วันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 188 : การประกันภัยซ้ำซ้อนระหว่างการประกันภัยความรับผิดทางวิชาชีพ (Professional Liability Insurance) กับการประกันภัยความรับผิดของกรรมการและเจ้าหน้าที่บริหาร (Directors and Officers’ Liability Insurance (D & O))???

 

(ตอนที่หนึ่ง)

 

ถ้าสมมุติมีคำถามระหว่าง

 

1) การประกันภัยความรับผิดทางวิชาชีพ (Professional Liability Insurance)

 

กับ

 

2) การประกันภัยความรับผิดของกรรมการและเจ้าหน้าที่บริหาร (Directors and Officers’ Liability Insurance (D & O))

 

เหมือน หรือแตกต่างกันอย่างไร?

 

คุณคิดว่า ควรจะตอบเช่นไรครับ?

 

นึกไม่ออก เชิญชวนให้ลองย้อนกลับไปค้นบทความเก่าอีกชุดหนึ่งของผม ซึ่งได้แจกแจงคร่าว ๆ ดังนี้

 

1) การประกันภัยความรับผิดทางวิชาชีพ (Professional Liability Insurance)

 

เพื่อให้ความคุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายของผู้ประกอบธุรกิจที่มีต่อบุคคลภายนอก อันเนื่องมาจากการให้บริการทางวิชาชีพที่ผิดพลาดซึ่งเป็นหน้าที่ในการประกอบวิชาชีพของฝ่ายปฏิบัติงาน

 

พจนานุกรมศัพท์ประกันภัย ฉบับราชบัณฑิตยสภา พิมพ์ครั้งที่ 6 (แก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ. 2560 ให้ความหมายของ Professional Indemnity Insurance การประกันภัยความรับผิดจากวิชาชีพ (ซึ่งทางฝั่งประเทศอังกฤษมักใช้เรียกกัน) หมายความถึง

 

การประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายของผู้ประกอบวิชาชีพสำหรับความรับผิดที่เกิดจากการประกอบวิชาชีพนั้น เช่น แพทย์ที่รักษาคนไข้โดยความประมาทเลินเล่อ มีผลทำให้คนไข้ได้รับความเสียหายหรือถึงแก่ความตาย และแพทย์ผู้นั้นจะต้องรับผิดต่อคนไข้ตามกฎหมาย

 

หรือ

 

Errors and Omissions Liability Insurance การประกันภัยความรับผิดจากความผิดพลาดและละเว้น (ซึ่งฝั่งประเทศสหรัฐอเมริกานิยมเรียกกัน) หมายความถึง

 

การประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองความรับผิดเพื่อความเสียหายซึ่งเกิดขึ้นจากความผิดพลาด ความประมาทเลินเล่อ และการละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่ในวิชาชีพของตน ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ทรัพย์สินของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ หรือความรับผิดชอบที่มีต่อบุคคลอื่น

 

2) การประกันภัยความรับผิดของกรรมการและเจ้าหน้าที่บริหาร (Directors and Officers’ Liability Insurance (D & O))

 

หรือบางครั้งก็เรียกว่า “การประกันภัยความรับผิดเนื่องจากการบริหารจัดการงาน(Management Liability Insurance)

 

มุ่งเน้นไปที่การให้ความคุ้มครองสำหรับความรับผิดตามกฎหมายของกรรมการและเจ้าหน้าที่บริหาร อันเป็นฝ่ายผู้บริหารสูงสุดของธุรกิจ ซึ่งได้กระทำผิดพลาด (Wrongful Acts) ภายในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของตนจนสร้างความเสียหายให้แก่บุคคลภายนอก รวมถึงผู้ถือหุ้น ลูกจ้าง เจ้าหนี้ ตลอดจนภาครัฐที่กำกับดูแลธุรกิจนั้นด้วย

 

โดยที่ภาพกว้าง ๆ แล้ว 

 

ผู้สนใจทำประกันภัย ประเภทแรก อาจเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลก็ได้

 

ขณะที่สำหรับประเภทสอง จะอยู่ในรูปแบบของนิติบุคคลเท่านั้น

 

โอกาสที่ทั้งสองประเภทการประกันภัยนั้นจะมามีความคุ้มครองทับซ้อนกันได้ไหม?

