วันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

เรื่องที่ 153 : การตีความหมายของความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยตรงทางกายภาพ (Direct Physical Loss or Damage) ยุคไซเบอร์ หมายความเช่นนี้ไหม?

 

(ตอนที่สอง)

 

เรื่องนี้ได้ถูกนำเป็นคดีขึ้นสู่ศาล เนื่องด้วยบริษัทประกันภัยต่อสู้ว่า ผู้เอาประกันภัยรายนี้เพียงสูญเสียข้อมูลในการใช้งาน (lost of data) เท่านั้น ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตน หรือที่จับต้องมิได้ (intangible asset) โดยคงยังสามารถใช้งานคอมพิวเตอร์ได้ในการประกอบธุรกิจอยู่ แล้วจะมาอ้างตนได้รับความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยตรงทางกายภาพ (direct physical loss or damage) เช่นไร?

 

แต่ผู้เอาประกันภัยได้ตอบโต้ว่า ในเมื่อกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทได้มีการขยายให้คุ้มครองรวมถึงข้อมูลกับซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์เป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัยด้วยแล้วนี่ ฉะนั้น การที่ระบบคอมพิวเตอร์ไม่สามารถใช้งานได้ปกติดังเดิม ควรถือว่าเป็นความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยตรงทางกายภาพดังที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าวแล้วนี่ ทั้งในส่วนของการสูญเสียข้อมูลในระบบ และการสูญเสียการใช้งานของระบบคอมพิวเตอร์เอง

 

ศาลได้พินิจพิเคราะห์ถ้อยคำที่ปรากฏของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทแล้ว มีความเห็นว่า

 

เอกสารแนบท้ายได้เขียนขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมถึงสื่อข้อมูลกับสื่อบันทึกทางอิเล็กทรอนิกส์ (รวมถึงซอฟต์แวร์ด้วย (including software)) อันหมายความรวมไปถึง

 

(ก) อุปกรณ์ประมวลผลข้อมูล สื่อบันทึก หรือสื่อจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ เป็นต้นว่า แผ่นฟิล์ม เทป แผ่นดิสก์ ลูกดรัม หรือเซลล์

(a) Electronic data processing, recording or storage media such as films, tapes, discs, drums or cells;

 

(ข) ข้อมูลที่ถูกจัดเก็บอยู่ในสื่อดังกล่าว

(b) Data stored on such media.

 

ข้อ (ก) อ่านแล้วชัดเจนว่าประสงค์คุ้มครองถึงตัวสื่อบันทึกนั้น แต่เมื่อมีข้อ (ข) เพิ่มเติมเข้ามาอีก ก็คงไม่อาจตีความให้เป็นอย่างอื่นที่จะไม่รวมถึงตัวข้อมูลไปได้ กอปรกับตรงประโยคที่เขียนให้รวมถึงซอฟต์แวร์ด้วยกำกับเอาไว้ตอนต้นอีก ทั้งสองข้อดังกล่าวจึงถือเป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัยอันอาจมีความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยตรงทางกายภาพตามเงื่อนไขได้

 

ส่วนประเด็นที่ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยหยิบยกอ้างคดีอื่นเทียบเคียงในลักษณะคล้ายคลึงกัน ก็ไม่อาจนำมาเทียบเคียงได้ เพราะมีความแตกต่างกัน ในคดีดังอ้างอิงนั้นที่ศาลได้ตัดสินให้ไม่ได้รับความคุ้มครอง เนื่องด้วยโจทก์ผู้เอาประกันภัยคดีนั้นเรียกร้องค่าใช้จ่ายเรื่องการสูญเสียข้อมูลอย่างเดียว

 

แต่คดีนี้ ฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยเรียกร้องค่าเสียหายของคอมพิวเตอร์ทั้งระบบ (fully functioning computer system) มิใช่เพียงแค่การทำงานล่าช้า หรือการแก้ไขไวรัสเท่านั้น

 

การที่ระบบคอมพิวเตอร์ของฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยจะต้องมีสมรรถนะการทำงานที่แน่นอนถูกต้อง แล้วกลายมาเป็นล่าช้าขาดประสิทธิภาพ ระบบจัดเก็บข้อมูลก็ไม่อาจเรียกค้นหาข้อมูลกับซอฟต์แวร์ได้ตามปกติ จึงถือเป็นความเสียหาย (damage) ที่เกิดขึ้นได้ อีกทั้งในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทก็มิได้กำหนดลักษณะความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพเฉพาะแก่ทรัพย์สินที่มีตัวตน หรือที่จับต้องได้ (tangible asset) เอาไว้อย่างชัดเจน จึงต้องยกประโยชน์แห่งความไม่ชัดเจนนั้นให้แก่ฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยซึ่งมิได้เป็นผู้ร่างถ้อยคำเหล่านั้น  

 

ศาลจึงสรุปว่า การสูญเสียการใช้งาน การขาดความน่าเชื่อถือในการดำเนินงานถือเป็นความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพตามถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทแล้ว เพราะโดยทั่วไป คอมพิวเตอร์ที่เราเรียกว่าเกิดเสียหาย ก็ไม่จำต้องถึงขนาดใช้งานไม่ได้เลยทั้งหมด และวินิจฉัยให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทดังกล่าว

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี National Ink & Stitch, LLC v. State Auto Property & Casualty Insurance Company, No. 18-cv-2138 (D. Md. Jan. 23, 2020))

 

ถึงแม้นคำพิพากษาคดีนี้เป็นแค่ศาลชั้นต้น แต่ที่หยิบยกมาเป็นอุทาหรณ์ เนื่องจากประเด็นปัญหาการร่างถ้อยคำในกรมธรรม์ประกันภัยไม่มีความชัดเจนเพียงพอ จึงควรใช้ความระมัดระวังให้มาก มิฉะนั้น อาจต้องมาเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายมากมาย และนี่คือตัวอย่างหนึ่งของภัยเงียบไซเบอร์ (Silent Cyber) ซึ่งส่งผลทำให้กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินทั่วไปสามารถคุ้มครองถึงภัยไซเบอร์ได้โดยไม่จำต้องไปซื้อกรมธรรม์ประกันภัยเฉพาะเพิ่มเติมอีก

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น