วันจันทร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 186 : รถขายอาหารเคลื่อนที่ (Mobile Catering Truck) กับความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทั่วไปเชิงพาณิชย์ (Commercial General Liability Insurance Policy (CGL))

 

(ตอนที่สอง)

 

ขออภัยที่ทิ้งช่วงไปพอสมควร เรามาว่ากันต่อไปนะครับ

 

ขอทบทวนความจำอีกที ผู้ให้เช่ารถขายอาหารเคลื่อนที่/ครัวเคลื่อนที่ (Mobile Catering Truck/Food Truck) คันที่เกิดเหตุได้จัดทำประกันภัยคุ้มครองไว้กับบริษัทประกันภัยสองแห่ง รวมทั้งสิ้นสี่ฉบับ ได้แก่

 

1) บริษัทประกันภัย A ประกอบด้วย

 

    1.1) กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์เชิงพาณิชย์ (Commercial Auto Insurance Policy)

 

    1.2) กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์เชิงพาณิชย์ แบบครอบคลุม (Umbrella Commercial Auto Insurance Policy)

 

2) บริษัทประกันภัย T ประกอบด้วย

 

    2.1) กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทั่วไปเชิงพาณิชย์ (Commercial General Liability Insurance Policy (CGL))

 

    2.2) กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดส่วนเกินแบบครอบคลุมเชิงพาณิชย์ (Excess-Umbrella Commercial Liability Insurance Policy)

 

ภายหลังจากบริษัทประกันภัย A ได้ตกลงชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายไปตามส่วนความรับผิดของตน ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ฉบับพิพาทไปแล้ว จึงได้นำคดีขึ้นสู่ศาล เพื่อเรียกร้องให้บริษัทประกันภัย T ซึ่งปฏิเสธความรับผิดโดยสิ้นเชิงให้มาร่วมรับผิดด้วยตามสัดส่วน รวมทั้งในส่วนของค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีที่บังเกิดขึ้นมาแล้วนั้นด้วย

 

เนื่องด้วยบริษัทประกันภัย A ฝ่ายโจทก์เห็นว่า รถขายอาหารเคลื่อนที่นั้นจัดอยู่ในความหมายของอุปกรณ์ที่เคลื่อนที่ได้ (mobile equipment) อันได้รับความคุ้มครอง และมิได้ตกอยู่ในข้อยกเว้นว่าด้วยเรื่องรถยนต์ (auto exclusion) ตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทั่วไปเชิงพาณิชย์ (CGL) ฉบับพิพาทของบริษัทประกันภัย T ฝ่ายจำเลย เพราะทั้งตัวรถขายอาหารเคลื่อนที่นั้นประกอบกับเครื่องอุปกรณ์ที่ติดตั้งอยู่ภายในต่าง ๆ เป็นต้นว่า หม้อทอดแบบน้ำมันท่วม (deep fryer basket) ถือเป็นผลิตภัณฑ์ (product) อันควรคุ้มครองอยู่ในกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทั่วไปเชิงพาณิชย์ (CGL) ฉบับพิพาทมากกว่า

 

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า รถขายอาหารเคลื่อนที่คันพิพาทนั้นจัดอยู่ในความหมายของรถยนต์ มิใช่อุปกรณ์ที่เคลื่อนที่ได้ เมื่อพิจารณาถึงการนำพาอาหารกับสิ่งของต่าง ๆ ไปยังสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งมีผู้คนมารอคอยซื้ออยู่ โดยที่อาหารเหล่านั้นถือเป็นสินค้าซึ่งถูกขนส่งไป อันเข้าตามวัตถุประสงค์หลักของการใช้รถยนต์ เพื่อการขนส่งผู้คน และ/หรือสิ่งของต่าง ๆ ทุกประการ จึงตัดสินให้บริษัทประกันภัย T ฝ่ายจำเลยชนะคดี

 

บริษัทประกันภัย A ฝ่ายโจทก์ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น

 

ศาลอุทธรณ์ได้วิเคราะห์ถ้อยคำต่าง ๆ ซึ่งเป็นประเด็นข้อพิพาทเทียบเคียงกันระหว่างกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวทั้งสองฉบับ ดังนี้

 

ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทั่วไปเชิงพาณิชย์ (CGL) ฉบับพิพาทของบริษัทประกันภัย T ฝ่ายจำเลย

