เรื่องที่ 148 : เรื่องวุ่น ๆ ของคำว่า “รั้ว (Fence)” ของการประกันภัยทรัพย์สิน
(ตอนที่สอง)
ศาลฎีกาพิเคราะห์คดีนี้ว่า
ถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัย ฉบับพิพาทไม่มีความกำกวม อ่านแล้วสามารถเข้าใจได้ ความกำกวม หรือไม่ชัดเจนนั้น หมายความถึง สามารถแปลความหมายออกมาได้หลากหลายความหมายอย่างชัดเจน มิใช่เพียงคู่สัญญามีความเห็นแตกต่างกัน
เมื่อพิจารณาจากความหมายทั่วไปตามพจนานุกรม คำว่า
“สิ่งปลูกสร้าง (Structures)” หมายความถึง สิ่งก่อสร้าง ผลผลิต หรือชิ้นส่วนงานที่สร้างขึ้น หรือประกอบเข้าด้วยกัน
“ต่อติดอยู่ (attached)” หมายความถึง ผนวก ประกอบ ยึด ติด ตรึงทำให้แน่น
ดังนั้น รั้วที่เป็นประเด็นนี้ได้ถูกจัดสร้าง และโดยเจตนาเพื่อประกอบเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งปลูกสร้าง ด้วยการยึดติดกับตัวบ้านโดยอาจอาศัยซีเมนต์เป็นตัวประสาน หรืออาจใช้นอตขันยึดติดเข้าด้วยกัน จึงอยู่ในความหมายที่บุคคลทั่วไปเข้าใจ ดั่งที่ฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยอ้างอิง
ส่วนที่ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยจะโต้แย้ง การแปลความหมายเช่นนี้จะส่งผลทำให้รั้วตรงส่วนอื่น หรือสิ่งอื่นใดมาเชื่อมกับรั้วพิพาท พลอยจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวบ้านได้ด้วยหรือเปล่านั้น? นั่นคือ ประเด็นสำคัญที่ควรจะร่างถ้อยคำให้เกิดความชัดเจนมากกว่านี้หรือเปล่า?
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำกล่าวอ้างของฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยมีเหตุผลสมควรรับฟังได้มากกว่า จึงให้ย้อนคดีกลับไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสรุปตามคำวินิจฉัยนี้อีกครั้งหนึ่ง
(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Nassar v. Liberty Mutual Fire Insurance Company, 508 S.W.3d 254 (Tex. 2017))
กรณีนำประเด็นเรื่องรั้วมาวิเคราะห์เทียบเคียงกับกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สิน ฉบับมาตรฐานบ้านเรา จะพบว่า
ก) กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย สำหรับที่อยู่อาศัย
ข) กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยทั่วไป
ค) กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน
ทั้งสามฉบับ จะมีเพียงเฉพาะกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย สำหรับที่อยู่อาศัยเท่านั้นที่มีคำจำกัดความเอ่ยถึงเรื่องรั้วเอาไว้ ดังนี้
“1. คำจำกัดความทั่วไป
คำว่า "ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย" หมายถึง สิ่งปลูกสร้าง (ไม่รวมฐานราก) และหรือทรัพย์สินภายในสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงทรัพย์สินที่อยู่ภายในสถานที่เอาประกันภัยตามที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย
คำว่า "สิ่งปลูกสร้าง (ไม่รวมฐานราก)" หมายถึง
ก) บ้าน ทาวน์เฮ้าส์ บ้านแฝด ตึกแถว สำหรับอยู่อาศัย โรงรถ และอาคารย่อย เช่น เรือนคนรับใช้ เรือนครัว เป็นต้น กำแพง (walls) รั้ว (fences) ประตู (gates) รวมทั้งส่วนปรับปรุงต่อเติม ยกเว้นฐานราก
ข) ห้องชุดสำหรับอยู่อาศัยในแฟลต อาคารชุด คอนโดมิเนียม ยกเว้นฐานราก”
ส่วนอีกสองฉบับมิได้กล่าวถึงเลย
เช่นนี้ จำต้องแปลความหมาย ถ้าระบุเอาประกันภัยสิ่งปลูกสร้างไว้ลอย ๆ
มีเพียงเฉพาะกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย สำหรับที่อยู่อาศัยเท่านั้นที่จะหมายความรวมถึงรั้ว กำแพง โดยอัตโนมัติ
ขณะที่อีกสองฉบับไม่ได้รวมถึง ถ้าจะให้รวมถึงรั้ว กำแพงก็จะต้องระบุเพิ่มเติมเข้าไปอย่างชัดแจ้งด้วย
อย่างไรก็ดี สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน ซึ่งให้ความคุ้มครองแบบสรรพภัยอาจมีประเด็นการตีความเพิ่มเติมอีกก็ได้ในเรื่องของรั้ว กำแพง ถึงแม้นจะได้ระบุให้เป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัยแล้วก็ตาม
เนื่องจากยังมีข้อโต้แย้งในประเด็นของข้อยกเว้นที่ระบุในหมวดที่ 3 ข้อยกเว้น ดังนี้
“ก. สาเหตุของความเสียหายที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง
1. ความเสียหาย อันเกิดจาก
1.1 ……..
1.2 ……..
1.15 ลม ฝน ลูกเห็บ น้ำค้างแข็ง หิมะ น้ำท่วม ทรายหรือฝุ่น ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อสังหาริมทรัพย์ซึ่งอยู่กลางแจ้ง หรือที่เก็บอยู่ในอาคารโปร่ง หรืออาคารที่มีผนังด้านใดด้านหนึ่งเปิดโล่ง หรือต่อรั้ว (fences) หรือประตูรั้ว (gates)”
ทำให้เกิดประเด็นข้อพิพาท ถึงแม้นจะได้ระบุให้รั้วเป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัยก็ตาม หากเกิดความเสียหายเนื่องจากลม ฝน ลูกเห็บ น้ำค้างแข็ง หิมะ น้ำท่วม ทราย หรือฝุ่นมื่อใดก็ตาม ล้วนตกอยู่ในข้อยกเว้นดังอ้างอิงทั้งสิ้น
กอปรกับในคำจำกัดความของหมวดที่ 1 เงื่อนไขทั่วไป ได้กำหนดว่า
“คำว่า “ความเสียหาย” หมายความถึง ความสูญเสียหรือความเสียหายทางกายภาพไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้”
โดยไม่คำนึงถึงข้อโต้แย้งที่ว่า ข้อยกเว้นดังกล่าวได้พูดถึง “รั้ว” ลอย ๆ แทนที่จะเขียนว่า “รั้วที่เอาประกันภัย” จะไม่ประสงค์ให้ความคุ้มครองถึงภัยดังที่กล่าวไว้ ซึ่งถ้าเขียนชัดเจนเช่นนี้ น่าจะยอมรับได้มากกว่า
เรื่องวุ่น ๆ ของ “รั้ว” เลยยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ต่อไป
ขณะที่ “กำแพง” กลับไม่มีประเด็น?
คุณคิดเห็นอย่างไรบ้างครับ?
เพื่อความปลอดภัย ขอเสนอให้ผู้เอาประกันภัยพยายามระบุรายการทรัพย์สินที่เอาประกันภัยให้ชัดเจน หรืออย่างน้อยให้ครอบคลุมกว้าง ๆ เป็นต้นว่า ทรัพย์สินทุกอย่าง น่าจะช่วยได้ระดับหนึ่ง
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น