วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2565

เรื่องที่ 169 : งู (หรือสัตว์แมลงอื่น) กัดลูกค้า เจ้าของสถานที่บริการแห่งนั้นจำต้องรับผิดตามกฎหมายหรือไม่?

 

(ตอนที่สาม)

 

ตัวอย่างคดีศึกษาคดีที่สอง เหตุเกิดภายในอาคารสิ่งปลูกสร้าง

 

ขอสลับไปเป็นสัตว์แมลงชนิดอื่นเทียบเคียงให้เห็นภาพกว้างบ้างนะครับ

 

จำเลยมีบ้านแบ่งห้องพักกับเรือนพักให้เช่าพร้อมบริการอาหารเช้า โดยมีการว่าจ้างแม่บ้านเข้ามาช่วยจัดเตรียมความเรียบร้อย และทำความสะอาดห้องพักล่วงหน้าก่อนแขกผู้พักอาศัยจะมาถึง ซึ่งรวมถึงกระบวนการฉีดยาฆ่าแมลง เวลาเมื่อแม่บ้านพบเห็นปัญหาเรื่องแมลงเท่านั้น

 

ต้นปี ค.ศ. 2014 โจทก์ได้เช่าเรือนพัก (cabin) ซึ่งตั้งอยู่แยกออกมาเป็นส่วนตัวต่างหาก ในเรือนพักจัดให้เพียงมีตู้เย็นเล็ก ๆ ไว้ให้ ส่วนอุปกรณ์ซักรีดกับตู้เย็นขนาดใหญ่เพื่อเก็บสำรองอาหารสามารถไปใช้รวมที่บ้านของจำเลยผู้ให้เช่าได้ ด้วยความที่โจทก์มีความรู้ทางช่างอยู่บ้าง จึงเสนอตัวให้บริการช่วยเหลืองานด้านไฟฟ้า และงานบำรุงรักษาซ่อมแซมให้แก่จำเลยตามแต่จะเรียกใช้ ก่อนเกิดเหตุ ก็ได้รับการว่าจ้างจากจำเลยให้เข้าไปช่วยทำงานลักษณะดังกล่าวเป็นครั้งคราวบ้างแล้ว

 

ณ วันที่เกิดเหตุ 12 ธันวาคม ค.ศ. 2014 โจทก์ได้ถูกเรียกตัวเข้าไปตรวจสอบเครื่องล้างจาน และแก้ไขปัญหาน้ำรั่วตรงอ่างล้าง (sink) ขณะก้มลงไปตรวจสอบข้างใต้อ่างล้างนั้น โจทก์ได้ถูกแมงมุมแม่ม่ายสีน้ำตาล (brown recluse spider) กัด ซึ่งเป็นแมงมุมชนิดมีพิษร้ายแรง หากรักษาไม่ทันท่วงทีอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ และแมงมุมชนิดนี้สามารถพบเจอได้ในหลายรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงรัฐที่เกิดเหตุด้วย

 

ก่อนหน้านั้น โจทก์ให้การว่า ได้เคยพบเจอแมงมุมหลายครั้งทั้งในส่วนของห้องพัก และเรือนพัก โดยได้รายงานให้จำเลยผู้ให้เช่าได้รับทราบไปแล้ว จำเลยผู้ให้เช่าก็จะแจ้งข้อมูลนี้ต่อให้แม่บ้านรับเรื่องไปดำเนินการตามความเหมาะสมอีกทอดหนึ่ง

 

ที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีแขกผู้เข้าพักอาศัยร้องเรียนเรื่องปัญหารบกวนจากแมลงใด ๆ อีกทั้งตัวโจทก์กับจำเลยผู้ให้เช่าต่างยอมรับว่า ไม่เคยพบเจอแมงมุมแม่ม่ายสีน้ำตาลในบริเวณห้องพัก เรือนพัก และบริเวณพื้นที่โดยรอบมาก่อนด้วยเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม จำเลยผู้ให้เช่าเองยอมรับว่า เคยอ่านข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตถึงเรื่องราวที่ว่า แมงมุมชนิดนี้จัดเป็นสัตว์แมลงประจำถิ่นของภูมิภาคนี้ สันนิษฐานได้ว่า อาจมีอาศัยอยู่แถบบริเวณนี้ได้ ประกอบกับเคยได้รับฟังถึงข่าวที่ผู้คนถูกแมงมุมชนิดนี้กัดอยู่บ้าง แต่ยืนยันว่า ไม่เคยพบเจอภายในบริเวณพื้นที่ตั้งทรัพย์สินของตนเองมาก่อนเลย    