 

ซึ่งให้ความคุ้มครองถึงการที่บริษัทประกันภัยจะชดใช้ให้ในนามของผู้เอาประกันภัย สำหรับความรับผิดตามกฎหมายของผู้เอาประกันภัย ซึ่งจะต้องจ่ายเป็นค่าเสียหายต่าง ๆ อันเนื่องมาจากการบาดเจ็บทางร่างกาย หรือความเสียหายต่อทรัพย์สินแก่บุคคลอื่นใดซึ่งการประกันภัยนี้ให้ผลคุ้มครองอยู่ โดยที่บริษัทประกันภัยจะมีสิทธิ และหน้าที่จะต่อสู้คดีให้แก่ผู้เอาประกันภัย สำหรับการฟ้องร้องคดีใด เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายต่าง ๆ เหล่านั้นด้วย

 

ทั้งนี้ โดยมีข้อยกเว้นที่เป็นประเด็นข้อพิพาท เขียนพอสรุปใจความได้ว่า

 

การประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองถึงการบาดเจ็บทางร่างกาย หรือความเสียหายต่อทรัพย์สินแก่บุคคลอื่นใด อันเกิดขึ้นเนื่องมาจากการเป็นเจ้าของ การบำรุงรักษา การใช้งาน หรือการจัดการดูแลรักษาให้แก่บุคคลอื่น สำหรับอากาศยาน รถยนต์ หรือยวดยานทางน้ำใด ๆ ซึ่งผู้เอาประกันภัยเป็นเจ้าของ ผู้ใช้งาน ผู้ให้เช่า หรือผู้ให้ยืม

 

อนึ่ง ภายใต้หมวดคำจำกัดความได้ให้ความหมายจำเพาะของถ้อยคำที่เป็นประเด็นไว้ ดังนี้

 

รถยนต์ (auto) หมายความถึง ยานพาหนะทางบก รถพ่วง รถกึ่งพ่วงซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อใช้เดินทางไปบนถนนสาธารณะ รวมถึงเครื่องจักร หรืออุปกรณ์ที่ถูกประกอบติดตั้งใด ๆ ด้วย แต่ไม่ได้รวมไปถึงอุปกรณ์ที่เคลื่อนที่ได้ (mobile equipment) แต่ประการใด

 

อุปกรณ์ที่เคลื่อนที่ได้ (mobile equipment) หมายความถึง ยานพาหนะทางบกจำพวกดังต่อไปนี้ รวมทั้งเครื่องจักร หรืออุปกรณ์ใด ๆ ที่ถูกประกอบติดตั้งอยู่บนยานพาหนะนั้นด้วย กล่าวคือ

 

ก) รถแทรกเตอร์เกลี่ยดิน เครื่องจักรใช้ทำฟาร์ม รถโฟล์คลิฟท์ และยานพาหนะอื่นที่ถูกออกแบบ เพื่อไม่ได้ใช้อยู่บนถนนสาธารณะเป็นหลัก

 

ข) ยานพาหนะที่เก็บรักษาไว้เพื่อใช้เฉพาะในสถานที่ หรือถัดจากสถานที่ซึ่งผู้เอาประกันภัยดังระบุชื่อเป็นเจ้าของ หรือเช่าอยู่

 

ค) ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยตีนตะขาบ


ง) ยานพาหนะไม่ว่าจะขับเคลื่อนด้วยตัวมันเองหรือไม่ก็ตาม ซึ่งถูกเก็บรักษาไว้เป็นหลัก เพื่อทำการเคลื่อนไหวสิ่งที่ติดตั้งถาวรอยู่บนนั้นเอง อันได้แก่


(1) รถปั้นจั่น รถขุดตัก รถลำเลียง รถขุด หรือรถเจาะที่ใช้เครื่องยนต์ หรือ

(2) อุปกรณ์ที่ใช้ก่อสร้างถนน หรือปรับพื้นผิว เช่น รถเกลี่ยดิน รถขุดดิน หรือรถบด เป็นต้น

 

จ) ยานพาหนะที่มิได้กำหนดไว้ในย่อหน้า ข้อ ก) ข) ค) หรือ ง) ข้างต้น ซึ่งมิได้ขับเคลื่อนด้วยตัวมันเอง และเก็บรักษาไว้เป็นหลักเพื่อทำการเคลื่อนไหวอุปกรณ์ที่ติดตั้งถาวรอยู่ ดังต่อไปนี้

