้ ระหว่างผู้รับเหมาหลักกับผู้รับเหมาช่วง
กล่าวคือ ผู้รับเหมาหลักได้ไปรับงานโครงการปรับปรุงอาคารอะพาร์ตเมนต์หลายหลังมา จึงได้ช่วงงานนั้นต่อมาให้ผู้รับเหมาช่วงกระทำการแทน โดยตกลงทำสัญญาว่าจ้างตามแบบฟอร์มสัญญาว่าจ้างงานก่อสร้างฉบับมาตรฐานระหว่างผู้รับจ้างกับผู้รับจ้างช่วง (Joint Contracts Tribunal (JCT) Standard Building Sub-Contract Conditions (SBC Sub/C 2016) ซึ่งนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายของประเทศอังกฤษขึ้นมา
ในข้อสัญญาดังกล่าว ข้อที่ 4.6.3.1. ได้กำหนดเงื่อนไขว่า ผู้รับเหมาช่วงอาจมีสิทธิจะได้รับชำระเงินตามงวดงานแต่ละงวด (Interim Payment) จากผู้รับเหมาหลัก ต่อเมื่อผู้รับเหมาหลักนั้นได้รับหนังสือขอรับชำระเงินตามงวดงานนั้นจากผู้รับเหมาช่วงนั้นแล้ว ไม่น้อยกว่าสี่วันล่วงหน้าก่อนหน้า (no later than four days prior) วันที่ประเมินผลสำเร็จของงานแต่ละงวดนั้น ๆ (Interim Valuation Date) แล้ว
ทั้งนี้ ยังได้มีการระบุไว้อีกด้วยว่า วันที่ประเมินผลสำเร็จของงานแต่ละงวดนั้น ๆ คือ วันที่ 25 ของแต่ละเดือน หรือเป็นวันทำการที่ใกล้เคียงที่สุดของเดือนนั้น ๆ
นอกจากนี้ สัญญาฉบับนี้ได้ระบุรายละเอียดถึงช่วงระยะเวลาทำงานของผู้รับเหมาช่วงเพิ่มเติมอีกว่า ผู้รับเหมาช่วงสามารถเข้าสถานที่ทำงาน (Contract Site) เพื่อปฏิบัติงานได้ตั้งแต่ช่วงเวลา 07.30 น. ถึงเวลา 18.00 น. ระหว่างวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ขณะที่วันเสาร์ จะเป็นช่วงเวลา 08.00 น. ถึงเวลา 13.00 น. เว้นแต่วันที่จะได้ถูกกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
ครั้นถึงกำหนดวันที่ประเมินผลสำเร็จของงวดงานของวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 2022 ปรากฏว่า ผู้รับเหมาช่วงนั้นได้จัดส่งอีเมลหนังสือขอรับชำระเงินตามงวดงานนั้นออกไปวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 2022 ณ เวลา 22.07 น. ซึ่งมีจำนวนเงินที่จะต้องชำระทั้งสิ้นอยู่ที่ 3,950,190.53 ปอนด์สเตอร์ลิง (หรือเทียบเท่า 177,443,743.66 บาท)
ผู้รับเหมาหลักได้ปฏิเสธการชำระเงินตามงวดงานนั้น โดยอ้างว่า ผู้รับเหมาช่วงนั้นมิได้ปฏิบัติตามข้อตกลงเรื่องเงื่อนเวลาดังกล่าว
เรื่องนี้เป็นประเด็นข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลเทคโนโลยีและการก่อสร้าง (Technology and Construction Court (TCC)) อันเป็นศาลพิเศษเพื่อพิจารณาคดีเกี่ยวกับการก่อสร้างโดยเฉพาะ เนื่องจากคู่ความทั้งสองฝ่ายต่างมีความคิดเห็นแตกต่างกัน ถึงการแปลความหมายของคำว่า “ไม่น้อยกว่าสี่วันล่วงหน้าก่อนหน้า (no later than four days prior)” ดังนี้
เมื่อกำหนดวันที่ประเมินผลสำเร็จของงวดงานเป็นวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 2022
1) ฝ่ายจำเลยผู้รับเหมาหลักต่อสู้ว่า