 

โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยผู้ให้เช่าเรียกร้องให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เนื่องจากความประมาทเลินเล่อในฐานะเจ้าของสถานที่ดังกล่าว โดยกล่าวหาว่า จำเลยผู้ให้เช่าได้รับรู้ หรือควรได้รับรู้ถึงสภาวะภยันตรายจากการมีอยู่ของแมงมุมแม่ม่ายสีน้ำตาล แต่กลับละเลยมิได้ทำหน้าที่ในการแจ้งเตือน หรือในการจัดการดูแลรักษาความปลอดภัยของสถานที่แห่งนั้นอย่างเหมาะสมเพียงพอ จนก่อให้การบาดเจ็บแก่โจทก์ขึ้นมาท้ายที่สุด

 

จำเลยผู้ให้เช่าต่อสู้ว่า ตามหลักกฎหมายทั่วไป มิได้กำหนดให้เจ้าของ หรือผู้ครอบครองสถานที่ต่าง ๆ จำต้องถึงขนาดคาดหวังถึงการมาปรากฏตัว หรือการปกป้องภยันตรายแก่ลูกค้าผู้เข้ามาใช้บริการทั่วไปจากสัตว์ป่า (animals ferae naturae) รวมถึงสัตว์ป่าประจำท้องถิ่นนั้น ๆ ตลอดจนแมงมุมแม่ม่ายสีน้ำตาลดั่งเช่นในคดีนี้ ซึ่งไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของครอบครองดูแลอยู่ อีกทั้งตนเองก็มิได้ทำการเชิญชวน หรือให้ที่พักพิงแก่สัตว์เหล่านั้นแต่ประการใด ด้วยเหตุนี้ ตนจึงไม่มีหน้าที่ในการที่จะต้องมาแจ้งเตือนถึงสิ่งที่ตนไม่ได้รับรู้ด้วย

 

ศาลชั้นต้นเห็นพ้องกับข้อต่อสู้ของจำเลยผู้ให้เช่า และตัดสินให้ไม่จำต้องรับผิด

 

โจทก์อุทธรณ์โต้แย้ง

 

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยผู้ให้เช่ามีความรับผิดตามฟ้อง โดยเห็นว่า โจทก์ได้ถูกแมงมุมดังกล่าวกัดในตัวอาคารสิ่งปลูกสร้าง และจำเลยผู้ให้เช่าได้รับรู้ หรือควรได้รับรู้ถึงความเสี่ยงภัยที่จะก่อให้เกิดภยันตรายขึ้นมาได้จากการปรากฏตัวของแมงมุมภายในห้องพักอยู่แล้ว ตลอดจนคำต่อสู้ตามหลักกฎหมายข้างต้นของจำเลยผู้ให้เช่าก็ยังไม่สามารถทำให้ศาลรับฟังคล้อยตามเช่นว่านั้นได้

 

จำเลยผู้ให้เช่ายื่นฎีกาคัดค้านคำตัดสินของศาลอุทธรณ์

 

ผลทางคดีจะเป็นเช่นไร? จะยืน หรือจะพลิก กรุณาอดใจรอลุ้นสัปดาห์หน้าครับ

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory

 

 

วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2565

เรื่องที่ 169 : งูกัดลูกค้า เจ้าของสถานที่บริการแห่งนั้นจำต้องรับผิดตามกฎหมายหรือไม่?

