วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2565

เรื่องที่ 172 : ติดเงื่อนไขพิเศษผิด ชีวิตเปลี่ยน : เพื่อรองรับผลการปิดกั้นจนทำให้ธุรกิจหยุดชะงัก

 

(ตอนที่หนึ่ง)

 

คราวมหาอุทกภัยปี พ.ศ. 2554 ได้สร้างความเสียหายอย่างกว้างขวางแก่ทั้งภาคประชาชน และภาคธุรกิจ

 

ปีนี้ เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ก็ได้กลับมาสร้างความเสียหายเกือบจะซ้ำรอยเฉกเช่นคราวนั้นอีก

 

ใครสามารถเตรียมตัวปกป้องทรัพย์สินของตนเองได้ทันท่วงที ก็โชคดีไป แต่ถ้าไม่ทัน หรือไม่เพียงพอ ก็ขอแสดงความเสียใจด้วยครับ

 

ครั้งนี้ได้มีคำถามจากกัลยาณมิตรท่านหนึ่งสอบถามว่า

 

หากผู้ประกอบธุรกิจได้ปกป้องน้ำท่วมอย่างดี แม้นน้ำไม่ได้เข้าไปสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินใด แต่คงยังส่งผลกระทบต่อธุรกิจ เนื่องจากภายนอกมีน้ำล้อมรอบ ผู้คนเข้าออกไม่ได้ หรือมิฉะนั้นด้วยความยากลำบากมาก จำต้องหยุดกิจการชั่วคราวไปโดยปริยาย

 

ในแง่ที่ธุรกิจนั้นได้จัดทำประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักเอาไว้ด้วย จะสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทประกันภัยได้หรือไม่?

 

เมื่อพิจารณาตามเงื่อนไขปกติของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก ซึ่งกำหนดเงื่อนไขบังคับก่อนไว้ว่า จะคุ้มครองได้ต่อเมื่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ณ สถานที่แห่งนั้นได้รับความเสียหาย (Material Damage Proviso) จากภัยน้ำท่วมเสียก่อน

 

ฉะนั้น กรณีตามคำถามนั้น จำต้องตอบว่า ไม่อาจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน สำหรับความสูญเสียทางการเงิน ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักฉบับนั้นได้ เพราะทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้นมิได้เสียหาย

(โปรดอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องที่ 94: ข้อบังคับความเสียหายต่อทรัพย์สิน (Material Damage Proviso) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก ความหมายที่เปลี่ยนไป?)

 

ถ้าจะทำให้ได้รับความคุ้มครองล่ะ ควรจะแก้ปัญหาอย่างไร?

 

ข้อแนะนำ คือ ให้ติดเงื่อนไขพิเศษขยายความคุ้มครองเพิ่มเติม

 

เงื่อนไขพิเศษของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักมีอยู่มากมายจะเลือกยังไงถูกล่ะ?

 

แม่นแล้วครับ ถ้าเลือกติดเงื่อนไขพิเศษผิด ชีวิตเปลี่ยนแน่นอนดั่งที่จั่วหัวเรื่องไว้

 

ลองพิจารณาตัวอย่างคดีศึกษานี้จากต่างประเทศเป็นบทเรียนเทียบเคียงดูนะครับ

 

ผู้เอาประกันภัยซึ่งประกอบกิจการเป็นสำนักงานกฎหมายแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่เมืองแบตันรูช รัฐหลุยเซียนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินคุ้มครองทรัพย์สินของตนเอาไว้ควบคู่กับกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักคุ้มครองความสูญเสียทางการเงินด้วย

 

เมื่อเกิดเหตุการณ์พายุเฮอริเคนแคทรีนากำลังจะพัดผ่านเข้ามา ผู้ว่าการมลรัฐหลุยเซียนาได้ออกประกาศภาวะฉุกเฉิน และให้ทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแจ้งเตือน และขอความร่วมมือจากประชาชนมิให้ออกจากอาคารหรือที่พักอาศัย ถ้าเป็นไปได้ ในช่วงวันเวลาที่จะมีลมพายุพัดผ่าน

 

ผู้เอาประกันภัยรายนี้จึงได้ปิดกิจการในช่วงวันเวลาดังกล่าว

 

หลังจากนั้น ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้ยื่นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน สำหรับความสูญเสียทางการเงินที่เกิดขึ้น โดยกล่าวอ้างว่า โชคดีที่ตนได้ขยายเงื่อนไขพิเศษว่าด้วยคำสั่งห้ามเข้าพื้นที่ของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมาย (Civil Authority Clause) เผื่อเอาไว้อยู่แล้ว ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักของตน

 

เมื่อบริษัทประกันภัยผู้ให้ความคุ้มครองดังกล่าวปฏิเสธความรับผิดชอบ จึงทำให้เกิดเป็นคดีฟ้องร้องขึ้นสู่ศาล

 

ศาลได้พิจารณาประเด็นถ้อยคำของเงื่อนไขพิเศษนี้ซึ่งเขียนว่า จะให้ความคุ้มครองกรณีเมื่อเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมายได้มีคำสั่งห้ามเข้าไป (prohibit access) ยังสถานที่เอาประกันภัย

 

แต่ตามความเป็นจริง ไม่ปรากฏพยานหลักฐานอย่างชัดเจนเลยว่า เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมายได้ประกาศห้ามอย่างเป็นทางการ หรือมีการปิดกั้นมิให้พนักงานของผู้เอาประกันภัยในการเข้าสู่ หรือการเข้าไปสถานที่ตั้งกิจการนั้นเลย ทั้งยังไม่ได้มีการตั้งด่านตรวจสอบ หรือการปิดเส้นทางต่าง ๆ อีกด้วย

 

ฉะนั้น ถ้อยคำว่า “ห้าม (prohibit)” นั้นจะให้ความหมายรุนแรงกว่าเพียงแค่การทำให้หยุดชะงัก หรือการควบคุมจำกัดเท่านั้น คือ จะต้องถึงขนาดเป็นการห้ามโดยเด็ดขาด หรือการปิดกั้นอย่างเคร่งครัดด้วย

 

นอกจากนี้ ตัวโจทก์ผู้เอาประกันภัยยังยอมรับว่า ณ วันที่หยุดกิจการนั้นเอง ยังคงอนุญาตให้พนักงานบางรายเข้าไปสำนักงาน เพื่อทำงานบางอย่างด้วยเช่นกัน

 

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศาลจึงตัดสินให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยไม่มีความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Kean, Miller, Hawthorne, D’Armond, McCowan & Jarman, LLP v. National Fire Insurance Co. of Hartford, No. 06-770-C-M2, 2007 WL 2489711 (M.D. La. Aug. 2, 2007))

 

ถึงแม้ว่า จะเป็นกรณีภัยจากลมพายุ แต่คงมิได้ให้ผลแตกต่างหากเป็นภัยน้ำท่วมนัก แถมภัยน้ำท่วมยังเห็นภาพได้อย่างชัดเจนมากกว่า ซึ่งจะอาศัยเพียงเงื่อนไขพิเศษนี้คงไม่เพียงพอแน่ จำต้องพิจารณาเงื่อนไขพิเศษอื่นที่คล้ายคลึงกันมาแนบติดเผื่อไว้ด้วย จะวางใจได้มากกว่า

 

สัปดาห์หน้าค่อยมาดูกันครับ ได้แก่ เงื่อนไขพิเศษใดบ้าง?

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น