1.1) ตนควรได้รับหนังสือดังกล่าว ในวันที่ หรือก่อนสิ้นสุดเวลาปฏิบัติงานของวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 2022 นั้นเอง หรือมิฉะนั้น
1.2) ตนควรได้รับหนังสือดังกล่าว ในวันที่ หรือก่อนสิ้นสุดเวลาปฏิบัติงานของวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 2022 นั้นเอง
เป็นอย่างช้าที่สุด
อนึ่ง คำว่า “วัน (day(s))” นั้นควรหมายความถึงช่วงเวลาปฏิบัติงาน (site working hours) ตามที่กำหนดไว้อย่างชัดแจ้ง อันเป็นข้อตกลงโดยเฉพาะเจาะจงเป็นพิเศษของสัญญาว่าจ้างฉบับนี้ด้วย ถึงจะถูกต้องตามจุดประสงค์ในการประกอบการของคู่สัญญานั้นเอง
2) ฝ่ายโจทก์ผู้รับเหมาช่วงโต้แย้งว่า
คำว่า “วัน (day(s))” นั้นควรหมายความถึง วันตามปีปฏิทินทั่วไป โดยที่อาจเป็นเต็มวัน หรือบางส่วนของวันตามจริง ไม่คำนึงว่า จะต้องครบช่วงเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงเสมอไป ก็นับเป็นหนึ่งวันได้
แม้ภายหลัง คู่ความทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงประนีประนอมกันได้ แต่ศาลดังกล่าวมองเห็นของความสำคัญในการแปลความหมายที่ถูกต้อง จึงทำการวิเคราะห์ถึงประเด็นข้อต่อสู้ของฝ่ายจำเลยผู้รับเหมาหลัก ดังนี้
1.1) การที่ฝ่ายจำเลยผู้รับเหมาหลักอ้างว่า ควรได้รับหนังสือดังกล่าว ในวันที่ หรือก่อนสิ้นสุดเวลาปฏิบัติงานของวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 2022 นั้นเอง
อันเป็นการนับวันในลักษณะที่เรียกว่า “clear day(s)” ซึ่งศัพท์บัญญัติ นิติศาสตร์ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2545 แปลว่า วันกำหนดนับ (ที่ไม่รวมวันแรกและวันสุดท้าย)
กรณีวันที่ประเมินผลสำเร็จของงวดงานนั้น คือ วันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 2022
คำว่า “ไม่น้อยกว่าสี่วันล่วงหน้าก่อนหน้า” จะเป็นวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 2022 หรืออีกนัยหนึ่ง มีความหมายไม่น้อยกว่าห้าวันนั่นเอง
หรือทางเลือกที่สอง
1.2) กรณีฝ่ายจำเลยผู้รับเหมาหลักอ้างว่า ควรได้รับหนังสือดังกล่าว ในวันที่ หรือก่อนสิ้นสุดเวลาปฏิบัติงานของวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 2022 นั้นเอง อันเป็นการนับวันไม่น้อยกว่าสี่วันตามปกติวิสัย อย่างไรก็ดี จะต้องไม่เกินกว่าช่วงเวลาปฏิบัติงานที่ตกลงกันไว้ด้วย
ฝ่ายจำเลยผู้รับเหมาหลักเสมือนแปลความหมาย คำว่า “วัน (day(s))” นั้นควรหมายความถึง วันที่นับเฉพาะช่วงเวลาปฏิบัติงานเป็นเกณฑ์ เนื่องด้วยถ้าได้จัดส่งนอกเหนือช่วงเวลานั้น ไม่มีผู้ใดกำลังปฏิบัติงานตามปกติอยู่จริง
ศาลดังกล่าวไม่เห็นพ้องด้วย เนื่องจากข้อสัญญาฉบับนั้นไม่ปรากฏให้ใช้ถ้อยคำของวันที่นับโดยไม่รวมวันแรกกับวันสุดท้าย (clear day(s)) อย่างชัดแจ้ง มีแต่คำว่า “วัน (day(s))” เท่านั้น ซึ่งมีความหมายทั่วไปหมายความถึงวันตามปีปฏิทิน
เช่นเดียวกับกรณีที่ให้นับวันตามช่วงเวลาปฏิบัติงานนั้น ก็มิได้ถูกกำหนดไว้เช่นนั้นอย่างชัดเช่นว่าให้ใช้นับตามนั้นแต่ประการใด หนึ่งวันทั่วไปจึงมีความหมายถึงช่วงเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงของวันนั้นเอง