 

(ตอนที่สอง)

 

ตัวอย่างคดีศึกษาคดีแรก เหตุเกิดภายนอกอาคารสิ่งปลูกสร้าง

 

จำเลยประกอบกิจการปั๊มน้ำมัน หรือสถานบริการน้ำมัน โดยมีร้านอาหารอยู่ด้วยในบริเวณเดียวกัน

 

โจทก์กับน้องสาวได้ขับรถเข้ามาเพื่อจะรับประทานอาหาร ระหว่างเดินตามทางเท้าด้านนอกอาคารไปแวะเข้าห้องน้ำก่อน พอเดินเลี้ยวตรงหัวมุม ก็ปรากฏมีงูหางกระดิ่งตัวหนึ่งเลื้อยปราดออกมาจากพงหญ้าข้างทางขึ้นมา ทำให้เธอตกใจอย่างมาก รีบหันตัวกลับวิ่งหนีย้อนไปทันทีจนหกล้มได้รับบาดเจ็บตามร่างกาย และมีอาการสะโพกหัก

 

เธอจึงได้ยื่นฟ้องจำเลยเจ้าของสถานที่ประกอบกิจการแห่งนั้น เพื่อให้รับผิดชอบสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยกล่าวหาว่า จำเลยประมาทเลินเล่อที่ปล่อยปละละเลยมิได้จัดการตัดหญ้าบริเวณโดยรอบตัวอาคารสิ่งปลูกสร้างให้เรียบร้อย ซึ่งจะช่วยป้องกันมิให้มีงูเลื้อยเข้ามาอาศัยอยู่ได้ เพราะขณะเกิดเหตุ หญ้ามีความสูงประมาณระดับหกนิ้ว งูสามารถเลื้อยเข้ามาซ่อนตัวอยู่ได้ง่าย อีกทั้ง สภาพภูมิประเทศที่ตั้งของสถานบริการแห่งนั้นอยู่ห่างจากแหล่งน้ำประมาณหนึ่งไมล์ (หรือประมาณ 1.6 กิโลเมตร) อันเป็นแหล่งบริเวณที่ผู้คนทั่วไปสามารถพบเห็นงูได้บ่อยครั้ง

 

จำเลยต่อสู้ว่า นับแต่ที่ได้เปิดให้บริการมาเป็นเวลาล่วงหกปีแล้ว ก็ยังไม่เคยมีใครพบเห็นงูภายในสถานที่นั้นเลย การที่จะถือว่า จำเลยประมาทเลินเล่อด้วยการละเลยมิได้คอยตัดแต่งหญ้ามิให้มีระดับสูงเช่นว่านั้นได้ จำเลยก็ควรจะต้องสามารถคาดหวังได้ถึงการปรากฏมีงู หรือสัตว์ร้ายอื่น ๆ เข้ามาแอบหลบซ่อนตัวอาศัยจนอาจก่อให้เกิดภยันตรายแก่ผู้คนที่ใช้ทางเท้านั้นได้ แต่นี่ตลอดเวลาที่ได้เปิดให้บริการมาหกปีแล้ว ยังไม่เคยมีใครพบเจองู หรือสัตว์ร้ายอื่น ๆ ดังกล่าวเลยแม้แต่คนเดียว

 

ศาลได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทนี้ว่า จริงอยู่ แม้นเจ้าของ หรือผู้ครอบครองสถานที่มีหน้าที่ในการดูแลรักษาความปลอดภัยตามสมควรแก่ลูกค้าผู้เข้ามาใช้บริการทั่วไป (ผู้ได้รับเชิญทั่วไป (Public Invitee)) ก็ตาม แต่ถ้าเจ้าของ หรือผู้ครอบครองสถานที่แห่งนั้นมิได้พบเห็น หรือรับรู้ถึงสภาพอันอาจจะก่อให้เกิดผลสืบเนื่องความบาดเจ็บเช่นว่านั้นของโจทก์ได้ จึงยังไม่ถือได้ว่า จำเลยฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ดังกล่าวแก่โจทก์

 

จากพยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยที่ไม่ปรากฏมีผู้ใดเคยพบงูในบริเวณนั้นมาก่อนเลย ทำให้ศาลรับฟังได้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นไม่สามารถคาดการณ์ได้ เมื่อไม่อาจล่วงรู้ถึงภยันตรายดังกล่าวได้ ในส่วนของเจ้าของ หรือผู้ครอบครองสถานที่แห่งนั้นจึงไม่มีหน้าที่ที่จะคอยดูแลตัดแต่งหญ้าให้มีระดับสั้นลงมา เพื่อปกป้องภยันตรายดังกล่าว