 

(1) คอมเพรสเซอร์เครื่องทำความเย็น เครื่องสูบน้ำ และเครื่องปั่นไฟฟ้า รวมทั้งเครื่องพ่น เครื่องเชื่อม เครื่องทำความสะอาดอาคาร เครื่องสำรวจสภาพทางภูมิศาสตร์ เครื่องส่องสว่าง และอุปกรณ์ในการให้บริการดูแลรักษา หรือ

(2) นั่งร้านแบบยก และเครื่องมืออื่นที่คล้ายคลึงกันที่ใช้เพื่อยกคนงานขึ้นลง

 

ฉ) ยานพาหนะที่มิได้กำหนดไว้ในย่อหน้า ข้อ ก) ข) ค) หรือ ง) ข้างต้น ซึ่งเก็บรักษาไว้เป็นหลัก เพื่อจุดประสงค์อื่นนอกเหนือจากการขนส่งผู้คน หรือสินค้า

 

อย่างไรก็ตาม ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยตัวมันเองชนิดดังต่อไปนี้ แม้จะมีอุปกรณ์ประกอบติดตั้งอยู่ถาวร ก็จะมิได้ถือเป็น “อุปกรณ์ที่เคลื่อนที่ได้” แต่ถือเป็น “รถยนต์” อันได้แก่

 

(1) อุปกรณ์ที่ถูกออกแบบเป็นหลักเพื่อ

 

     (ก) การขนย้ายหิมะ

     (ข) การบำรุงรักษาถนน แต่มิใช่เพื่อใช้ในการก่อสร้างถนน หรือการปรับพื้นผิว หรือ

     (ค) การทำความสะอาดถนน

 

(2)  นั่งร้านแบบยก และเครื่องมืออื่นที่คล้ายคลึงกันบนโครงตัวถังของรถยนต์ หรือของรถบรรทุก และใช้เพื่อยกคนงานขึ้นลง และ

 

(3)  คอมเพรสเซอร์เครื่องทำความเย็น เครื่องสูบน้ำ และเครื่องปั่นไฟฟ้า รวมทั้งเครื่องพ่น เครื่องเชื่อม เครื่องทำความสะอาดอาคาร เครื่องสำรวจสภาพทางภูมิศาสตร์ เครื่องส่องสว่าง และอุปกรณ์ในการให้บริการดูแลรักษา

 

ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์เชิงพาณิชย์ (Commercial Auto Insurance Policy) ฉบับพิพาทของบริษัทประกันภัย A ฝ่ายโจทก์


หมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกได้เขียนว่า บริษัทประกันภัยจะชดใช้จำนวนเงินทั้งหลายให้ในนามของผู้เอาประกันภัย ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องจ่ายเป็นค่าเสียหายต่าง ๆ ตามกฎหมาย อันเนื่องมาจากการบาดเจ็บทางร่างกาย หรือความเสียหายต่อทรัพย์สินแก่บุคคลอื่นใดก็ตาม ซึ่งการประกันภัยนี้ให้ผลคุ้มครองอยู่ โดยมีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุ ทั้งเป็นผลมาจากการเป็นเจ้าของ การบำรุงรักษา หรือการใช้งานรถยนต์คันที่เอาประกันภัยนั้นเอง ทั้งนี้ บริษัทประกันภัยจะมีสิทธิ และหน้าที่จะต่อสู้คดีให้แก่ผู้เอาประกันภัย สำหรับการฟ้องร้องคดีใด เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายต่าง ๆ เหล่านั้นด้วย

 

อนึ่ง คำว่า “รถยนต์ (auto)” หมายความถึง

 

ก) ยานพาหนะทางบก รถพ่วง รถกึ่งพ่วงใด ๆ ซึ่งถูกออกแบบมา เพื่อใช้เดินทางไปบนถนนสาธารณะ หรือ

 

ข) ยานพาหนะยานพาหนะทางบกใด ๆ ซึ่งอยู่ภายใต้ข้อบังคับความรับผิดตามกฎหมาย หรือกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบทางการเงิน หรือกระทั่งกฎหมายเกี่ยวกับการประกันภัยรถยนต์อื่นใด ที่ซึ่งได้ออกใบอนุญาต หรือที่ซึ่งกำหนดสถานที่อยู่เป็นหลักแหล่งของยานพาหนะนั้นเอง