 

แม้นทั้งสองประเภทการประกันภัยนั้นจะยังไม่มีถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัยเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลกอย่างชัดเจนก็ตาม

 

ส่วนใหญ่จะพบถ้อยคำของข้อยกเว้นของแต่ละประเภทการประกันภัยเหล่านั้นต่างเขียนแจกแจงอย่างเด่นชัดว่า

 

กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทางวิชาชีพจะไม่คุ้มครองถึงความรับผิดของกรรมการและเจ้าหน้าที่บริหาร 

 

และในทางกลับกัน

 

กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดของกรรมการและเจ้าหน้าที่บริหารก็จะไม่คุ้มครองถึงความรับผิดทางวิชาชีพ 

 

ดูผิวเผินแล้ว ก็ไม่น่าจะบังเกิดปัญหาในการทำความเข้าใจได้ใช่ไหมครับ?

 

อย่างไรก็ดี

 

ลองยกตัวอย่างเรื่องราวใกล้ตัวขึ้นมาสักเรื่องหนึ่ง

 

สมมุติเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับธุรกิจประกันภัย ซึ่งถือเป็นวิชาชีพเฉพาะประเภทหนึ่ง

 

บริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งถูกผู้เอาประกันภัยฟ้องให้รับผิด เนื่องจากฝ่ายรับประกันภัยลืมขยายความคุ้มครองให้ตามที่ตกลงกัน

 

หรือ

 

บริษัทนายหน้าประกันภัยแห่งหนึ่งถูกลูกค้าของตนซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยฟ้องให้รับผิด เพราะจัดความคุ้มครองให้ผิดพลาด ไม่ถูกต้องตรงตามความประสงค์

 

แน่นอนถึงแม้ความผิดพลาดอาจเกิดจากตัวพนักงาน หรือนายหน้าซึ่งถือใบอนุญาตนายหน้าประกันภัยส่วนบุคคลเอง แต่ทั้งหมดก็ได้กระทำการแทนในนามของนิติบุคคลเหล่านั้น 

 

ฉะนั้น เมื่ออยู่ในรูปของนิติบุคคล ผู้บริหารสูงสุดของนิติบุคคลเหล่านั้นจำต้องรับผิดแทน 

 

หากนิติบุคคลเหล่านั้นล้วนมีกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทั้งสองแบบให้ความคุ้มครองอยู่

 

คุณจะเลือกคำตอบข้อหนึ่งข้อใดต่อไปนี้ เป็นคำตอบที่ถูกต้องที่สุดครับ

 

ก) กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทางวิชาชีพ

ข) กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดของกรรมการและเจ้าหน้าที่บริหาร

ค) ถูกทั้งสองข้อ

 

โปรดอดใจรอเทียบเคียงแนวคำตอบจากตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศในสัปดาห์หน้ากันครับ แล้วคุณจะทึ่งใจเหมือนผม

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/  

 

 

วันอังคารที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 187 : การนับวันเวลาสำคัญไฉน?

 

(ตอนที่สอง)

 

ตัวอย่างคดีศึกษาจากประเทศอังกฤษนี้อาจไม่เกี่ยวข้องกับการประกันภัยโดยตรง แต่น่าจะสามารถพอปรับเทียบเคียงได้บ้างนะครับ

 

เป็นคดีข้อพิพาทการผิดสัญญาว่าจ้างไม่ชำระเงินค่าจ้างตามที่กำหนดไว้ ระหว่างผู้รับเหมาหลักกับผู้รับเหมาช่วง

 

