วันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2564

เรื่องที่ 155 : ค่าเสื่อมราคา (Depreciation) จะได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักหรือไม่?

 

(ตอนที่สาม)

 

ตัวอย่างคดีพิพาทนี้เกิดขึ้น ณ ประเทศออสเตรเลีย

 

ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทเรื่องค่าเสื่อมราคาควรถูกหักออกไปหรือไม่? ด้วยมติเอกฉันทน์ว่า

 

แม้นตามระบบบัญชีจะมีการให้หักค่าเสื่อมราคาออกไปจากกำไรขั้นต้นก็ตาม แต่มิได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกระแสเงินสุด (Cash Flow)

 

ครั้นเมื่อพิจารณาถึงถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักตรงที่เขียนว่า “(payable out of Gross Profit) กำไรขั้นต้นที่เอาประกันภัย” นั้น หมายความถึง “ซึ่งสามารถชำระหนี้ได้, ซึ่งสามารถจ่ายได้ (may, can be paid, due)

 

มิได้ใช้คำว่า “ให้หักออก (deducted)

 

โดยแนวทางปฏิบัติ เมื่อธุรกิจได้รับผลกระทบ กระแสเงินสดถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากแก่ผู้เอาประกันภัย เนื่องด้วยยังมีค่าใช้จ่ายคงที่ซึ่งคงจำต้องจ่ายออกไปเช่นเดิมอยู่ เป็นต้นว่า เงินเดือนค่าจ้าง ค่าเช่า และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอื่น ๆ ศาลอุทธรณ์จึงเห็นว่า การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยอาศัยหลักกระแสเงินสดเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

 

ฉะนั้น พิพากษากลับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น โดยให้บริษัทประกันภัยชดใช้ ด้วยการคำนวณไม่นำค่าเสื่อมราคามาหักออกเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการที่ประหยัดได้ (Savings)

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Mobis Parts Australia Pty Ltd v XL Insurance Company SE [2018] NSWCA 342)

 

ข้อสรุป


โดยหลักการของการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักจะถูกคำนวณด้วยการใช้สูตรที่กำหนดเป็นเกณฑ์ ประกอบกับถ้อยคำที่เขียนเอาไว้ด้วยเป็นสำคัญ ทั้งจะยังคงอยู่ภายในกรอบของหลักการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนซึ่งมีเจตนารมณ์มิให้ผู้เอาประกันภัยแสวงหากำไรจากการประกันภัยดังเดิม

 

อนึ่ง ตามแนวปฏิบัติด้านบัญชี มีการลงตัวเลขงบบัญชีอยู่สองแนวทาง กล่าวคือ EBIT (Earnings before Interest & Tax) คือ กำไรจากการดำเนินงาน หักด้วยค่าเสื่อมราคา และค่าจัดจำหน่าย แต่ค่าใช้จ่ายเหล่านั้นไม่ได้ถูกจ่ายออกไปจริง จึงถูกบวกกลับเข้าไปที่กำไรจากการดำเนินงาน และกลายเป็น EBITDA ซึ่ง EBITDA (Earnings Before Interest, Tax, Depreciation and Amortization) คือ EBIT บวกด้วย ค่าเสื่อมราคา (Depreciation) และ ค่าจัดจำหน่าย (Amortization) ซึ่งถูกมองว่าเป็นความสามารถในการดำเนินงานที่แท้จริงของธุรกิจ ในการสร้างกระแสเงินสดกลับมา

 

(สืบค้นมาจาก https://www.myaccount-cloud.com/Article/Detail/101646)

 

เป็นคุณประโยชน์ให้แก่ผู้เอาประกันภัยตามเจตนารมณ์มากกว่าหรือเปล่า?

 

ลองไปไล่เลียงข้อความของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (เนื่องจากภัยที่เอาประกันภัย ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน) ฉบับมาตรฐานของประเทศไทย ดังนี้

 

1) ข้อกำหนดความคุ้มครองเฉพาะ แบบ 1 สำหรับการประกันภัยกำไรขั้นต้น (แบบหลักเกณฑ์ผลต่าง)

 

คำจำกัดความ

กำไรขั้นต้น หมายความถึง จำนวนเงิน ที่ได้จาก

             (1) ผลรวมของยอดรายได้ กับ มูลค่าสินค้าคงคลังปลายงวด

                   ที่เกินกว่า

             (2) ผลรวมของมูลค่าสินค้าคงคลังต้นงวด กับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ไม่เอาประกันภัย

 

หมายเหตุ: มูลค่าของสินค้าคงคลังต้นงวดและปลายงวด คำนวณโดยวิธีการทางบัญชีตามปกติของผู้เอาประกันภัย หักด้วยมูลค่าที่ลดลงตามความเสื่อมสภาพของสินค้า (ถ้ามี) 

 

2) ข้อกำหนดความคุ้มครองเฉพาะ แบบ 2 สำหรับการประกันภัยกำไรขั้นต้น (แบบหลักเกณฑ์ผลบวก)

 

คำจำกัดความ

 

กำไรขั้นต้น หมายความถึง ผลรวมของกำไรสุทธิกับค่าใช้จ่ายคงที่ที่

เอาประกันภัย หรือถ้าไม่มีกำไรสุทธิ ก็จะเป็นค่าใช้จ่ายคงที่ที่เอา

ประกันภัย หักด้วยผลขาดทุนสุทธิทางการค้าในสัดส่วนของจำนวนค่า

ใช้จ่ายคงที่ที่เอาประกันภัยต่อค่าใช้จ่ายคงที่ทั้งสิ้นของธุรกิจ

 

กำไรสุทธิ หมายความถึง ผลกำไรสุทธิทางการค้า (ไม่รวมรายรับที่เป็นเงินทุนทั้งหมดและดอกผลต่าง ๆ และค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่สมควรคิดรวมเข้าเป็นเงินทุน) อันเป็นผลมาจากการประกอบธุรกิจของผู้เอาประกันภัย ณ สถานที่เอาประกันภัย หลังจากหักค่าใช้จ่ายคงที่ทั้งหมด และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ รวมทั้งค่าเสื่อมราคาออกแล้ว แต่ก่อนการหักภาษีใด ๆ ที่เรียกเก็บจากผลกำไรนั้น

 

แม้นปรากฏมีข้อกำหนดชัดเจนอยู่ก็ตาม เชื่อว่า ประเด็นปัญหาค่าเสื่อมราคาควรถูกหัก หรือไม่ถูกหักนั้น?

 

คงยังมีการถกเถียงกันต่อไปอีกอยู่ดี

 

สัปดาห์หน้า ถึงเวลาไปพูดถึงเงื่อนไขพิเศษชุด DE & LEG ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยการก่อสร้าง/ติดตั้งกันเสียที

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น