เรื่องที่ 154 : สัญญาจ้างทำ “ของ” (Hire of Work/Contract of Work) แล้ว “ของ (Work)” ที่ว่านี้หมายถึง “ผลิตภัณฑ์ (Product)” ด้วยหรือเปล่า?
สำหรับกรณีเมื่อสัญญาก่อสร้างถูกจัดเป็นสัญญาจ้างทำของประเภทหนึ่งนั้น แล้วผลงาน (Work) ที่ผู้รับเหมาได้กระทำลงไป เราจะเรียกผลงานนั้นว่าเป็น “ผลิตภัณฑ์ (Product)” ของผู้รับเหมานั้นได้ไหม?
ถ้าใช่ แล้วจะบังเกิดผลอะไรในแง่ของการประกันภัยการก่อสร้างได้บ้าง?
เรามาลองตัวอย่างคดีศึกษาจากต่างประเทศเรื่องนี้กันครับ
ผู้รับเหมาช่วงงานโครงสร้างของโครงการก่อสร้างแห่งหนึ่ง ซึ่งมีภาระหน้าที่ในการสร้างฐานคอนกรีตของปั้นจั่น (Crane Base) ด้วยการใช้เหล็กเดือย (Dowel Rods) ยึดติดกับเสาเข็ม ภายหลังจากได้ติดตั้งเครนหอสูงหรือปั้นจั่นหอสูง (Tower Cranes) เชื่อมต่อกับฐานนั้นแล้ว ต่อมาไม่นาน เครนหอสูงนั้นได้เกิดหักโค่นลงมาจนทำให้ตัวเครนนั้นเองเสียหายอย่างมาก ผู้ควบคุมปั้นจั่นได้รับบาดเจ็บสาหัส ตลอดจนยังล้มฟาดไปโดนทรัพย์สินของบุคคลอื่นที่อยู่ข้างเคียงได้รับความเสียหายไปด้วย
เนื่องจากโครงการก่อสร้างนี้มีการจัดทำประกันภัยคุ้มครองงานก่อสร้าง (Construction All Risks Insurance) ควบกับความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก และความรับผิดต่อผลิตภัณฑ์ (Combined Public & Products Liability Insurance) ไว้แล้ว ทางผู้รับเหมาซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมจึงได้แจ้งต่อบริษัทประกันภัยของตนให้มารับผิดชอบ
แต่บริษัทประกันภัยได้ปฏิเสธ โดยหยิบยกข้อยกเว้นซึ่งระบุไม่คุ้มครองถึงความรับผิด อันเกิดขึ้นมาจากผลิตภัณฑ์ใด ๆ และในส่วนความคุ้มครองความรับผิดต่อผลิตภัณฑ์ยังระบุเพิ่มเติมอีกด้วยว่า ไม่คุ้มครองถึงความรับผิดซึ่งเกิดขึ้นเนื่องมาจากการที่ผลิตภัณฑ์ไม่อาจใช้งานได้ตามจุดประสงค์ (Failure to fulfill its intended function)
โดยที่ “ผลิตภัณฑ์” นั้นมีความหมายถึง “ผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าใดซึ่งถูกผลิต ก่อสร้าง ติดตั้ง ดัดแปลงแก้ไข ซ่อมแซม ให้บริการ ดำเนินการ จัดการ ขาย ให้เช่า จัด หรือส่งมอบให้โดยผู้เอาประกันภัยเอง หรือในนามของผู้เอาประกันภัย”
ฉะนั้น ความรับผิดของผู้เอาประกันภัยในเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเนื่องมาจากการล้มลงของเครนหอสูงนั้น ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการที่ผลิตภัณฑ์ (ในที่นี้ คือ ฐานคอนกรีตของปั้นจั่น) ไม่ทำงานตามจุดประสงค์นั่นเอง
เรื่องนี้ผู้เอาประกันภัยยอมรับไม่ได้ จึงนำคดีขึ้นสู่ศาล
ศาลชั้นต้นได้วิเคราะห์ว่า ฐานคอนกรีตนั้นมิใช่ผลิตภัณฑ์ดังคำนิยามของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท การที่โจทก์ผู้เอาประกันภัยได้ก่อสร้างฐานนั้นด้วยการเทคอนกรีตลงตำแหน่งนั้นจนเป็นแท่งคอนกรีตประกอบเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพื้นดิน และเป็นการทำงานในพื้นที่ มิได้จัดซื้อหา ส่วนเหล็กเดือยนั้นอาจพอจัดให้เป็นส่วนประกอบของเสาเข็มได้บ้าง แต่ก็มิใช่เป็นผลิตภัณฑ์ของโจทก์ผู้เอาประกันภัยเอง จึงวินิจฉัยให้บริษัทประกันภัยจำเลยรับผิด
บริษัทประกันภัยจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คล้อยตามตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยวินิจฉัยว่า ผลิตภัณฑ์นั้นควรหมายความถึง สิ่งที่จับต้องได้ และเคลื่อนที่ได้ด้วยการส่งมอบจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งได้ จึงไม่ใช่สิ่งใดที่จัดทำขึ้นมาเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นดิน ณ สถานที่จัดทำขึ้นมานั้นเอง
ดังนั้น การทำงานของโจทก์ผู้เอาประกันภัยจึงมิใช่เป็นการจัดทำผลิตภัณฑ์ขึ้นมา แต่เป็นการทำงานก่อสร้างคอนกรีต เพื่อทำฐานสำหรับติดตั้งเครนหอสูงให้อยู่ตรงตำแหน่งนั้น การลงมือทำงานสร้างสิ่งใดขึ้นมาก็ตาม มิได้จำต้องถือเป็นผลิตภัณฑ์เสมอไป การตีความหมายควรใช้อย่างแคบแทนที่จะแปลความหมายกว้างจนเกินไป
อย่างไรก็ดี ศาลอุทธรณ์เห็นต่างในส่วนของเหล็กเดือยว่า เป็นผลิตภัณฑ์ ถึงกระนั้นจากพยานหลักฐานของผู้เชี่ยวชาญแล้วกลับมีความเห็นว่า เหล็กเดือยมิใช่เป็นต้นเหตุโดยตรง สาเหตุนั้นน่าจะเป็นผลมาจากฝีมือแรงผิดพลาดของโจทก์ผู้เอาประกันภัยซึ่งได้ติดตั้งไม่ถูกต้องมากกว่า โดยที่ผลสืบเนื่องจากฝีมือแรงผิดพลาดนั้นได้รับความคุ้มครอง ภายใต้ส่วนของความคุ้มครองความรับผิด Public Liability Insurance)
วินิจฉัยยืนให้บริษัทประกันภัยจำเลยรับผิด
(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Aspen Insurance UK Ltd v Adana Construction Ltd [2015] EWCA Civ 176)
ตัวอย่างคดีศึกษานี้อาจเป็นประโยชน์ สำหรับการจัดทำประกันภัยการก่อสร้าง/การติดตั้งแยกกับการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก ซึ่งต่างประเทศหลายแห่งนิยมทำกัน ไม่เหมือนบ้านเราซึ่งมีกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา (Contract Works Insurance Policy) ซึ่งรวมความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกเอาไว้อยู่แล้ว และยังให้แนวทางที่น่าสนใจในการแปลความหมายของผลิตภัณฑ์อีกด้วย
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น