วันอาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2564

เรื่องที่ 156 :  เงื่อนไขพิเศษชุด DE & LEG ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยการก่อสร้าง/ติดตั้ง

 

(ตอนที่สอง)

 

ถ้าใครยังเข้าใจว่า เงื่อนไขพิเศษที่ส่วนใหญ่เป็นของแถมจากบริษัทประกันภัย จัดเป็นการขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมจากข้อยกเว้นเดิมทั้งหมดแล้ว

 

ก็ขอแสดงความเสียใจมา ณ ที่นี้ด้วย นั่นเป็นความสำคัญผิดอย่างแรง

 

เรามาไล่เลียงพิจารณาดูกันเป็นลำดับนะครับ

 

ก่อนอื่นขอสรุปทบทวนอีกครั้ง กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติตามสัญญาว่าจ้างมีข้อยกเว้นในเรื่องความบกพร่อง หรือความผิดพลาดเอาไว้ ดังนี้

 

1) ในส่วนงานก่อสร้างและงานวิศวกรรมโยธา (Building & Civil Engineering Works Section) ไม่คุ้มครองถึง

 

1.1) การออกแบบผิดพลาด (Faulty Design)

1.2) ค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนทดแทน หรือการแก้ไขวัสดุ และ/หรือฝีมือแรงงานที่บกพร่อง (Defective Material & Workmanship) นั้นเองโดยตรง แต่จะคุ้มครองให้กรณีมีต้นเหตุจากอุบัติเหตุที่คุ้มครอง

 

2) ในส่วนงานการติดตั้งเครื่องจักร (Machinery Erection) ไม่คุ้มครองถึง

 

2.1) การออกแบบผิดพลาด ความบกพร่องของวัสดุ หรือแบบหล่อ ฝีมือแรงงานที่ไม่ได้มาตรฐาน (Faulty Design, Defective Material or Casting, Bad Workmanship) แต่จะคุ้มครองให้กรณีมีต้นเหตุจากอุบัติเหตุการติดตั้งที่คุ้มครอง

 

โจทย์

 

คือ ทำยังไงให้ข้อยกเว้นข้างต้นเหล่านั้น กลับมามีความคุ้มครองได้?

 

ข้อสังเกต

 

โปรดสังเกต พร้อมกับลองนึกจินตนาการไปด้วยนะครับ

 

(1) ในส่วนงานก่อสร้างเขียนข้อยกเว้นการออกแบบผิดพลาดในลักษณะไม่คุ้มครองโดยเด็ดขาด เนื่องจากถ้าสามารถรับรู้ถึงการออกแบบที่ผิดพลาดได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ การแก้ไขดูไม่ลำบากยากเย็นนัก แต่ถ้างานก่อสร้างได้คืบหน้าไปมากแล้ว หากจะต้องรื้อปรับแก้ไขตั้งต้นกันใหม่ จะเป็นเรื่องที่ทำให้เสียทั้งเงิน และเสียเวลามหาศาล อีกทั้งยังมีเงื่อนไขเรื่องเวลาคอยควบคุมอยู่ด้วย

 

แล้วยังงี้จะผลักภาระมาให้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้มารับผิดชอบแทน ก็คงไม่ใช่หน้าที่

 

ขณะที่วัสดุ และ/หรือฝีมือแรงงานที่บกพร่องยังพอผ่อนทำใจยอมรับให้ได้บ้าง

 

เช่นเดียวกับในส่วนงานติดตั้ง ด้วยสันนิษฐานว่า คงไม่น่าจะสร้างความร้ายแรงได้มากนัก แม้กระทั่งจะเป็นกรณีการออกแบบผิดพลาดก็ตาม

 

(2) มีการใช้ถ้อยคำแตกแต่งกันระหว่าง “ความเสียหาย” กับ “ค่าใช้จ่าย

 

โดยหลักการ เมื่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยได้รับ “ความเสียหาย (Loss or Damage)” จากอุบัติภัยที่คุ้มครอง บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมูลค่าแท้จริงของ “ความเสียหาย” นั้น เพื่อทำให้ทรัพย์สินนั้นสามารถกลับคืนสู่สภาพดังเดิมได้

 

แต่เนื่องด้วยความร้ายแรงรุนแรงแล้ว ในส่วนงานก่อสร้าง คงไม่อาจคุ้มครองให้ได้ ขณะที่ในส่วนงานติดตั้ง ถ้ามีต้นเหตุจากอุบัติภัยที่คุ้มครอง ก็พอทำใจยอมรับได้

 

กรณี “ค่าใช้จ่าย (Cost)” นั้น มิได้มีเจตนารมณ์เพื่อทำให้ทรัพย์สินนั้นสามารถกลับคืนสู่สภาพดังเดิม แต่แค่เพียงยอมใช้จ่ายเพื่อปรับแก้ไข (improvements) จนทำให้ทุกอย่างสามารถอยู่ร่วมกันได้ ระหว่างทรัพย์สินที่มีปัญหากับทรัพย์สินที่ปกติเท่านั้น โดยที่มิได้ไปคุ้มครองถึงตัวทรัพย์สินที่มีปัญหานั้นอยู่เช่นเดิม

 

แนวทางเลือก

 

ขยายความคุ้มครองด้วยการติดเงื่อนไขพิเศษที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีทางเลือกให้สามกลุ่มดังกล่าวมาแล้ว

 

(ก) เงื่อนไขพิเศษของมิวนิกรี มีสองแบบ คือ

 

CAR 115 Designer’s Risk สำหรับส่วนงานก่อสร้างและงานวิศวกรรมโยธา

 

โปรดสังเกตหัวข้อใช้คำแปลตรงตัวออกมาได้ว่า “ความเสี่ยงภัยจากการออกแบบ

ครั้นไปอ่านดูถ้อยคำทั้งหมดแล้วสร้างความมึนงงได้พอสมควร เพราะมิได้มีลักษณะเขียนขยายความคุ้มครองตรง ๆ กลับเป็นลักษณะเขียนแก้ข้อยกเว้นเดิมให้มีความผ่อนคลายบางส่วนเท่านั้น โดยเฉพาะในข้อยกเว้นอ้างอิง ข้อที่ 1.2) ข้างต้น สรุปคือ จะขยายความคุ้มครองในส่วนของค่าใช้จ่ายให้รวมถึงการออกแบบผิดพลาดด้วย หากเป็นผลมาจากอุบัติภัยที่คุ้มครอง

 

EAR 200 Manufacturer’s Risk สำหรับส่วนงานการติดตั้งเครื่องจักร

 

ถึงหัวข้อแปลตรงตัวออกมาได้ว่า “ความเสี่ยงภัยของผู้ผลิต” ก็มิได้มีจุดประสงค์เพื่อขยายให้ความคุ้มครองลักษณะการรับประกันผลิตภัณฑ์โดยตรง แต่เป็นเพียงความคุ้มครองค่าใช้จ่ายในการปรับแก้ไขสิ่งบกพร่องที่ตรวจเจอก่อนจะเกิดความเสียหายขึ้นมาเท่านั้น เพื่อทำให้ทุกอย่างสามารถอยู่ร่วมกันได้

 

คราวต่อไปจะถึงคิวของกลุ่มทางเลือกที่เหลือ

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น