ดังนั้น ฝ่ายจำเลยผู้รับเหมาหลักควรต้องได้รับหนังสือดังกล่าวถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ของตนก่อนเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 2022 เป็นอย่างช้าที่สุด หรืออีกนัยหนึ่ง ฝ่ายโจทก์ผู้รับเหมาช่วงสามารถใช้เวลาของวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 2022 ทั้งวันก็ได้ อันเป็นช่วงเวลาไม่น้อยกว่าสี่วันล่วงหน้าก่อนหน้าวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 2022 ซึ่งเป็นวันที่ประเมินผลสำเร็จของงานงวดนั้นเอง
จึงตัดสินให้ฝ่ายโจทก์ผู้รับเหมาช่วงชนะคดีนี้
(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Elements (Europe) Ltd v FK Building Ltd [30.03.23])
หมายเหตุ
หากนำเรื่องราวข้างต้นมาปรับใช้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 5 ว่าด้วยระยะเวลา จะให้ผลทางคดีแตกต่างออกไป เนื่องด้วยหลักกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องได้บัญญัติไว้ ดังนี้
มาตรา 193/1 การนับระยะเวลาทั้งปวง ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ เว้นแต่จะมีกฎหมาย คำสั่งศาล ระเบียบข้อบังคับ หรือนิติกรรมกำหนดเป็นอย่างอื่น
มาตรา 193/2 การคำนวณระยะเวลา ให้คำนวณเป็นวัน แต่ถ้ากำหนดเป็นหน่วยเวลาที่สั้นกว่าวัน ก็ให้คำนวณตามหน่วยเวลาที่กำหนดนั้น
มาตรา 193/3 ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นหน่วยเวลาที่สั้นกว่าวัน ให้เริ่มต้นนับในขณะที่เริ่มการนั้น
ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือนหรือปี มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน
เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทำการงานกันตามประเพณี
มาตรา 193/4 ในทางคดีความ ในทางราชการ หรือทางธุรกิจการค้าและอุตสาหกรรม วัน หมายความว่า เวลาทำการตามที่ได้กำหนดขึ้นโดยกฎหมาย คำสั่งศาล หรือระเบียบข้อบังคับ หรือเวลาทำการตามปกติของกิจการนั้น แล้วแต่กรณี
มาตรา 193/8 ถ้าวันสุดท้ายของระยะเวลาเป็นวันหยุดทำการตามประกาศเป็นทางการหรือตามประเพณี ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา
โดยสรุป
การนับหนึ่งวัน หมายความถึง ช่วงเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงของวันนั้นเอง (มาตรา 193/1 )
วัน หมายความถึง วันเวลาทำการทางราชการ หรือทางธุรกิจ หรือทางการค้า หรือทางอุตสาหกรรมนั้น ๆ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นวันเริ่มต้น หรือวันสิ้นสุดของช่วงเวลา (มาตรา 193/4, 193/8)
การนับวันมิให้นับวันแรกของระยะเวลารวมไปด้วย คือ ให้วันถัดไป (วันที่สอง) เป็นวันที่หนึ่งแทนเป็นต้นไป เว้นแต่วันแรกนั้นเองเป็นวันทำการ (มาตรา 193/3 วรรคสอง)
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น