 

อนึ่ง หน้าที่ในการปกป้องภัยที่ซ่อนเร้นได้นั้น ควรจะต้องอาศัยการรับรู้เป็นกรณีพิเศษของจำเลยด้วย ตามหลักกฎหมายทั่วไป มิได้กำหนดให้เจ้าของ หรือผู้ครอบครองสถานที่ต่าง ๆ จำต้องถึงขนาดคาดหวังถึงการมาปรากฏตัว หรือการปกป้องภยันตรายแก่ลูกค้าผู้เข้ามาใช้บริการทั่วไปจากสัตว์ป่า (animals ferae naturae) ซึ่งไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของครอบครองดูแลด้วย

 

พิพากษาให้จำเลยไม่จำต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำฟ้อง

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงจากคดี Williams v. Gibbs, 123 Ga. App. 677, 182 S.E.2nd 164 (Ga. App. 1971))

 

คดีศึกษานี้โจทก์ผู้เสียหายมิได้ถูกงูกัดโดยตรง แต่แม้กระนั้นก็ตาม ผลทางคดีคงไม่มีความแตกต่างกัน

 

ตอนต่อไป เราลองไปดูตัวอย่างคดีศึกษาจากเหตุที่เกิดภายในอาคารสิ่งปลูกสร้างเปรียบเทียบกันบ้างนะครับ ผลทางคดีจะแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร?

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory

 

 

วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2565

เรื่องที่ 169 : งูกัดลูกค้า เจ้าของสถานที่บริการแห่งนั้นจำต้องรับผิดตามกฎหมายหรือไม่?

 

(ตอนที่หนึ่ง)

 

ต้นเดือนมีภาพข่าวลูกค้าห้างสรรพสินค้าดังแห่งหนึ่งถูกงูกัดในบริเวณที่จอดรถ ก่อให้เกิดคำถามตามมาหลายกระแสว่า ห้างแห่งนั้นควรต้องรับผิดชอบหรือไม่?

 

ประเด็นนี้ได้มีผู้รู้หลายท่านได้ออกแสดงความคิดเห็นไปบ้างแล้ว

 

คงไม่ขอไปก้าวล่วง เพราะมิได้มีความรู้มากมายอะไรขนาดนั้น เพียงแต่สนใจถึงแนวทางสรุปในประเด็นนี้ว่า ควรจะมีแนวทางออกมาเช่นใด? เนื่องจากปกติ ห้างได้มีการทำประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก (Public Liability Insurance) อยู่แล้ว ฉะนั้น ในแง่ประกันภัย บริษัทประกันภัยซึ่งให้ความคุ้มครองควรเข้าไปรับผิดแทนในนามของห้างผู้เอาประกันภัยได้ไหม?

 

ได้พยายามสืบค้นแนวคำพิพากษาศาลไทย ยังไม่พบเจอ เลยลองสืบค้นต่อของต่างประเทศ ก็พบเจอหลายคดี พอนำมาเทียบเคียงในการวิเคราะห์ได้ ลองพิจารณาดูนะครับ

 

ส่วนตัวเคยหยิบยกประเด็นธนาคาร หรือศูนย์การค้าจำต้องรับผิดตามกฎหมายหรือเปล่า เวลาที่มีโจรเข้าไปจี้ปล้น? มาเขียนไปหลายตอนในเรื่องที่ 114 แล้ว โดยขอนำมากล่าวทบทวนอีกครั้งถึงแนวคิดของนักกฎหมายต่างประเทศซึ่งมองว่า เจ้าของสถานที่ (หรือผู้ครอบครอง) อาจมีความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลอื่นจากการที่มิได้จัดการดูแลรักษาความปลอดภัย (Duty of Care บุคคลมีหน้าที่พึงระวังไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น แต่ในที่นี้ผมขอแปลว่า การที่มิได้จัดการดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ผู้อื่น) ภายในสถานที่ของตนได้ดีพอ ส่วนการที่ผู้เสียหายจะสามารถเรียกร้องค่าชดเชยจากเจ้าของสถานที่นั้นได้หรือไม่? ขึ้นอยู่กับการพิสูจน์ให้ศาลยอมรับฟังด้วย