กล่าวคือ ผู้รับเหมาหลักได้ไปรับงานโครงการปรับปรุงอาคารอะพาร์ตเมนต์หลายหลังมา จึงได้ช่วงงานนั้นต่อมาให้ผู้รับเหมาช่วงกระทำการแทน โดยตกลงทำสัญญาว่าจ้างตามแบบฟอร์มสัญญาว่าจ้างงานก่อสร้างฉบับมาตรฐานระหว่างผู้รับจ้างกับผู้รับจ้างช่วง (Joint Contracts Tribunal (JCT) Standard Building Sub-Contract Conditions (SBC Sub/C 2016) ซึ่งนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายของประเทศอังกฤษขึ้นมา

 

ในข้อสัญญาดังกล่าว ข้อที่ 4.6.3.1. ได้กำหนดเงื่อนไขว่า ผู้รับเหมาช่วงอาจมีสิทธิจะได้รับชำระเงินตามงวดงานแต่ละงวด (Interim Payment) จากผู้รับเหมาหลัก ต่อเมื่อผู้รับเหมาหลักนั้นได้รับหนังสือขอรับชำระเงินตามงวดงานนั้นจากผู้รับเหมาช่วงนั้นแล้ว ไม่น้อยกว่าสี่วันล่วงหน้าก่อนหน้า (no later than four days prior) วันที่ประเมินผลสำเร็จของงานแต่ละงวดนั้น ๆ (Interim Valuation Date) แล้ว

 

ทั้งนี้ ยังได้มีการระบุไว้อีกด้วยว่า วันที่ประเมินผลสำเร็จของงานแต่ละงวดนั้น ๆ คือ วันที่ 25 ของแต่ละเดือน หรือเป็นวันทำการที่ใกล้เคียงที่สุดของเดือนนั้น ๆ

 

นอกจากนี้ สัญญาฉบับนี้ได้ระบุรายละเอียดถึงช่วงระยะเวลาทำงานของผู้รับเหมาช่วงเพิ่มเติมอีกว่า ผู้รับเหมาช่วงสามารถเข้าสถานที่ทำงาน (Contract Site) เพื่อปฏิบัติงานได้ตั้งแต่ช่วงเวลา 07.30 น. ถึงเวลา 18.00 น. ระหว่างวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ขณะที่วันเสาร์ จะเป็นช่วงเวลา 08.00 น. ถึงเวลา 13.00 น. เว้นแต่วันที่จะได้ถูกกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

 

ครั้นถึงกำหนดวันที่ประเมินผลสำเร็จของงวดงานของวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 2022 ปรากฏว่า ผู้รับเหมาช่วงนั้นได้จัดส่งอีเมลหนังสือขอรับชำระเงินตามงวดงานนั้นออกไปวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 2022 ณ เวลา 22.07 น. ซึ่งมีจำนวนเงินที่จะต้องชำระทั้งสิ้นอยู่ที่ 3,950,190.53 ปอนด์สเตอร์ลิง (หรือเทียบเท่า 177,443,743.66 บาท)

ผู้รับเหมาหลักได้ปฏิเสธการชำระเงินตามงวดงานนั้น โดยอ้างว่า ผู้รับเหมาช่วงนั้นมิได้ปฏิบัติตามข้อตกลงเรื่องเงื่อนเวลาดังกล่าว

 

เรื่องนี้เป็นประเด็นข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลเทคโนโลยีและการก่อสร้าง (Technology and Construction Court (TCC)) อันเป็นศาลพิเศษเพื่อพิจารณาคดีเกี่ยวกับการก่อสร้างโดยเฉพาะ เนื่องจากคู่ความทั้งสองฝ่ายต่างมีความคิดเห็นแตกต่างกัน ถึงการแปลความหมายของคำว่า “ไม่น้อยกว่าสี่วันล่วงหน้าก่อนหน้า (no later than four days prior)” ดังนี้

 

เมื่อกำหนดวันที่ประเมินผลสำเร็จของงวดงานเป็นวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 2022

 

