วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2565

เรื่องที่ 170 :  การประเมินราคาค่าเสียหายจะใช้วันที่เกิดความเสียหาย หรือวันที่ศาลตัดสินเป็นเกณฑ์?

ปี ค.ศ. 1968 หน่วยงานท้องถิ่นเมืองหนึ่งที่ต่างประเทศได้จัดทำโครงการก่อสร้างอาคารที่จอดรถขนาดใหญ่ขึ้นมาในตัวเมือง โดยได้ว่าจ้างผู้รับเหมาหลักดำเนินการ

ระหว่างที่ผู้รับเหมาช่วงงานเสาเข็มกำลังทำงานตอกเสาเข็มอยู่นั้น ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่อาคารข้างเคียง แต่ฝ่ายผู้เสียหายมาตรวจพบเจอความเสียหายเอาในปี ค.ศ. 1970 จากนั้นคู่กรณีทั้งสองฝ่ายได้มีข้อพิพาทโต้แย้งเรื่องความรับผิดกันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายปี จวบจนท้ายที่สุดเมื่อมีการนำคดีพิพาทขึ้นสู่ศาลในปี ค.ศ. 1978 ฝ่ายจำเลยผู้รับเหมาถึงยอมรับในการกระทำผิดของตนเอง

อย่างไรก็ดี บังเกิดมีประเด็นข้อโต้แย้งเพิ่มเติมในคดีนี้ว่า มูลค่าเสียหายที่ฝ่ายจำเลยจำต้องรับผิดนั้น คือ จำนวนเงินเท่าไหร่กันแน่? (ไม่รวมดอกเบี้ย) เนื่องจาก

ก) ฝ่ายจำเลย เห็นว่า ต้องใช้เกณฑ์ราคาค่าซ่อมแซม ณ วันที่เกิดความเสียหาย คือ ปี ค.ศ. 1968 ซึ่งคำนวณราคาออกมาได้รวมทั้งสิ้น 15,483 ปอนด์สเตอร์ลิง (หรือเทียบเท่าประมาณ 652,650.25 บาท ในอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน 42.1527 บาท/1 ปอนด์สเตอร์ลิง)

ข) ฝ่ายโจทก์ โต้แย้งว่า ต้องใช้ราคาค่าซ่อมแซม ณ วันที่นำคดีขึ้นสู่ศาลเป็นเกณฑ์ถึงถูกต้องเหมาะสมกว่า คือ ปี ค.ศ. 1978 (ซึ่งจะมีการลงมือซ่อมแซมจริง) คำนวณราคาออกมาได้รวมทั้งสิ้น 42,278 ปอนด์สเตอร์ลิง (หรือเทียบเท่าประมาณ 1,782,131.85 บาท ในอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน 42.1527 บาท/1 ปอนด์สเตอร์ลิง) อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อเป็นสำคัญ

ศาลชั้นต้นพิจารณาตามหลักกฎหมายแล้ว ให้ยึดถือวันที่เกิดความเสียหาย หรือไม่ควรเกินในปี ค.ศ. 1970 เป็นเกณฑ์ วินิจฉัยให้ฝ่ายจำเลยชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดรวมดอกเบี้ยตามเกณฑ์แล้วเป็นจำนวนเงิน 22,974.20 ปอนด์สเตอร์ลิง (หรือเทียบเท่าประมาณ 968,424.56 บาท)

ฝ่ายโจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จริงอยู่ที่ว่าหลักกฎหมายทั่วไป ให้ยึดถือมูลค่าความเสียหาย ณ วันที่เกิดความเสียหายเป็นเกณฑ์ โดยมีเจตนารมณ์เพื่อชดเชยทำให้ผู้เสียหายได้กลับคืนสู่สภาพดังเดิมโดยเร็วที่สุด เสมือนหนึ่งมิได้เกิดเหตุขึ้นมาเลย แต่บางสถานการณ์ อาจมีปัจจัยอันสมควรต่าง ๆ ซึ่งพึงที่จะต้องนำมาพิจารณาประกอบอยู่ด้วย เป็นต้นว่า อาจรอดูให้แน่ใจเสียก่อนว่า ความเสียหายนั้นนิ่งแล้วหรือยัง? หรือกรณีที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้?

ในคดีนี้ ศาลอุทธรณ์จึงตัดสินให้ยึดถือค่าซ่อมแซมที่คำนวณขึ้นมาในปี ค.ศ. 1978 เป็นตัวเลขที่เหมาะสมซึ่งควรกระทำได้โดยเร็วที่สุดแล้ว

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Dodd Properties (Kent) Ltd. v Canterbury City Council [1980] 1 WLR 433)

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการประกันภัยมีบัญญัติประเด็นนี้ไว้ ดังนี้

มาตรา 877  ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

(1) เพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริง

(2) เพื่อความบุบสลายอันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้เพราะได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องปัดความวินาศภัย

(3) เพื่อบรรดาค่าใช้จ่ายอันสมควรซึ่งได้เสียไปเพื่อรักษาทรัพย์สินซึ่งเอาประกันภัยไว้นั้นมิให้วินาศ

อันจำนวนวินาศจริงนั้น ท่านให้ตีราคา ณ สถานที่และในเวลาซึ่งเหตุวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้น อนึ่ง จำนวนเงินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้นั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นหลักประมาณอันถูกต้องในการตีราคาเช่นว่านั้น

 ท่านห้ามมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้

 มาตรา 869  อันคำว่า “วินาศภัย” ในหมวดนี้ ท่านหมายรวมเอาความเสียหายอย่างใด ๆ บรรดาซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้

หลายคราวในความเป็นจริง เมื่อเกิดความเสียหายทั่วไปขึ้นมา กว่าจะเจรจาต่อรองตกลงกันได้ระหว่างคู่กรณีอาจใช้เวลาพอสมควร ผลกระทบต่อมูลค่าความเสียหายไม่ใคร่ส่งผลนัก แต่หากทอดเวลานานออกไป โดยเฉพาะสภาพการณ์ปัจจุบัน ซึ่งอัตราเงินเฟ้อค่อนข้างสูง น่าจะเป็นปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดข้อโต้เถียงกันเช่นนี้ขึ้นมาได้ง่าย

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น