 

การจำแนกประเภทของบุคคลภายนอกที่เข้ามาในสถานที่ต่าง ๆ สามารถจำแนกออกได้เป็น 3 ประเภท โดยจะมีการวางแนวทางระดับการดูแลรักษาความปลอดภัยแตกต่างกันไป กล่าวคือ

 

1) ผู้มิได้รับเชิญ หรือผู้บุกรุก (Trepasser)

 

ปกติแล้ว เจ้าของสถานที่ไม่มีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยแก่บุคคลประเภทนี้ซึ่งเข้ามาในสถานที่นั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ถ้าจะมีก็อยู่ในระดับต่ำที่สุด กรณีเพียงแค่จะต้องไม่วางกับดัก หรือกระทำการสิ่งใดโดยเจตนาอันอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้บุกรุกเท่านั้น แต่ระดับอาจเพิ่มสูงขึ้นได้ หากเป็นผู้บุกรุกซึ่งเจ้าของสถานที่คุ้นเคยกับพฤติกรรมของผู้บุกรุกหน้าเดิมอยู่แล้ว และละเลยไม่พยายามดำเนินการป้องกันด้วยกลไกทางกฎหมาย ฉะนั้น โดยทั่วไป ผู้บุกรุกซึ่งถูกคนร้ายเข้ามาทำร้ายภายในสถานที่ จึงไม่สามารถเรียกร้องให้เจ้าของสถานที่นั้นรับผิดได้ 

 

2) ผู้ได้รับอนุญาต หรือผู้มาเยือน (Licensee)

 

บุคคลประเภทนี้ซึ่งเกิดจากความสัมพันธ์ทางสังคมอาจจำแนกย่อยออกได้เป็นสองลักษณะ ได้แก่ ผู้มาเยือนที่นัดหมาย (Invited Licensee) เช่น ญาติพี่น้อง เพื่อน คนรู้จัก เป็นต้น กับผู้มาเยือนที่ถือวิสาสะ (Uninvited Licensee) เช่น พนักงานไปรษณีย์ คนสอบถามเส้นทาง เป็นต้น เจ้าของสถานที่มีหน้าที่เพียงเตือนถึงจุดพึงระวังอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากความไม่คุ้นเคยกับสถานที่ของบุคคลประเภทนี้เท่านั้น คือ อยู่ระดับกลางของการดูแลรักษาความปลอดภัย เช่นนี้ ในกรณีที่มีคนร้ายบุกเข้ามาทำร้ายผู้มาเยือนจึงมิอาจเรียกร้องให้เจ้าของสถานที่รับผิดได้ เพราะอยู่นอกเหนือการควบคุมของเจ้าของสถานที่นั้นเอง

 

3) ผู้ได้รับเชิญ (Invitee)

 

เป็นบุคคลประเภทซึ่งเจ้าของสถานที่จะได้ประโยชน์จากการที่เข้ามาในสถานที่ของตน โดยแบ่งย่อยออกได้เป็นผู้ได้รับเชิญทั่วไป (Public Invitee) เช่น ลูกค้า และผู้ได้รับเชิญทางธุรกิจ (Business Invitee) เช่น คู่ค้า พนักงานขาย พนักงานธนาคาร เป็นต้น เนื่องจากเจ้าของสถานที่มุ่งหวังประโยชน์จากผู้ได้รับเชิญเหล่านี้ จึงจำต้องใช้ระดับการดูแลรักษาความปลอดภัยสูงสุด ด้วยการเตือนถึงอันตรายที่ตนรับรู้ และจะต้องหมั่นคอยตรวจตราดูแลรักษาความปลอดภัยให้อยู่ในสภาพที่ดี รวมทั้งการใช้ความระมัดระวังถึงเหตุอันพึงคาดหวังได้กรณีที่อาจมีคนร้ายบุกเข้ามาด้วย (Foreseeable Third-party Crimes)

 