1) ฝ่ายจำเลยผู้รับเหมาหลักต่อสู้ว่า

 

1.1) ตนควรได้รับหนังสือดังกล่าว ในวันที่ หรือก่อนสิ้นสุดเวลาปฏิบัติงานของวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 2022 นั้นเอง หรือมิฉะนั้น

 

1.2) ตนควรได้รับหนังสือดังกล่าว ในวันที่ หรือก่อนสิ้นสุดเวลาปฏิบัติงานของวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 2022 นั้นเอง

 

เป็นอย่างช้าที่สุด

 

อนึ่ง คำว่า “วัน (day(s))” นั้นควรหมายความถึงช่วงเวลาปฏิบัติงาน (site working hours) ตามที่กำหนดไว้อย่างชัดแจ้ง อันเป็นข้อตกลงโดยเฉพาะเจาะจงเป็นพิเศษของสัญญาว่าจ้างฉบับนี้ด้วย ถึงจะถูกต้องตามจุดประสงค์ในการประกอบการของคู่สัญญานั้นเอง

 

2) ฝ่ายโจทก์ผู้รับเหมาช่วงโต้แย้งว่า

 

คำว่า “วัน (day(s))” นั้นควรหมายความถึง วันตามปีปฏิทินทั่วไป โดยที่อาจเป็นเต็มวัน หรือบางส่วนของวันตามจริง ไม่คำนึงว่า จะต้องครบช่วงเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงเสมอไป ก็นับเป็นหนึ่งวันได้

 

แม้ภายหลัง คู่ความทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงประนีประนอมกันได้ แต่ศาลดังกล่าวมองเห็นของความสำคัญในการแปลความหมายที่ถูกต้อง จึงทำการวิเคราะห์ถึงประเด็นข้อต่อสู้ของฝ่ายจำเลยผู้รับเหมาหลัก ดังนี้

 

1.1) การที่ฝ่ายจำเลยผู้รับเหมาหลักอ้างว่า ควรได้รับหนังสือดังกล่าว ในวันที่ หรือก่อนสิ้นสุดเวลาปฏิบัติงานของวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 2022 นั้นเอง

 

อันเป็นการนับวันในลักษณะที่เรียกว่า “clear day(s)” ซึ่งศัพท์บัญญัติ นิติศาสตร์ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2545 แปลว่า วันกำหนดนับ (ที่ไม่รวมวันแรกและวันสุดท้าย)

 

กรณีวันที่ประเมินผลสำเร็จของงวดงานนั้น คือ วันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 2022

คำว่า “ไม่น้อยกว่าสี่วันล่วงหน้าก่อนหน้า” จะเป็นวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 2022 หรืออีกนัยหนึ่ง มีความหมายไม่น้อยกว่าห้าวันนั่นเอง

 

หรือทางเลือกที่สอง

 

1.2) กรณีฝ่ายจำเลยผู้รับเหมาหลักอ้างว่า ควรได้รับหนังสือดังกล่าว ในวันที่ หรือก่อนสิ้นสุดเวลาปฏิบัติงานของวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 2022 นั้นเอง อันเป็นการนับวันไม่น้อยกว่าสี่วันตามปกติวิสัย อย่างไรก็ดี จะต้องไม่เกินกว่าช่วงเวลาปฏิบัติงานที่ตกลงกันไว้ด้วย

 

ฝ่ายจำเลยผู้รับเหมาหลักเสมือนแปลความหมาย คำว่า “วัน (day(s))” นั้นควรหมายความถึง วันที่นับเฉพาะช่วงเวลาปฏิบัติงานเป็นเกณฑ์ เนื่องด้วยถ้าได้จัดส่งนอกเหนือช่วงเวลานั้น ไม่มีผู้ใดกำลังปฏิบัติงานตามปกติอยู่จริง

 

ศาลดังกล่าวไม่เห็นพ้องด้วย เนื่องจากข้อสัญญาฉบับนั้นไม่ปรากฏให้ใช้ถ้อยคำของวันที่นับโดยไม่รวมวันแรกกับวันสุดท้าย (clear day(s)) อย่างชัดแจ้ง มีแต่คำว่า “วัน (day(s))” เท่านั้น ซึ่งมีความหมายทั่วไปหมายความถึงวันตามปีปฏิทิน

 

เช่นเดียวกับกรณีที่ให้นับวันตามช่วงเวลาปฏิบัติงานนั้น ก็มิได้ถูกกำหนดไว้เช่นนั้นอย่างชัดเช่นว่าให้ใช้นับตามนั้นแต่ประการใด หนึ่งวันทั่วไปจึงมีความหมายถึงช่วงเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงของวันนั้นเอง

 

ดังนั้น ฝ่ายจำเลยผู้รับเหมาหลักควรต้องได้รับหนังสือดังกล่าวถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ของตนก่อนเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 2022 เป็นอย่างช้าที่สุด หรืออีกนัยหนึ่ง ฝ่ายโจทก์ผู้รับเหมาช่วงสามารถใช้เวลาของวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 2022 ทั้งวันก็ได้ อันเป็นช่วงเวลาไม่น้อยกว่าสี่วันล่วงหน้าก่อนหน้าวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 2022 ซึ่งเป็นวันที่ประเมินผลสำเร็จของงานงวดนั้นเอง

 

จึงตัดสินให้ฝ่ายโจทก์ผู้รับเหมาช่วงชนะคดีนี้

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Elements (Europe) Ltd v FK Building Ltd [30.03.23]) 

 

หมายเหตุ

 

หากนำเรื่องราวข้างต้นมาปรับใช้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 5 ว่าด้วยระยะเวลา จะให้ผลทางคดีแตกต่างออกไป เนื่องด้วยหลักกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องได้บัญญัติไว้ ดังนี้

 

มาตรา 193/1  การนับระยะเวลาทั้งปวง ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ เว้นแต่จะมีกฎหมาย คำสั่งศาล ระเบียบข้อบังคับ หรือนิติกรรมกำหนดเป็นอย่างอื่น

 

มาตรา 193/2  การคำนวณระยะเวลา ให้คำนวณเป็นวัน แต่ถ้ากำหนดเป็นหน่วยเวลาที่สั้นกว่าวัน ก็ให้คำนวณตามหน่วยเวลาที่กำหนดนั้น

 

มาตรา 193/3 ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นหน่วยเวลาที่สั้นกว่าวัน ให้เริ่มต้นนับในขณะที่เริ่มการนั้น


ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือนหรือปี มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทำการงานกันตามประเพณี

 

มาตรา 193/4 ในทางคดีความ ในทางราชการ หรือทางธุรกิจการค้าและอุตสาหกรรม วัน หมายความว่า เวลาทำการตามที่ได้กำหนดขึ้นโดยกฎหมาย คำสั่งศาล หรือระเบียบข้อบังคับ หรือเวลาทำการตามปกติของกิจการนั้น แล้วแต่กรณี

 

มาตรา 193/8  ถ้าวันสุดท้ายของระยะเวลาเป็นวันหยุดทำการตามประกาศเป็นทางการหรือตามประเพณี ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา

 

โดยสรุป

 

การนับหนึ่งวัน หมายความถึง ช่วงเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงของวันนั้นเอง (มาตรา 193/1 )

 

วัน หมายความถึง วันเวลาทำการทางราชการ หรือทางธุรกิจ หรือทางการค้า หรือทางอุตสาหกรรมนั้น ๆ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นวันเริ่มต้น หรือวันสิ้นสุดของช่วงเวลา (มาตรา 193/4, 193/8)

 

การนับวันมิให้นับวันแรกของระยะเวลารวมไปด้วย คือ ให้วันถัดไป (วันที่สอง) เป็นวันที่หนึ่งแทนเป็นต้นไป เว้นแต่วันแรกนั้นเองเป็นวันทำการ (มาตรา 193/3 วรรคสอง)

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

 

วันอังคารที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 187 : การนับวันเวลาสำคัญไฉน?

