เรื่องที่ 171 : เมื่อหลักการยอมตามการชดใช้ (Follow The Settlements) ภายใต้สัญญาประกันภัยต่อ (Reinsurance Contract) ไม่เป็นดังที่คาดหวัง?
แม้สัญญาประกันภัย (ต่อ) จะไม่ปรากฏมีคำเตือนล่วงหน้าเสมือนหนึ่งด้านการลงทุนที่ว่า การลงทุนมีความเสี่ยง
ส่วนตัวมองว่า ไม่น่าจะมีความแตกต่างกันนัก
ในบทความเรื่องที่ 119: เมื่อประกันภัยต่อ (Reinsurance) กับประกันภัยตรง (Direct Insurance) ไม่ล้อไปด้วยกัน ปัญหาจะตกอยู่ที่ใครเอ่ย? ผมเคยได้หยิบยกคำกล่าวในธุรกิจประกันภัยมาโปรย หากการประกันภัยตรงถือเป็นการที่ผู้เอาประกันภัยโอนความเสี่ยงภัยของตนไปให้แก่บริษัทประกันภัยรับผิดชอบแทน การประกันภัยต่อก็เปรียบเสมือนเป็นการกระจายความเสี่ยงภัยที่ได้รับมานั้นของบริษัทประกันภัยส่งต่อไปให้ผู้รับประกันภัยต่อมาช่วยแบ่งเบาภาระไปอีกทอดหนึ่ง หรือหลาย ๆ ทอดต่อกันไปแล้วแต่กรณี
ยิ่งเมื่อบริษัทประกันภัยตรงอยู่ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงภัยโดยตรง ก็ควรยิ่งตระหนัก และใช้ความระมัดระวังในทางวิชาชีพของตนให้จงหนัก เวลาไปจัดทำประกันภัยต่อ อย่าไปเผลอเรอหวังพึ่งพิงหลักการเรื่องการยอมปฏิบัติตาม (Follow The Settlements) มากเกินไป
มิฉะนั้น อาจดูไม่จืดเหมือนในตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศนี้
เนื่องด้วยกรณีนี้เป็นคดีพิพาทด้านการประกันภัยต่อ จึงขอกล่าวนำถึงความหมายของถ้อยคำสำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดีศึกษานี้ ให้รับทราบเบื้องต้นกันก่อน สำหรับบางท่านซึ่งอาจไม่คุ้นเคยศัพท์การประกันภัยต่อ
พจนานุกรมศัพท์ประกันภัย พิมพ์ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2560 (แก้ไขเพิ่มเติม) ฉบับราชบัณฑิตยสภา ให้คำนิยาม ดังนี้
“facultative reinsurance; specific reinsurance การประกันภัยต่อเฉพาะราย
การประกันภัยต่อวิธีหนึ่งซึ่งไม่มีข้อตกลงล่วงหน้า ผู้เอาประกันภัยต่อและผู้รับประกันภัยต่อจะต้องมีการตกลงกันทำสัญญาประกันภัยต่อเป็นรายไป โดยทั้ง 2 ฝ่ายมีอิสระที่จะทำสัญญาหรือไม่ก็ได้ ซึ่งแตกต่างกับการประกันภัยต่อตามสัญญา (treaty reinsurance)
follow the settlements การยอมตามการชดใช้
1. หลักการในการประกันภัยต่อที่ผู้รับประกันภัยต่อยอมรับการปฏิบัติของผู้เอาประกันภัยต่อ ในเรื่องการพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หากผู้เอาประกันภัยต่อได้กระทำโดยสุจริต แต่ไม่ตัดสิทธิผู้รับประกันภัยต่อที่จะโต้แย้งว่า ภัยนั้นไม่ได้รับความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยต่อ