เมื่อเราเห็นภาพประเภทของบุคคลที่เข้ามากับระดับการดูรักษาความปลอดภัยของเจ้าของสถานที่ต่อบุคคลเหล่านั้นแล้ว ต่อไปมาลองดูตัวอย่างคดีศึกษาที่เกิดขึ้นในต่างประเทศกันบ้างในสัปดาห์หน้านะครับ ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในบ้านเราซะทีเดียว แต่น่าจะเทียบเคียงได้บ้าง

 

คดีแรก ลูกค้าถูกงูกัดในบริเวณปั๊มน้ำมัน หรือสถานบริการน้ำมัน (น่าสนใจนะครับ บ้านเรามีสถานบริการจำพวกนี้ค่อนข้างเยอะ ทั่วประเทศก็ว่าได้)

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory

 

วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2565

เรื่องที่ 168 :  เงื่อนไขพิเศษว่าด้วยการพึ่งพาระหว่างกัน (Interdependency Clause) ภายใต้การประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก

 

วันก่อนที่ได้มีโอกาสไปบรรยายให้ความรู้เบื้องต้นเรื่องการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก มีคำถามฝากถึงเรื่องเงื่อนไขพิเศษว่าด้วยการพึ่งพาระหว่างกัน (Interdependency Clause) หมายความถึงอะไร?

 

แม้จะได้ตอบข้อสงสัยไปเบื้องต้นแล้ว แต่ขอถือโอกาสนี้ด้วยการขยายความเพิ่มเติมอีก ดังนี้

 

เนื่องด้วยตามหลักการทั่วไปแล้ว การประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักจะเริ่มทำงานต่อเมื่อได้มีความเสียหายทางกายภาพจากภัยที่คุ้มครองแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยของผู้เอาประกันภัยเกิดขึ้นมาเสียก่อน และส่งผลกระทบสืบเนื่องต่อสถานะทางการเงินของผู้เอาประกันภัยนั้นเอง จนถึงขนาดทำให้ธุรกิจของผู้เอาประกันภัยนั้นต้องหยุดชะงักลงไป ซึ่งเรียกว่า “ข้อกำหนดว่าด้วยความเสียหายทางทรัพย์สิน (Material Damage Proviso)” นั่นเอง

 

ในบทความเรื่องที่ 78 ผมเคยเขียนเรื่อง แล้วถ้าทรัพย์สินที่เอาประกันภัยมีหลายรายการ บางรายการเท่านั้นที่ได้รับความเสียหาย ยังงี้ ถ้าเกิดธุรกิจหยุดชะงักทั้งหมดในภาพรวม จะสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (Business Interruption Insurance Policy) ได้หรือเปล่า? ไปบ้างแล้ว อันเป็นการแปลขยายความหมายของข้อกำหนดดังว่านั้น ซึ่งมุ่งเน้นไปกรณีลักษณะการพึ่งพาระหว่างกันของต่างส่วนงานที่เป็นของผู้เอาประกันภัยรายเดียวกัน ในสถานที่เดียวกัน โดยมักเรียกว่า “การอาศัยพึ่งพากันภายในระหว่างกันเอง (Mutual Dependency)

ถ้าเป็นการจำต้องอาศัยพึ่งพาระหว่างกันภายนอกทางธุรกิจ จะสามารถจำแนกออกได้เป็นสี่ลักษณะ ดังนี้

 

1) ลักษณะการจัดจำหน่ายให้ (Contributing Premises) คือ มีผู้อื่นรับภาระทำหน้าที่ในการจัดส่งวัสดุป้อนให้แก่ผู้เอาประกันภัย

 

2) ลักษณะการจัดจำหน่ายให้ (Recipient Premises) คือ มีผู้อื่นรับภาระทำหน้าที่ในการนำเอาสินค้าของผู้เอาประกันภัยไปจัดจำหน่ายแทนให้

 

3) ลักษณะการผลิตให้ (Manufacturing Premises) คือ มีผู้อื่นรับภาระทำหน้าที่ในการนำวัตถุดิบของผู้เอาประกันภัยไปผลิตแทนให้

 

4) ลักษณะการจัดหาแนะนำลูกค้าให้ (Leader Premises) คือ มีผู้อื่นรับภาระทำหน้าที่ในการแนะนำชักชวนลูกค้ามาให้ผู้เอาประกันภัย