 

(ตอนที่หนึ่ง)

 

ผ่านเรื่องหนัก ๆ มาหลายตอนแล้ว

 

ครั้งนี้ ลองมาอ่านเรื่องเบา ๆ กันบ้าง

 

แต่ไม่มั่นใจเหมือนกันว่า เรื่องมันจะเบาดังว่าจริงไหม?

 

เคยหยิบยกตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศในประเด็นเรื่องการนับวันมาล่าสู่กันฟังนานมาแล้ว

 

ล่าสุด ก็มีอีกคดีหนึ่งบังเกิดขึ้น

 

ได้เคยตั้งตัวอย่างคำถามไว้นับแต่คราวโน้น

 

สมมุติ ผู้เอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัยได้ตกลงกันทำสัญญาประกันภัย เมื่อเวลา 10.00 น. โดยให้กรมธรรม์ประกันภัยมีกำหนดระยะเวลาประกันภัยอยู่ที่หนึ่งปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป

 

1) กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจ

 

จะถูกระบุไว้ในหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัยว่า

 

เริ่มต้นวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 สิ้นสุดวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 เวลา 16.30 น.

 

(ไม่ปรากฏช่องให้เติมเวลาเริ่มต้นเลย อาจก่อให้เกิดข้อพิพาทขึ้นมาได้ง่าย ถ้ารถยนต์คันที่เอาประกันภัยเกิดอุบัติเหตุ ณ เวลา 10.30 น. ของวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 นี่ยังไม่พูดถึงเงื่อนไขบังคับก่อนที่ให้ชำระเบี้ยประกันภัยแล้วถึงจะได้รับความคุ้มครองเลยนะครับ)

 

2) กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน

 

จะถูกระบุไว้ในหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัยว่า

 

เริ่มวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 เวลา 10.00 น. สิ้นสุดวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 เวลา 16.30 น.

 

3) กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก

 

จะถูกระบุไว้ในหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัยว่า

 

เริ่มต้นวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 เวลา 10.00 น. สิ้นสุดวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 เวลา 16.30 น.

 

ในข้อ 2) กับ 3) คุณคิดว่า

 

- ระยะเวลาเอาประกันภัยเป็นหนึ่งปีจริงไหม? และ

 

- ผู้เอาประกันภัยควรต้องชำระเบี้ยประกันภัย สำหรับกำหนดระยะเวลาหนึ่งปี หรือมากกว่านั้น?

 

หากเปลี่ยนโจทย์ให้เวลาทำสัญญาประกันภัยเป็นเวลา 16.45 น. แทน ก่อนบริษัทประกันภัยปิดทำการ ณ เวลา 17.00 น.

 

คำถามข้างต้นก็กลับกลายเป็นตรงกันข้าม

 

- ระยะเวลาเอาประกันภัยเป็นหนึ่งปีจริงไหม? และ

 

- ผู้เอาประกันภัยควรต้องชำระเบี้ยประกันภัย สำหรับกำหนดระยะเวลาหนึ่งปี หรือน้อยกว่านั้น?

 

เมื่อได้มีการตกลงกันเป็นพิเศษในเรื่องการนับวันเวลาของระยะเวลาประกันภัย ซึ่งตามตัวอย่างข้างต้น เสมือนหนึ่งให้นับครบรอบยี่สิบสี่ชั่วโมงเป็นหนึ่งวันตั้งแต่เวลาเริ่มต้นระยะเวลาประกันภัยเป็นเกณฑ์ (อาจขาดเหลือบ้างเล็กน้อย)

 

แล้วเงื่อนไขเวลาอื่น ๆ ที่ปรากฏอยู่ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนั้น ๆ ล่ะ

 

เป็นต้นว่า

 

1) กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจ

 

ภายใต้หมวดการคุ้มครองรถยนต์สูญหายไฟไหม้ ข้อที่ 2.1.2 ในกรณีรถยนต์คันที่เอาประกันภัยได้สูญหายไป และต่อมาติดตามกลับคืนมาได้ ให้ผู้เอาประกันภัยซึ่งได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้วมีสิทธิเลือกที่จะสละสิทธิไม่ขอรับรถยนต์คันนั้นกลับคืนไปก็ได้ โดยที่ผู้เอาประกันภัยนั้นจะต้องแจ้งการใช้สิทธิเช่นว่านั้นให้บริษัทประกันภัยทราบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการติดตามรถคืนมาได้จากบริษัทประกันภัยแล้ว ถ้าผู้เอาประกันภัยนั้นไม่แจ้งขอใช้สิทธิภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้เอาประกันภัยนั้นไม่ประสงค์จะขอรับรถยนต์คืน

 

2) กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน

 

ในหมวดเงื่อนไขทั่วไป กำหนดว่า

 

9. การระงับไปแห่งสัญญาประกันภัย ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้เป็นอันระงับไปทันทีเมื่อ : -

 

     9.1 ………………

 

       9.5 ผู้เอาประกันภัยไม่ชำระเบี้ยประกันภัย เมื่อพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันเริ่มต้นระยะเวลาเอาประกันภัย โดยให้กรมธรรม์ประกันภัยสิ้นผลนับแต่วันที่ครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว โดยบริษัทจะต้องเคยมีหนังสือแจ้งเตือนให้ผู้เอาประกันภัยชำระเบี้ยประกันภัยก่อนวันครบกำหนดดังกล่าวไม่น้อยกว่า 7 วัน 

 

     ข้อ 9.1 ถึง 9.4 จะได้รับความคุ้มครอง เมื่อผู้เอาประกันภัยได้แจ้งให้บริษัททราบก่อนเกิดความเสียหายขึ้น และบริษัทตกลงยินยอมรับประกันภัยต่อไป ทั้งนี้ บริษัทจะออกใบสลักหลังแนบท้ายไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยนี้

 

2) กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาการก่อสร้าง

 

หมวดที่ 2 เงื่อนไขทั่วไป ระบุว่า

 

4.  การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ในกรณีเกิดเหตุการณ์ใด ๆ ที่อาจจะก่อให้เกิดการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยนี้ ผู้เอาประกันภัยจะต้องดำเนินการดังนี้

 

      4.1 แจ้งให้บริษัททราบโดยไม่ชักช้า และนำส่งรายละเอียดและหลักฐานทั้งหลาย ในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ภายใน 30 วันนับแต่วันเกิดความเสียหาย เว้นแต่ผู้เอาประกันภัยมีเหตุอันสมควรไม่อาจกระทำการดังกล่าว ภายในระยะเวลาที่กำหนด

 

ควรจะต้องถูกนับเช่นไร?

 

- นับไปตามวันเวลาตามข้อตกลงพิเศษนั้นเอง? หรือ

 

- นับไปตามวันเวลาตามบทบัญญัติของกฎหมาย?

 

โดยมีหัวข้อให้เลือก ดังนี้

 

(ก) ครบรอบยี่สิบสี่ชั่วโมงเป็นหนึ่งวันตั้งแต่เวลาเริ่มต้นระยะเวลาประกันภัย

 

(ข) ครบรอบยี่สิบสี่ชั่วโมงเป็นหนึ่งวันตามปีปฏิทิน

 

(ค) ครบรอบหนึ่งวันตามช่วงระยะเวลาทำการของบริษัทประกันภัย

     (ปกติอยู่ระหว่างเวลา 08.30 น. ถึง 17.00 น. ของวันจันทร์ถึงวัน

     ศุกร์)

 

คุณจะเลือกข้อใดข้างต้นเป็นคำตอบของคุณครับ?

 

แล้วคอยไปพิจารณาเทียบเคียงกับตัวอย่างคดีศึกษาในคราวหน้ากันครับ

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/