วันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2565

เรื่องที่ 172 : ติดเงื่อนไขพิเศษผิด ชีวิตเปลี่ยน : เพื่อรองรับผลการปิดกั้นจนทำให้ธุรกิจหยุดชะงัก

 

(ตอนที่สอง)

 

เนื่องด้วยเงื่อนไขพิเศษว่าด้วยคำสั่งห้ามเข้าพื้นที่ของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมาย (Civil Authority Clause) นั้นจะมีผลทำงานต่อเมื่อต้องถึงขนาดมีคำสั่งห้ามผ่านเข้าออกไปสู่สถานที่เอาประกันภัยอย่างเด็ดขาดเท่านั้น ฉะนั้น กรณีที่ปราศจากคำสั่งห้ามดังกล่าว มีเงื่อนไขพิเศษอื่นที่คล้ายคลึงกันเป็นทางเลือกให้พิจารณา อันได้แก่

 

(1) เงื่อนไขพิเศษว่าด้วยการกีดกั้นการเข้าไปใช้ประโยชน์ (Prevention of Access Clause)

(2) เงื่อนไขพิเศษว่าด้วยการขัดขวางมิให้เข้าไปใช้ประโยชน์ (Denial of Access Clause)

(3) เงื่อนไขพิเศษว่าด้วยการขัดขวางมิให้เข้า/ออกได้ (Ingress/Egress Clause)

 

โดยหลักการ ทั้งสามข้อล้วนมีวัตถุประสงค์หลักเหมือนกัน คือ ได้เกิดความเสียหายจากภัยที่คุ้มครองส่งผลถึงขนาดปิดกั้น หรือขัดขวางจนไม่สามารถจะเข้าไปสู่ หรือออกจากสถานที่เอาประกันภัยได้ โดยที่สองข้อแรกสามารถใช้ทดแทนกันได้ และนิยมเลือกใช้กันแพร่หลายทั่วโลก ขณะที่ข้อสามจะพบเห็นได้เฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกามากกว่า

 

อย่างไรก็ดี ข้อพึงระวังในการเลือกใช้ จำต้องตรวจสอบถ้อยคำในเงื่อนไขต่าง ๆ เหล่านั้นอย่างถี่ถ้วน เพราะปรากฏมีการร่างถ้อยคำที่แตกต่างกันออกไปอย่างมากมาย ขึ้นอยู่กับเจตนารมณ์ของผู้ร่างเป็นเกณฑ์ หามาตรฐานเดียวกันมิได้

 

จำได้ช่วงเหตุการณ์มหาอุทกภัยบ้านเราครั้งปี พ.ศ. 2554 มีบางรายสอบถามเข้ามาด้วยความฉงนใจอย่างมากว่า ทำไมเมื่อติดแนบเงื่อนไขพิเศษจำพวกนี้แล้ว บางกรมธรรม์ประกันภัยสามารถคุ้มครองให้ได้ แต่บางฉบับกลับปฏิเสธ?

 

ครั้นไปตรวจสอบถ้อยคำของทั้งสองฉบับเทียบเคียงกัน พบว่า เขียนถ้อยคำแตกต่างกัน

 

ฉบับแรก เขียนทำนองว่า หากได้เกิดความเสียหายจากภัยที่คุ้มครองแก่ทรัพย์สินใดที่อยู่โดยรอบจนส่งผลถึงขนาดทำให้ไม่สามารถเข้าออกสถานที่เอาประกันภัยได้ จะได้รับความคุ้มครองผลสืบเนื่องทางการเงินจากเหตุการณ์ดังว่านั้น โดยไม่คำนึงว่า จะเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยด้วยหรือไม่ก็ตาม ถ้อยคำลักษณะนี้จะเรียกว่า “Non-Damage Clause” ซึ่งถูกร่างขึ้นมาใหม่ และนิยมใช้ในปัจจุบัน

 

ฉบับที่สอง เขียนทำงานว่า ถ้าได้เกิดความเสียหายจากภัยที่คุ้มครองแก่ทรัพย์สินใดที่อยู่โดยรอบจนส่งผลถึงขนาดทำให้ไม่สามารถเข้าออกสถานที่เอาประกันภัยได้ จะได้รับความคุ้มครองผลสืบเนื่องทางการเงินจากเหตุการณ์ดังว่านั้น แต่ทั้งนี้จะต้องเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยขึ้นมาด้วยเท่านั้น ถ้อยคำลักษณะนี้จะเรียกว่า “Damage Clause หรือ Material Damage Proviso” นั่นเอง ซึ่งถูกร่างเอาไว้ดั้งเดิม และไม่นิยมใช้กันแล้วปัจจุบันนี้

 

อนึ่ง นอกเหนือจากนี้ เงื่อนไขพิเศษจำพวกนี้ บางฉบับอาจจำกัดภัยคุ้มครองให้ลดน้อยลงไปกว่าปกติ หรือบางฉบับอาจจำกัดอาณาเขตรัศมีของความเสียหายโดยรอบอย่างชัดแจ้งก็มีพบเห็นได้   

 

ท่านใดสนใจตัวอย่างเงื่อนไขพิเศษจำพวกนี้ ร้องขอมาได้นะครับ ผมมีรวบรวมไว้พอสมควร

 

ตอนต่อไป เราจะไปดูตัวอย่างคดีศึกษาการตีความของถ้อยคำที่ปรากฏในเงื่อนไขพิเศษจำพวกนี้กันนะครับ

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น