 

ทั้งสี่ลักษณะนี้ ยังสามารถขยายความเพิ่มเติมได้อีกว่า ผู้อื่นนั้นอาจหมายความถึงบุคคลอื่นอย่างแท้จริงในรูปแบบของผู้จัดหา (Suppliers) หรือลูกค้า (Customers) ก็ได้ ทั้งที่อยู่ในประเทศ หรือต่างประเทศก็ได้ เพราะปัจจุบัน การติดต่อซื้อขายระหว่างประเทศนั้นมิได้เป็นเรื่องที่ยากลำบากอีกต่อไปแล้ว ดังนั้น ความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างกันเป็นเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจอย่างชัดเจน

 

อีกรูปแบบความสัมพันธ์ซึ่งจะมีความใกล้ชิดลึกซึ้งมากกว่า คือ

 

(ก) อยู่ในลักษณะเป็นบริษัทในย่อยเครือ (Subsidiary Company) คือ บริษัทที่มีอีกบริษัทหนึ่งถือหุ้นใหญ่และมีอำนาจควบคุมหลัก (ถือหุ้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเกินกว่าร้อยละ 50 ของทุนชำระแล้วของบริษัทนั้น)

 

(ข) อยู่ในลักษณะเป็นบริษัทร่วม (Associated Company) คือ บริษัทที่มีอีกบริษัทถือหุ้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมต่ำกว่าร้อยละ 50 ของทุนชำระแล้วของบริษัทนั้น ไม่มีอำนาจควบคุมหลัก

 

ในรูปแบบความสัมพันธ์ใกล้ชิดแนบแน่นเช่นนี้ จะใช้คำเรียกอย่างเจาะจงว่า “Interdepedency หรือ Group Interdepedency” ที่ผมขอแปลเป็นไทยว่า “การพึ่งพาระหว่างกัน หรือการพึ่งพาระหว่างกลุ่มบริษัทในเครือเดียวกัน

 

โดยสรุป เงื่อนไขพิเศษว่าด้วยการพึ่งพาระหว่างกัน (Interdependency Clause)  นี้จะเป็นการขยายความคุ้มครองการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักตรงที่ว่า แม้นจะไปเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยของบริษัทในเครือ ณ แห่งอื่น แต่ได้ส่งผลกระทบทางการเงินโดยทางอ้อมมาถึงบริษัทของผู้เอาประกันภัยซึ่งอยู่ในเครือเดียวกันอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งมิได้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยของผู้เอาประกันภัยเองก็ตาม ความคุ้มครองจากการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักของผู้เอาประกันภัยก็จะทำงานให้ความคุ้มครองเสมือนหนึ่งได้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยของผู้เอาประกันภัยเองนั่นเอง

 

ขณะที่กรณีมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจทั่วไประหว่างในสถานะเป็นผู้จัดหา (Suppliers) หรือลูกค้า (Customers) หากประสงค์จะได้รับความคุ้มครองลักษณะเช่นเดียวกัน ก็จำต้องขยายเป็นเงื่อนไขพิเศษว่าด้วยผู้จัดหา (Suppliers Clause) หรือลูกค้า (Customers Clause) แล้วแต่กรณีแทน

 

เหตุการณ์มหาอุทกภัยในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2554 จะเห็นประโยชน์จากเงื่อนไขพิเศษเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน ผู้เอาประกันภัยการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักซึ่งได้ขยายเงื่อนไขพิเศษเหล่านี้ไว้พลอยได้รับอานิสงส์จากผลกระทบทางการเงินที่เกิดขึ้นแก่ตนได้ ถึงแม้จะอยู่ห่างกันคนละมุมโลก

 

(อ้างอิงและเรียบเรียงมาจากบทความเรื่อง Ownership of Interdependent Business Does Not Necessarily Foreclose Coverage – Understanding Business Interruption Claims, Part 84 สืบค้นจาก

https://www.propertyinsurancecoveragelaw.com/2011/08/articles/settlement/ownership-of-interdependent-business-does-not-necessarily-foreclose-coverage-understanding-business-interruption-claims-part-84/)

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory