วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

เรื่องที่ 155 : ค่าเสื่อมราคา (Depreciation) จะได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักหรือไม่?

 

(ตอนที่สอง)

 

โดยหลักการทั่วไปจะจัดค่าเสื่อมราคา (Depreciation) อยู่ในรายการของค่าใช้จ่ายคงที่ (Standing Chareges/Fixed Costs) ด้วยมองว่า ถึงแม้จะได้มีการชดใช้ความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยซึ่งได้รับความเสียหายตามมูลค่าที่แท้จริง ด้วยการนำค่าเสื่อมราคามาหักออกไปรอบหนึ่งแล้วดังที่ได้เกริ่นตอนต้นของตอนที่ผ่านมา (หรือหากกำหนดเป็นหลักเกณฑ์มูลค่าทรัพย์สินใหม่ (Replacement Value) จะไม่มีการหักค่าเสื่อมราคาก็ได้)

 

ครั้นเมื่อพิจารณาถึงความเสียหายสืบเนื่องทางการเงิน (Consequential Loss) ของการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก ก็ควรนำปัจจัยค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินที่เสียหาย อันได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นซึ่งถูกคำนวณตั้งประมาณการหนี้สิน (Provision)* ตามหลักการบัญชีเผื่อเอาไว้แล้ว แต่ท้ายที่สุดมิได้ถูกจ่ายออกไปจริงมาหักออกไปจากกำไรขั้นต้น (Gross Profit) ที่คำนวณได้ด้วยเช่นกัน ในแง่เป็นค่าใช้จ่ายของกิจการที่ประหยัดได้ (Savings) ตามสูตรคำนวณเวลาชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

 

*(มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 37 เรื่อง ประมาณการหนี้สิน หนี้สินที่อาจเกิดขึ้น และสินทรัพย์ที่อาจเกิดขึ้น ได้ให้คำนิยามที่สำคัญ ดังนี้ (สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ (เผยแพร่ 27 กุมภาพันธ์ 2563))

 

ประมาณการหนี้สิน (A Provision) หมายถึง หนี้สินที่มีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับจังหวะเวลาหรือจำนวนเงินที่ต้องจ่ายชำระ ตัวอย่างเช่น ประมาณการหนี้สินจากการรับประกันคุณภาพสินค้าหลังการขาย ประมาณการหนี้สินจากสัญญาที่สร้างภาระ เป็นต้น)

 

แต่ในทางปฏิบัติแล้ว มีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยได้โต้แย้งกลับมาว่า ถ้าเป็นความเสียหายบางส่วน (Partial Loss) ต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยแล้ว พอยอมรับได้ แต่มิใช่กับความเสียหายโดยสิ้นเชิง (Total Loss) เพราะไม่มีทรัพย์สินนั้นหลงเหลืออยู่อีกต่อไปแล้ว ส่วนจะได้ทรัพย์สินใหม่มาทดแทนก็เป็นเรื่องของอนาคต

 

ทั้งสองฝ่ายต่างก็มีเหตุผลของตนเอง ทำให้เป็นเรื่องถกเถียงต่อไปไม่จบจวบจนทุกวันนี้

 

เราลองมาพิจารณาแนวคำพิพากษาศาลต่างประเทศกันนะครับ ซึ่งมีออกมาทั้งสองแนวความคิดเหมือนกันอีก

 

ได้เกิดลมพายุสร้างความเสียหายแก่คลังสินค้าเก็บอะไหล่รถยนต์ของผู้เอาประกันภัยจนได้รับความเสียหายอย่างมาก

 

โชคดีที่ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินกับกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักรองรับเอาไว้เรียบร้อยแล้ว

 

ในส่วนของการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก คู่สัญญาประกันภัยเห็นพ้องร่วมกันว่า ระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน (Indemnity Period) จริงกรณีนี้ คือ ระยะเวลา 12 เดือนนับแต่วันที่เกิดความเสียหาย

 

อย่างไรก็ดี ตัวเลขความเสียหายทางการเงินซึ่งผู้เอาประกันภัยได้คำนวณเสนอมานั้นยังมิได้นำเอาประมาณการหนี้สินในส่วนของประมาณการค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินที่เสียหายนั้นซึ่งเป็นยอดเงินรวม 1,449,509 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (หรือประมาณสามสิบสี่กว่าล้านบาท) มาคำนวณหักเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการที่ประหยัดได้ออกไปเลย

 

ทำให้เกิดข้อพิพาทกันขึ้นมา เนื่องด้วยฝ่ายผู้เอาประกันภัยเห็นว่า ไม่จำต้องหัก และเมื่อไม่สามารถตกลงกันได้ ฝ่ายผู้เอาประกันภัยจึงนำประเด็นเรื่องนี้เป็นคดีขึ้นสู่ศาล

 

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยสนับสนุนความคิดเห็นของฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลย พร้อมหยิบยกอ้างอิงแนวคำพิพากษาของศาลอังกฤษในประเด็นเรื่องนี้ซึ่งมีข้อกำหนดและเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักแทบไม่แตกต่างจากของคดีนี้เลย โดยเฉพาะดังที่กำหนดไว้ในตอนท้ายของสูตรคำนวณว่า

 

   การสูญเสียกำไรขั้นต้น อันเนื่องมาจาก () และ () ให้หักด้วยจำนวนเงินค่าใช้จ่ายของกิจการที่ประหยัดได้จากการยุติการจ่าย หรือจากการจ่ายน้อยลงในระหว่างระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ (payable out of) กำไรขั้นต้นที่เอาประกันภัย อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความเสียหาย

 

มิฉะนั้นจะส่งผลทำให้ผู้เอาประกันภัยจะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่ามูลค่าความเสียหายที่แท้จริง อันผิดจากหลักการประกันภัย

 

คุณมีความคิดเห็นเช่นใดบ้างครับ?

 

แต่คดีนี้ยังไม่ยุติ เพราะฝ่ายผู้เอาประกันภัยโจทก์ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น เนื่องด้วยมียอดเงินที่พิพาทกันสูงพอสมควรเป็นเดิมพัน

 

เราต้องคอยลุ้นกันต่อคราวหน้าแล้วล่ะครับ

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น