วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2564

เรื่องที่ 147 :  เงื่อนไขพิเศษว่าด้วยการจับกุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (Wrongful Arrest Clause) มีความหมายเช่นไร?

 

ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก (Public Liability Insurance Policy) นั้นอาจเลือกให้ขยายความคุ้มครองไปถึงการกระทำละเมิดโดยลักษณะจงใจ หรือเจตนาของผู้เอาประกันภัย และตัวแทนของผู้เอาประกันภัยอีกทางหนึ่งก็ได้ ด้วยการอาศัยเงื่อนไขพิเศษดังตัวอย่าง

 

1) เงื่อนไขพิเศษว่าด้วยการจับกุม การกักขัง การหน่วงเหนี่ยว และการขับไล่โดยผิดกฎหมาย (False Arrest, Imprisonment, Detainment, Wrongful and Eviction Clause)

 

กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้จะขยายความรวมถึง ความรับผิดของผู้เอาประกันภัยไม่ว่าจะโดยตรง หรือโดยอ้อมที่ได้กระทำต่อบุคคลภายนอก อันเนื่องมาจากการจับกุมผิด การกักขัง การหน่วงเหนี่ยว การขับไล่โดยผิดกฎหมาย ซึ่งมาสาเหตุจากความผิดพลาด หรือความสะเพร่าของผู้เอาประกันภัยตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย

หรือ

 

2) เอกสารแนบท้ายว่าด้วยความรับผิดจากการจับกุมที่ผิดพลาด/ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย / การบาดเจ็บเสียหายส่วนบุคคล  (False/Wrongful Arrest / Personal Injury Liability Clause)

 

บริษัทประกันภัยจะชดใช้ให้ในนามของผู้เอาประกันภัยซึ่งมีความรับผิดตามกฎหมายที่จะต้องจ่ายเป็นค่าเสียหาย อันเนื่องมาจากความบาดเจ็บ (ในที่นี้จะเรียกว่า “การบาดเจ็บเสียหายส่วนบุคคล”) ที่บุคคล หรือนิติบุคคลรายใดได้รับ โดยเกิดขึ้นมาจากการจับกุม การกักกัน หรือการกักขังอย่างผิดพลาด หรือการดำเนินคดีโดยมุ่งร้าย ซึ่งได้ถูกกระทำขึ้นเนื่องจากการดำเนินธุรกิจของผู้เอาประกันภัย

 

ตัวอย่างข้างต้นซึ่งเป็นการละเมิดที่อาจส่งผลทำให้บุคคลภายนอกได้รับความเสียหายในส่วนของชีวิตร่างกาย นอกเหนือจากการเสียชีวิต การบาดเจ็บ/การเจ็บป่วย/อนามัยทางร่างกายแล้ว ยังรวมไปถึงการสูญเสียอิสรภาพ การเสื่อมเสียต่อชื่อเสียง หรือความเสียหายต่อจิตใจด้วย

 

เนื่องจากพจนานุกรมศัพท์ประกันภัย พิมพ์ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2560 (แก้ไขเพิ่มเติม) ฉบับราชบัณฑิตยสภา ให้ความหมายการบาดเจ็บเสียหายส่วนบุคคล (Personal Injury Liability) ว่า “การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นแก่บุคคล แต่เนื่องจากคำนี้อาจความหมายรวมถึง ความเสียหายที่เกิดจากการถูกทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง หรือการกระทำใด ๆ ในลักษณะเดียวกัน ฉะนั้น ถ้าจะให้หมายถึง การบาดเจ็บทางร่างกายโดยเฉพาะ ควรใช้ศัพท์การบาดเจ็บทางร่างกาย (ดู bodily injury ประกอบ)

 

ดังนั้น เงื่อนไขพิเศษเหล่านี้จึงให้ความคุ้มครองมากกว่าความคุ้มครองปกติของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ ซึ่งมีความเหมาะสมกับธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับลูกค้าหลากหลาย เป็นต้นว่า ผับ บาร์ โรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และผู้ประกอบกิจการเหล่านั้นอาจไปกระทำละเมิด กระทบกระทั่งกับลูกค้าของตนก็ได้

 

อ่านดูแล้ว น่าจะมีประโยชน์ควรแก่การขยายความคุ้มครอง แต่สิ่งที่ควรพิจารณาประกอบด้วยว่า เงื่อนไขพิเศษนี้จะให้ผลความคุ้มครองอย่างไร? และเมื่อใด?

 

คำจำกัดความของการจับกุม หรือควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

หมายความถึง การที่ผู้เอาประกันภัย หรือตัวแทนของผู้เอาประกันภัยเข้าควบคุมตัวบุคคลอื่นทางกายภาพโดยที่ตนไม่มีอำนาจตามกฎหมาย เพื่อทำให้บุคคลอื่นนั้นต้องเสื่อมเสียอิสรภาพ ซึ่งอาจรวมถึงการลงมือทำร้าย หรือการพยายามทำร้ายร่างกายบุคคลอื่น เพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ดังกล่าวนั้นด้วย ก่อนที่จะนำส่งตัวบุคคลนั้นให้แก่เจ้าพนักงานที่มีอำนาจตามกฎหมายต่อไป

 

แล้วเงื่อนไขพิเศษนี้จะมีผลใช้บังคับเมื่อใดกันแน่?

 

(ก) เมื่อผู้เอาประกันภัยลงมือกระทำการดังกล่าว หรือ

 

(ข) เมื่อผู้เอาประกันภัยถูกศาลตัดสินว่าได้กระทำผิดตามกฎหมายดังกล่าวจริง

 

ทางเลือกข้อใดข้อหนึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระยะเวลาประกันภัยที่คุ้มครองก็ได้

 

อย่างเช่น ถ้ายึดถือตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลเป็นเกณฑ์ กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนั้นก็ได้สิ้นสุดความคุ้มครองไปนานหลายปีแล้ว จะสามารถย้อนหลังไปคุ้มครองให้ได้หรือไม่?

 

งั้นคุณจะตัดสินใจเลือกข้อใดดีครับ?

 

โดยสรุป ไม่ว่าคุณจะตัดสินใจเลือกข้อใดก็ตาม ล้วนถูกต้อง เพราะปัจจุบัน แนวทางคำพิพากษาของศาลต่างประเทศยังมีความเห็นต่างกันทั้งสองข้อ หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ศาลต่างประเทศมีการแบ่งฝ่ายสนับสนุนทั้งสองข้อ ไม่สามารถหาข้อสรุปทางใดทางหนึ่งได้อย่างชัดเจน

 

ขอเสนอแนะว่า ควรหาความชัดเจนจากบริษัทประกันภัยของคุณในเรื่องเงื่อนไขพิเศษนี้ไว้ล่วงหน้า น่าจะปลอดภัยได้ระดับหนึ่งนะครับ หากจะมีการขยายไว้

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น