 

อย่างไรก็ตาม รถยนต์ (auto) ไม่ได้รวมไปถึงอุปกรณ์ที่เคลื่อนที่ได้ (mobile equipment) แต่ประการใด

 

ข้อยกเว้นที่เกี่ยวข้อง

 

ไม่คุ้มครองถึงการบาดเจ็บทางร่างกาย หรือความเสียหายต่อทรัพย์สินแก่บุคคลอื่นใดก็ตาม อันเกิดขึ้นเนื่องมาจากการดำเนินงานของผู้เอาประกันภัย ภายหลังจากเมื่อการดำเนินงานนั้นได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ หรือได้ถูกละทิ้งงานไปอย่างสมบูรณ์แล้ว ภายใต้หัวข้อกรณีการดำเนินงานที่เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว (Completed Operations) ในส่วนของข้อยกเว้นว่าด้วยความรับผิดจากผลิตภัณฑ์ (products liability)


ศาลอุทธรณ์ให้ความเห็นโดยจำแนกออกมาได้ ดังนี้

 

1) รถขายอาหารเคลื่อนที่คันพิพาทนั้นจัดอยู่ในความหมายของอุปกรณ์ที่เคลื่อนที่ได้ (mobile equipment) อันได้รับความคุ้มครอง และมิได้ตกอยู่ในข้อยกเว้นว่าด้วยเรื่องรถยนต์ (auto exclusion) ตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทั่วไปเชิงพาณิชย์ (CGL) ฉบับพิพาทหรือไม่?

 

เนื่องด้วยจุดมุ่งหมายหลักของรถขายอาหารเคลื่อนที่คันพิพาทนั้น เพื่อใช้งานเป็นครัวเคลื่อนที่โดยเฉพาะเจาะจง มิใช่เพื่อใช้งานขนผู้คน หรือสินค้าตามปกติวิสัยเหมือนดั่งเช่นจุดมุ่งหมายของรถยนต์ทั่วไป

 

แต่ละวัน ครอบครัวโกเมซจะจัดปรุงอาหารอยู่ในรถขายอาหารเคลื่อนที่คันพิพาทนั้นขณะที่จอดพักอยู่ในสถานที่ของผู้ให้เช่า ถัดจากนั้นอีกประมาณแปดชั่วโมง ครอบครัวโกเมซจะจอดแวะระหว่างทางประมาณ 12 – 13 จุด เพื่อปรุงอาหาร หรืออย่างน้อยเพื่ออุ่น และขายอาหารเหล่านั้น ช่วงระหว่างจุดจอดแวะต่าง ๆ เหล่านี้เองที่ซึ่งรถขายอาหารเคลื่อนที่คันพิพาทนั้นมิได้ทำการขนส่งสิ่งใด ๆ เลย อีกทั้งรถขายอาหารเคลื่อนคันที่พิพาทนั้นได้ถูกออกแบบโดยจงใจให้มีเพียงสองที่นั่งเท่านั้น คือ เฉพาะคนขับกับผู้ปรุงอาหารตามความจำเป็น อันเป็นจุดมุ่งหมายรอง โดยไม่ประสงค์ที่จะขนส่งบุคคลอื่นใดอีก   


ครั้นเมื่อไปพิจารณาประกอบตรงถ้อยคำซึ่งเขียนว่า

 

อย่างไรก็ตาม ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยตัวมันเองชนิดดังต่อไปนี้ แม้จะมีอุปกรณ์ประกอบติดตั้งอยู่ถาวร ก็จะมิได้ถือเป็น “อุปกรณ์ที่เคลื่อนที่ได้” แต่ถือเป็น “รถยนต์

 

ก็ไม่พบรายการดังระบุจะเขียนรวมถึงรายการของรถขายอาหารเคลื่อนที่แต่ประการใด

 

ฉะนั้น หากบริษัทประกันภัย T ฝ่ายจำเลยประสงค์ไม่คุ้มครองถึงรถขายอาหารเคลื่อนคันที่พิพาทนั้นดังอ้างอิงจริง ก็ควรจะต้องระบุลงไว้ในรายการที่ถือเป็นรถยนต์นั้นอย่างชัดเจนไปเลย

 

