เรื่องที่ 172 : ติดเงื่อนไขพิเศษผิด ชีวิตเปลี่ยน : เพื่อรองรับผลการปิดกั้นจนทำให้ธุรกิจหยุดชะงัก
(ตอนที่สาม)
ครั้งเมื่อพายุเฮอริเคนฟลอยด์พัดถล่มเมืองวอชิงตัน มลรัฐนอร์ทแคโรไลยา ประเทศสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1999 ได้ก่อให้เกิดฝนตกหนักจนทำให้มีน้ำท่วมแผ่ไปทั่วบริเวณอย่างกว้างขวาง
สถานที่ของผู้เอาประกันภัยซึ่งประกอบกิจการโรงงานผลิต และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เรือกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน โดยมีที่ตั้งอยู่ชานเมืองแห่งนั้น และอาศัยเพียงถนนเส้นเดียวในการเข้าถึง ประสบปัญหาน้ำท่วมถนนเส้นนั้นด้วยเหมือนกัน จนรถทั่วไปไม่สามารถใช้สัญจรผ่านเข้าออกได้ตามปกติ ในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 16 - 25 กันยายน ค.ศ. 1999 ส่งผลทำให้ผู้เอาประกันภัยจำต้องหยุดประกอบกิจการชั่วคราวโดยปริยาย
หลังจากผ่านไปเจ็ดวัน พอระดับน้ำลดลงอยู่ในวิสัยที่รถใหญ่สามารถแล่นผ่านไปมาได้ ผู้เอาประกันภัยได้ใช้รถบรรทุกขนส่งพนักงานเพื่อเข้าไปดำเนินกิจการต่อจวบจนกระทั่งสามารถทำให้ผลผลิตซึ่งตกลงไปประมาณสามสิบสามเปอร์เซ็นต์นั้น (หรือคำนวณมูลค่าความเสียหายเป็นตัวเงินได้ประมาณหนึ่งล้านดอลล่าร์) กลับคืนมาสู่ระดับปกติก่อนช่วงน้ำท่วมได้ในวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 1999
ภายหลังจากเมื่อบริษัทประกันภัยได้ตอบปฏิเสธความคุ้มครอง ภายใต้เงื่อนไขพิเศษว่าด้วยการขัดขวางมิให้เข้า/ออกได้ (Ingress/Egress Clause) ของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจฉบับพิพาท โดยอ้างเหตุผลทรัพย์สินที่เอาประกันภัยของผู้เอาประกันภัยนั้นมิได้รับความเสียหายทางกายภาพด้วย (เนื่องด้วยตั้งอยู่บนเนินสูง) จากภัยที่คุ้มครอง กล่าวคือ ภัยลมพายุกับภัยน้ำท่วม ผู้เอาประกันภัยจึงไม่มีทางเลือกนอกเหนือจากนำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อพิจารณาหาข้อยุติ
ผลการวิเคราะห์พยานหลักฐานต่าง ๆ ของคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว ศาลได้วินิจฉัย โดยจำแนกออกมาเป็นประเด็นต่าง ๆ ตามลำดับ ดังนี้
1) เงื่อนไขพิเศษว่าด้วยการขัดขวางมิให้เข้า/ออกได้ (Ingress/Egress Clause)
ได้มีข้อความกำหนดโดยสามารถถอดความออกมาเป็นภาษาไทยว่า
“กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้คุ้มครองความสูญเสียอันเป็นผลเนื่องมาจากภัยที่คุ้มครองซึ่งเกิดขึ้นระหว่างช่วงระยะเวลาเมื่อการเข้าสู่ (ingress) หรือการออกจาก (egress) สถานที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ และสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้รับความคุ้มครองในที่นี้ ได้ถูกปิดกั้น”
ตามข้อความจริงที่เกิดขึ้นล้วนเข้าข่ายความคุ้มครองดังกล่าว เนื่องจากภัยลมพายุกับภัยน้ำท่วมล้วนเป็นภัยที่คุ้มครอง เช่นเดียวกับสถานที่ตั้งของทรัพย์สินที่เอาประกันภัย รวมทั้งถ้อยคำของการเข้าสู่ (ingress) หรือการออกจาก (egress) ซึ่งแม้นมิได้มีคำนิยามเฉพาะกำกับเอาไว้ก็ตาม คู่ความทั้งสองฝ่ายล้วนเข้าใจชัดเจนตรงกันว่า ให้ความหมายเหมือนกับคำว่า “การเข้าไปใช้ประโยชน์ หรือการเข้าถึง (access)”
2) ข้อกำหนดว่าด้วยความเสียหายทางกายภาพต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัย (Material Damage Proviso)
ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยซึ่งกล่าวอ้างข้อกำหนดดังกล่าว อันถือเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนทึ่ว่าจะต้องเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเสียก่อน กลไกความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักฉบับพิพาท (ในที่นี้ คือ เงื่อนไขพิเศษว่าด้วยการขัดขวางมิให้เข้า/ออกได้ (Ingress/Egress Clause)) ถึงจะมีผลใช้บังคับได้นั้น
เมื่อย้อนกลับไปอ่านเงื่อนไขพิเศษนั้นแล้ว ไม่ปรากฏมีข้อความใดเลยที่เขียนเอาไว้เช่นนั้น คำกล่าวอ้างเช่นว่านั้นจึงไม่อาจรับฟังได้
3) ระยะเวลาเอาประกันภัย (Period of Insurance)
เหตุการณ์ที่เกิดภัยลมพายุกับภัยน้ำท่วมตกอยู่ในช่วงระยะเวลาประกันภัย ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฏาคม ค.ศ. 1999 ถึงวันที่ 1 กรกฏาคม ค.ศ. 2000
ฉะนั้น ศาลจึงตัดสินให้ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยรับผิดแก่ฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยตามคำฟ้อง
(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Fountain Powerboat Industries, Inc. v. Reliance Insurance Co., 119 F.Supp. 2d 552 (E.D.N.C. 2000))
ข้อสังเกต
ลองคิดกลับมุมอีกด้าน หากว่า ผู้เอาประกันภัยรายนี้มิได้มีการขยายเงื่อนไขพิเศษนี้เอาไว้เลย และภัยน้ำท่วมที่คุ้มครองได้สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ภายในโรงงานของผู้เอาประกันภัย จนส่งผลทำให้ธุรกิจหยุดชะงัก หรือได้รับผลกระทบ ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักฉบับพิพาท ของผู้เอาประกันภัยรายนี้จะสามารถให้ผลบังคับได้ไหม?
ถ้าคำตอบออกมาว่า ได้ แล้วเราจะขยายเงื่อนไขพิเศษเช่นว่านี้อีกเพื่อประโยชน์อันใด?
ตอนหน้าไปพิจารณาอีกคดีศึกษากันนะครับ
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น