เรื่องที่ 153 : การตีความหมายของความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยตรงทางกายภาพ (Direct Physical Loss or Damage) ยุคไซเบอร์ หมายความเช่นนี้ไหม?
(ตอนที่หนึ่ง)
เดิมทีการตีความหมายของคำว่า “ความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยตรงทางกายภาพ (Direct Physical Loss or Damage)” สำหรับการประกันภัยทรัพย์สินปกติทั่วไปก็มีความยากลำบาก และข้อถกเถียงมากพอสมควรอยู่แล้ว
ยิ่งในยุคไซเบอร์ปัจจุบันนี้ ยิ่งชวนให้ปวดขมับมากขึ้นไปอีก
เรามาลองดูตัวอย่างคดีศึกษาของต่างประเทศกันนะครับ
รับทราบมาจากหลายแหล่งว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีการทำงานอยู่บ้านกันเยอะ ได้สร้างช่องว่าง และโอกาสให้มิจฉาชีพทำการปล่อยไวรัส หรือมัลแวร์เรียกค่าไถ่ (ransomware) เข้าโจมตีข่มขู่เรียกเงินค่าไถ่ในรูปสกุลเงินดิจิทัลจากผู้ประกอบธุรกิจหลายแห่ง ไม่ว่าในบ้านเรา หรือต่างประเทศก็ตาม
ดังนั้น บทความนี้น่าจะพออาศัยเป็นอุทธาหรณ์ได้บ้าง ไม่มากก็น้อยครับ
ประมาณเดือนธันวาคม ค.ศ. 2016 ได้มีมิจฉาชีพปล่อยมัลแวร์เรียกค่าไถ่เข้าโจมตีระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของผู้ประกอบธุรกิจงานพิมพ์ซิลค์สกรีน และงานเย็บปักถักร้อยรายหนึ่งที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จนทำให้ไม่สามารถเรียกใช้งานไฟล์งานต่าง ๆ กับระบบข้อมูลอื่น ๆ ที่จัดเก็บไว้ในระบบได้ เว้นแต่โปรแกรมงานเย็บปักถักร้อยเท่านั้นที่ยังพอเรียกใช้งานได้ โดยคนร้ายได้เรียกร้องเงินค่าไถ่เป็นเงินบิตคอยน์จำนวนหนึ่ง
อย่างไรก็ดี แม้ผู้ประกอบการรายนี้ยินยอมชำระเงินค่าไถ่ให้แล้ว แต่คนร้ายยังไม่พึงพอใจได้ข่มขู่ให้จ่ายเงินเพิ่มเติมอีก
ผู้ประกอบการรายนี้จึงเลือกหาทางออกด้วยการไปว่าจ้างบริษัทดูแลรักษาความปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาดำเนินการปรับแก้ไขระบบคอมพิวเตอร์ของตนใหม่ พร้อมกับติดตั้งระบบป้องกันไวรัสต่าง ๆ ทดแทนการที่จะต้องไปจ่ายเงินค่าไถ่เพิ่มเติมอีก เพราะไม่วางใจคนร้ายแล้วว่า เรื่องราวข่มขู่นี้จะจบลงจริงหรือเปล่า?
ถึงกระนั้นก็ตาม แม้นระบบคอมพิวเตอร์จะสามารถกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง แต่ก็ค่อนข้างทำงานช้ากว่าเดิม การทำงานหน่วงลงไปเยอะมาก อาจด้วยเหตุผลที่ได้มีการติดตั้งตัวป้องกันระบบมากมายหลายชั้น ประกอบข้อสันนิษฐานของผู้เชี่ยวชาญว่า อาจยังมีไวรัสหลงเหลือค้างอยู่บางส่วนซึ่งคงส่งผลกระทบอยู่บ้างเป็นครั้งคราว เนื่องจากไฟล์งานบางส่วนยังใช้งานไม่ได้ จำต้องสร้างไฟล์งานใหม่ขึ้นมา
คำแนะนำที่ดีที่สุด คือ ให้ล้างระบบเดิมทั้งหมด แล้วค่อยลงระบบกับข้อมูลใหม่อีกครั้ง หรือถ้าซื้อฮาร์ดแวร์กับซอฟต์แวร์ทั้งหมดใหม่ได้ด้วย ก็ยิ่งดีและปลอดภัยใหญ่มากเลย
เนื่องด้วยผู้ประกอบการรายนี้มีกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สิน แบบสรรพภัยคุ้มครองอยู่ ซึ่งระบุว่า
“กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้จะชดใช้ความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยตรงทางกายภาพที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ ณ สถานที่เอาประกันภัย อันมีสาเหตุ หรือเป็นผลมาจากอุบัติภัยต่าง ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในข้อยกเว้น”
ทั้งนี้ โดยมีเอกสารแนบท้ายขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมถึงสื่อข้อมูลกับสื่อบันทึกทางอิเล็กทรอนิกส์ (รวมถึงซอฟต์แวร์ด้วย) อันหมายความรวมไปถึง
(ก) อุปกรณ์ประมวลผลข้อมูล สื่อบันทึก หรือสื่อจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ เป็นต้นว่า แผ่นฟิล์ม เทป แผ่นดิสก์ ลูกดรัม หรือเซลล์
(ข) ข้อมูลที่ถูกจัดเก็บอยู่ในสื่อดังกล่าว
ผู้ประกอบการรายนี้ในฐานะผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้จึงได้มาเรียกร้องค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนทดแทนฮาร์ดแวร์กับซอฟต์แวร์ทั้งหมดใหม่กับบริษัทประกันภัยของตน
คุณคิดว่า บริษัทประกันภัยนั้นจะตอบกลับมาเช่นไรครับ?
อดใจติดตามผลลัพธ์ต่อได้สัปดาห์หน้าครับ
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น