ด้วยเหตุผลดังอ้างอิง ศาลอุทธรณ์จึงไม่เห็นพ้องกับคำตัดสินของศาลชั้นต้น

 

2) กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์เชิงพาณิชย์ (Commercial Auto Insurance Policy) ฉบับพิพาทของบริษัทประกันภัย A ฝ่ายโจทก์ ไม่ควรคุ้มครอง เพราะตกอยู่ในข้อยกเว้นการบาดเจ็บทางร่างกายอันเกิดขึ้นเนื่องมาจากอุปกรณ์ที่ถูกติดตั้งเกี่ยวเนื่องกับการดำเนินงานของผู้ให้เช่ารถขายอาหารเคลื่อนที่คันพิพาทนั้นหรือไม่?

 

เมื่อพิจารณาถึงข้อยกเว้นกรณีการดำเนินงานที่เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว (Completed Operations) ในส่วนของข้อยกเว้นว่าด้วยความรับผิดจากผลิตภัณฑ์ (products liability) จะเห็นได้ว่า การกระทำของนายโกเมซได้ก่อให้เกิดการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน อันเกิดขึ้นเนื่องมาจากการดำเนินงานของผู้ให้เช่า ซึ่งได้ให้เช่ารถขายอาหารเคลื่อนคันที่พิพาทนั้นแก่นายโกเมซ ทั้งนี้ การดำเนินงานรวมถึงการใช้อุปกรณ์ ในที่นี้ คือ หม้อทอดแบบน้ำมันท่วม (deep fryer basket) ซึ่งได้ถูกติดตั้ง เพื่อการใช้งานของผู้ให้เช่า (หรือผู้เช่า) ด้วย โดยที่การดำเนินงานนั้นถือว่า สำเร็จเสร็จสิ้นสมบูรณ์ เพื่อนำไปใช้งานได้ตามจุดมุ่งหมายแล้ว คือ การปรุงอาหารนั่นเอง

 

ศาลอุทธรณ์เห็นด้วยกับข้อโต้แย้งของบริษัทประกันภัย A ฝ่ายโจทก์

 

ศาลอุทธรณ์จึงติดสินให้ย้อนคดีกลับไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาตัดสินให้ถูกต้องต่อไป

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี American States Insurance Company v. Travelers Property Casualty Company of America, B243003 (2014)

 

หมายเหตุ

 

แรกเริ่มฉงนใจพอสมควรเหมือนกัน ทำไมกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ฉบับพิพาทถึงต้องรับผิดชอบ แต่สุดท้ายน่าจะชัดเจนแล้วนะครับว่า ไม่จำต้องรับผิด

 

ยิ่งถ้ามาเทียบเคียงกับกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์บ้านเราแล้ว ไม่คุ้มครองแน่  เพราะภายใต้หมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 1. ข้อตกลงคุ้มครอง ตรงข้อความตอนท้ายของหัวข้อย่อย 1.1 เขียนไว้อย่างชัดแจ้ง ดังนี้

 

บริษัท (ประกันภัย) จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความสูญเสีย หรือความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแก่บุคคลภายนอก ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย เนื่องจากอุบัติเหตุอันเกิดจากรถยนต์ที่ใช้ หรืออยู่ในทาง หรือสิ่งที่บรรทุก หรือติดตั้งในรถยนต์นั้น ในระหว่างระยะเวลาประกันภัย ในนามผู้เอาประกันภัย

 

1.1 ความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย บริษัทจะรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เพื่อความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย ของบุคคลภายนอก เฉพาะส่วนเกินวงเงินสูงสุดตามกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ตามความเสียหายที่แท้จริงที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก ไม่เกินจํานวนเงินเอาประกันภัยต่อคนที่ระบุไว้ในตาราง

กรมธรรม์ประกันภัย และไม่เกินจํานวนเงินเอาประกันภัยต่อครั้งที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย ภายใต้เงื่อนไขที่กําหนดในข้อนี้

 

…………..

 

บุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครองตาม 1.1 นี้ ไม่รวมถึงผู้ขับขี่ที่เป็นฝ่ายที่จะต้องรับผิดตามกฎหมาย ตลอดจนลูกจ้างในทางการที่จ้าง คู่สมรส บิดา มารดา บุตรของผู้ขับขี่นั้น 

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/  


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น