2. ข้อกำหนดในสัญญาประกันภัยต่อเพื่อการยอมตามการชดใช้
slip สลิป
เอกสารที่นายหน้าประกันภัยเสนอต่อผู้รับประกันภัย โดยระบุรายละเอียดของภัยที่ต้องการเสนอให้ผู้รับประกันภัยพิจารณารับประกันภัย ผู้รับประกันภัยจะตอบรับประกันภัย โดยลงชื่อย่อกำกับในสลิป และระบุส่วนที่จะรับเสี่ยงภัยไว้
สลิปอาจถูกจัดทำโดยผู้รับประกันภัยต่อ (reinsurance slip) เพื่อส่งไปให้แก่ผู้เอาประกันภัยต่อเพื่อพิจารณาโดยตรงไม่ได้ผ่านนายหน้าก็ได้”
ความเป็นมา
บริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง (บริษัทประกันภัย A) ได้รับประกันภัยโรงกลั่นน้ำมันรายหนึ่งไว้ ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยชุดซึ่งให้ความคุ้มครองแบบความเสี่ยงภัยทุกชนิดแก่ทรัพย์สินต่าง ๆ ของผู้เอาประกันภัย รวมถึงการหยุดชะงักของธุรกิจเอาไว้ด้วย มีระยะเวลาประกันภัยหนึ่งปี นับแต่วันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 2001
เนื่องด้วยทุนประกันภัยรวมมีมูลค่าสูง และมีความเสี่ยงภัยค่อนข้างมาก บริษัทประกันภัยนี้จึงได้จัดทำประกันภัยต่อแบบเฉพาะราย (Facultative Reinsurance) เสริมเผื่อเอาไว้ด้วยกับผู้รับประกันภัยต่อ คือ บริษัทประกันภัยต่อ C ซึ่งได้จัดทำ
สลิป (slip) ตอบรับยืนยันข้อตกลงโดยระบุรายการส่วนได้เสียที่คุ้มครองว่า “สำหรับเครื่องจักรกับอุปกรณ์ซึ่งตั้งอยู่ ณ โรงงานบนพื้นดิน และ/หรือทรัพย์สินต่าง ๆ ของผู้เอาประกันภัยตรงตามที่ได้เอาประกันภัยไว้นั้น”
พร้อมทั้งมีเงื่อนไขประกอบอีกว่า “ให้เป็นไปตามข้อบังคับ ข้อกำหนด เงื่อนไข ข้อยกเว้น ตลอดจนข้อตกลงชดใช้ของกรมธรรม์ประกันภัยต้นฉบับตราบเท่าที่มีผลใช้บังคับได้”
ต่อมา โรงกลั่นน้ำมันที่เอาประกันภัยได้เกิดเหตุความเสียหายขึ้นมาสองครั้งภายในช่วงระยะเวลาประกันภัยดังกล่าว
แต่ปรากฏว่า ทั้งสองเหตุการณ์ล้วนถูกปฏิเสธความรับผิดชอบจากบริษัทประกันภัยต่อ C ซึ่งอ้างว่า ไม่ตกอยู่ภายใต้ข้อตกลงสัญญาประกันภัยต่อแต่ประการใด โดยไม่คำนึงว่า บริษัทประกันภัย A ได้ตกลงรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยตรงแล้ว
บริษัทประกันภัย A จึงนำคดีขึ้นสู่ศาล
ผลทางคดี
สามารถพอสรุปออกมาเป็นสองกรณี กล่าวคือ
กรณีเหตุความเสียหายแรกต่อหน่วยผลิตน้ำมันเตา (Visbreaker Unit)
สาเหตุความเสียหายเนื่องมาจากความผิดพลาดของคนงาน ซึ่งบริษัทประกันภัยต่อ C อ้างว่า มิได้อยู่ในคำจำกัดความเฉพาะของอุบัติเหตุดั่งที่ได้กำหนดไว้เอกสารซึ่งตนเองได้รับมา
“หมายความถึง การชำรุดเสียหายโดยอุบัติเหตุอย่างฉับพลันของวัตถุ หรือส่วนใดที่ได้เอาประกันภัยไว้นั้น โดยก่อให้เกิดความเสียหายทางกายภาพขึ้นมาจนถึงขนาดจำต้องซ่อมแซม หรือเปลี่ยนทดแทนวัตถุ หรือส่วนใดที่ได้เอาประกันภัยไว้นั้นเอง”
อนึ่ง อุบัติเหตุมิได้หมายความรวมถึงผลที่เกิดเนื่องจากสาเหตุดังที่กำหนดยกเว้นเอาไว้โดยเฉพาะเจาะจงด้วย อันได้แก่ ภัยระเบิด
บริษัทประกันภัย A โจทก์ต่อสู้ว่า คำจำกัดความเฉพาะใช้บังคับกับส่วนความคุ้มครองเรื่องของหม้อน้ำกับเครื่องจักรเท่านั้น
เมื่อมีการยอมรับกันว่า หน่วยผลิตน้ำมันเตาที่เสียหายนั้นมิได้ถูกจัดอยู่ในรายการของเครื่องจักร จึงควรอาศัยความหมายทั่วไปของอุบัติเหตุซึ่งมิได้ถูกกำหนดคำนิยามไว้ในการตีความ
กระนั้นก็ตาม บริษัทประกันภัยต่อ C จำเลยได้โต้แย้งกลับไปว่า ตามสลิปที่แจ้งยืนยันนั้นก็ระบุอย่างชัดแจ้งแล้วนี่ เพียงรับประกันภัยต่อเฉพาะส่วนของเครื่องจักรกับอุปกรณ์เท่านั้น ทั้งยังได้รับเอกสารแถลงมาเฉพาะรายการดังกล่าวเท่านั้น ตนไม่เคยเห็นกรมธรรม์ประกันภัยต้นฉบับทั้งหมดอย่างครบถ้วนเลย แล้วจะให้เข้าใจได้เองอย่างไรว่า ตนควรรู้ที่เขียนต่อท้ายรายการส่วนได้เสียหายที่คุ้มครองนั้นว่า “และ/หรือทรัพย์สินต่าง ๆ ของผู้เอาประกันภัยตรงตามที่ได้เอาประกันภัยไว้นั้น” คือ สิ่งที่ตนจำต้องรับผิดทั้งหมด
อนึ่ง ประเด็นหลักการเรื่องการยอมปฏิบัติตาม (Follow The Settlements) นั้น เมื่อข้อตกลงสัญญาประกันภัยตรงกับสัญญาประกันภัยต่อไม่ล้อตามกัน (back-to-back) ไม่สามารถนำมากล่าวอ้างใช้บังคับได้ โดยเฉพาะส่วนที่มิได้ตกลงกันไว้
ศาลตัดสินให้ฝ่ายจำเลยไม่มีความรับผิดตามฟ้อง
กรณีเหตุความเสียหายที่สองต่อหน่วยเครื่องปฏิกรณ์ (Reactor Unit)
มีข้อพิพาทเพียงประเด็นว่า มีสาเหตุมาจากภัยระเบิดอันอยู่ในข้อยกเว้นหรือเปล่า?
ฝ่ายจำเลยแย้งว่า ผลการระเบิดได้ก่อให้เกิดร่องรอยแตกร้าว
ขณะที่ฝ่ายโจทก์อ้างว่า นั่นมิได้อยู่ความหมายของการระเบิด เพราะไม่ได้ก่อให้เกิดความรุนแรงกับเสียงดังจนถึงขนาดทำให้ผู้คนตื่นตระหนกตกใจ เพียงแค่มีเสียงดังให้พอรับรู้ โดยที่คนงานยังไม่ใส่ใจ และคงทำงานต่อไปตามปกติเท่านั้น
แม้ไม่ปรากฏคำนิยามของการระเบิดกำกับไว้ แต่ศาลเห็นพ้องกับการตีความของฝ่ายโจทก์ จึงวินิจฉัยให้ฝ่ายจำเลยรับผิด
(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Aegis Electrical and Gas International Services Company Ltd v Continental Casualty [2007] EWHC 1762 และ
Aegis Electrical and Gas International Services Company Ltd v Continental Casualty Co. [2008] Lloyd’s Rep IR 17)
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น