วันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

เรื่องที่ 146: จงใจทำร้ายผู้อื่น (Deliberate Act) ถือเป็นอุบัติเหตุภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก (Public Liability Insurance Policy) หรือไม่?

 

(ตอนที่สอง)

 

คดีศึกษาเรื่องนี้เกิดขึ้นในคืนวันหนึ่งของเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2013 ขณะที่นักเที่ยวกลางคืนรายหนึ่งมีอาการเมาเหล้าอย่างหนักจนแทบคุมสติไม่อยู่ เอะอะโวยวายจนถูกเชิญตัวออกมาจากผับ แต่ยังไม่ยอมหยุดอาละวาด ขัดขืน ท้ายที่สุดพนักงานหน้าประตูต้องเข้าไปควบคุมด้วยการจับล็อกคอ (neck hold) กดตัวให้นอนราบอยู่กับพื้นนานสามนาทีจนนักเที่ยวกลางคืนรายนี้สิ้นสติ และถูกประกาศว่า เสียชีวิตแล้วเมื่อถูกนำส่งตัวถึงโรงพยาบาล (กรณีลักษณะคล้ายคลึงกับเหตุการณ์อื้อฉาวที่ประเทศสหรัฐอเมริกาไม่นานมานี้)

 

พนักงานหน้าประตูผับผู้กระทำผิดถูกจับกุม และต่อมาได้ถูกศาลตัดสินลงโทษฐานความผิดทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย

 

ภรรยาของผู้ตายได้ฟ้องคดีแพ่งเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำละเมิดของเจ้าของผับ และพนักงานหน้าประตูผู้กระทำผิด รวมถึงบริษัทประกันภัยซึ่งให้ความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายแก่เจ้าของผับนี้ด้วย

 

บริษัทประกันภัยนี้ได้ปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างอิง

 

(ก) ข้อยกเว้นที่ระบุไม่คุ้มครองถึงความรับผิดอันมีสาเหตุมาจากการกระทำโดยเจตนา หรือการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือ

 

(ข) ถ้าจะเข้าข่ายความคุ้มครองได้ ก็จะตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขพิเศษที่เรียกว่า “การจับกุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (Wrongful Arrest Clause)” ซึ่งกำหนดวงเงินความคุ้มครองย่อย (Sub Limit) ไว้อยู่ที่ 100,000 ปอนด์สเตอร์ลิงเท่านั้น

 

โจทก์ในฐานะภรรยาผู้ตายไม่ยอมรับ เพราะวงเงินความคุ้มครองย่อยต่ำกว่าวงเงินที่เรียกร้องค่อนข้างเยอะ จึงเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องพิจารณาประเด็นข้อพิพาทต่อไปว่า

 

บริษัทประกันภัยนี้จำต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือไม่? (ไม่เข้าข้อยกเว้น)

 

ถ้าต้องรับผิด จะรับผิดตามวงเงินที่โจทก์เรียกร้องมา หรือรับผิดตามวงเงินความคุ้มครองย่อยเท่านั้น

 

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้บริษัทประกันภัยรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย เพราะกรณีไม่ตกอยู่ในข้อยกเว้น

 

เมื่อคดีนี้ได้ถูกนำขึ้นมาสู่ชั้นศาลสูงสุด (Supreme Court) โดยมีประเด็นข้อพิพาทที่ยังโต้แย้งกันอยู่ คือ

 

(1) การกระทำของพนักงานหน้าประตูนั้นเป็นการกระทำโดยเจตนาหรือไม่?

 

(2) ถ้าใช่ ก็จะตกอยู่ในข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ใช่หรือไม่?

 

ศาลสูงสุดได้พิจารณาถึงความหมายของข้อยกเว้นที่เขียนไม่คุ้มครองถึงการกระทำโดยเจตนา (Deliberate Acts) นั้นมีเจตนารมณ์เช่นไร?

 

การมีเจตนาทำร้ายควรหมายความถึง การเจตนาทำร้ายร่างกายผู้อื่นเพื่อให้บังเกิดผลความบาดเจ็บแก่ร่างกายทั่วไปมากกว่าที่จะบังเกิดผลเลยเถิดในลักษณะเช่นนี้ ซึ่งควรถือเป็นการกระทำโดยขาดความใส่ใจ หรือสะเพร่า (Recklessness)

 

การที่ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยอ้างว่า การกระทำโดยขาดความใส่ใจ หรือสะเพร่านั้นควรถือเป็นการกระทำโดยเจตนาด้วยนั้น ศาลสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย เพราะผู้กระทำผิดมิได้มีเจตนาฆ่า เพียงแค่เจตนาทำร้าย แต่พลั้งมือจนทำให้เสียชีวิตเท่านั้น

 

เมื่อกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ได้เขียนยกเว้นการกระทำโดยเจตนาไว้ลอย ๆ มิได้มีกำหนดระดับการมุ่งหวัง หรือการคาดหวังจำเพาะกำกับเอาไว้ด้วย จำต้องตีความข้อยกเว้นตามถ้อยคำที่เขียนอย่างเคร่งครัด

 

ศาลสูงสุดจึงติดสินให้กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นดังอ้างอิง บริษัทประกันภัยจำเลยจำต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทตามฟ้องให้แก่โจทก์

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Burnett or Grant v International Insurance Company of Hanover Ltd [2021] UKSC 12)

 

หมายเหตุ

 

หลักกฎหมายต่างประเทศจำแนกลักษณะการกระทำไม่เจตนาออกเป็น 3 ลักษณะได้แก่

 

1) ความประมาทเลินเล่อ (Negligence)

2) การกระทำโดยขาดความใส่ใจ หรือความสะเพร่า (Recklessness) มีนักกฎหมายบางท่านแปลคำนี้ว่า “ประมาทโดยจงใจ” ก็มี

3) ความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง (Gross Negligence)

 

เขียนตามความเข้าใจส่วนตัว คือ ความประมาทเลินเล่อทั้งสองลักษณะเป็นการใช้ความระมัดระวังแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอ ขณะที่ความสะเพร่าเสมือนทำโดยไม่ใส่ใจใช้ความระมัดระวังเลย อย่างไรก็ดี ทั้งหมดก็มิใช่การกระทำโดยเจตนา

 

ถึงกระนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติถึงเรื่องความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเอาไว้ในมาตรา 879 วรรคแรก ดังนี้

 

ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในเมื่อความวินาศภัยหรือเหตุอื่นซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญานั้นได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริต หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์

 

น่าคิดว่า ถ้ามีข้อพิพาทประเด็นเรื่องการกระทำโดยขาดความใส่ใจ หรือความสะเพร่านี้ขึ้นสู่ศาลไทย ศาลท่านจะวินิจฉัยคดีแพ่งออกมาแนวทางเดียวกันหรือไม่? คงต้องรอดูกันต่อไปนะครับ

เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า

 

"ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี"

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21379/2556 

การที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ไล่ทำร้ายผู้ตายกับพวกในระยะกระชั้นชิด โดยถือไม้ถูพื้นชูออกนอกรถยนต์ เพื่อข่มขู่ผู้ตายกับพวกไปตลอดทาง โดยมีเจตนาจะทำร้ายผู้ตายกับพวก และผลจากการกระทำดังกล่าวทำให้ผู้ตายต้องขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูง เพื่อหลบหนีการถูกไล่ทำร้าย จนเกิดเหตุชนกับรถยนต์กระบะที่จอดอยู่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้ตายได้รับอันตรายสาหัสและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมมีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 290

ส่วนประเด็นเงื่อนไขพิเศษการจับกุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (Wrongful Arrest Clause) มิได้ถูกหยิบยกขึ้นมาต่อสู้กันอีกจึงตกไป แต่สัปดาห์หน้าเราจะมาดูตัวอย่างคดีศึกษาประเด็นเรื่องนี้ในคดีตัวอย่างอื่นบ้างว่า เงื่อนไขพิเศษนี้ทำงานเช่นไร?

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น