เรื่องที่ 146 : จงใจทำร้ายผู้อื่น (Deliberate Act) ถือเป็นอุบัติเหตุภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก (Public Liability Insurance Policy) หรือไม่?
(ตอนที่หนึ่ง)
โดยหลักการปกติ ทุกประเภทของการประกันภัยจะให้ความคุ้มครองเพียงเฉพาะกรณีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากภัยที่คุ้มครองเท่านั้น
เช่นเดียวกับกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก (Public Liability Insurance Policy) ถึงแม้นได้กำหนดว่า
“บริษัท (ประกันภัย) ตกลงรับประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายของผู้เอาประกันภัย ภายใต้ข้อตกลงคุ้มครอง ข้อยกเว้น ข้อกำหนดและเงื่อนไขทั่วไป และเอกสารแนบท้ายของกรมธรรม์ประกันภัยนี้”
เมื่อพิจารณาถึงความรับผิดตามกฎหมายส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องแล้ว มักเป็นเรื่องละเมิด ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 420 ว่า
“ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”
จะเห็นได้ว่า กฎหมายละเมิดบัญญัติถึงทั้งเรื่องความจงใจ หรือความประมาทเลินเล่อ
ขณะที่หมวดที่ 2 ข้อตกลงคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ ระบุว่า
“ภายใต้จำนวนเงินจำกัดความรับผิดตามที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย ข้อยกเว้นในหมวดที่ 3 ข้อกำหนดและเงื่อนไขทั่วไปในหมวดที่ 4 บริษัท (ประกันภัย) จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย สำหรับความสูญเสีย หรือความเสียหาย อันเกิดแก่บุคคลภายนอก ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดตามกฎหมายอันสืบเนื่องหรือเป็นผลมาจากอุบัติเหตุจากการประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่เอาประกันภัย ภายใต้ขอบเขตของการเสี่ยงภัย ในระหว่างระยะเวลาเอาประกันภัย ณ อาณาเขตความคุ้มครองซึ่งระบุในตารางกรมธรรม์ประกันภัย สำหรับ
1. ความสูญเสียต่อชีวิต ร่างกาย การบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก”
และหมวดที่ 3 ข้อยกเว้นระบุว่า
“กรมธรรม์ประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองรวมถึง
1. ………………….
11. ความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยความจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัย”
กอปรกับหมวดที่ 1 คำจำกัดความที่เกี่ยวข้องระบุว่า
“1.3 ผู้เอาประกันภัย หมายถึง บุคคล หรือนิติบุคคลตามที่ปรากฏชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยในตารางกรมธรรม์ประกันภัย รวมถึงเจ้าของ หุ้นส่วน กรรมการ พนักงาน ลูกจ้าง ตัวแทนไม่ว่าจะแสดงออกโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายของผู้เอาประกันภัย แต่ทั้งนี้เฉพาะในขณะที่กระทำการภายในกรอบของหน้าที่ในฐานะดังกล่าวเท่านั้น
1.4 บุคคลภายนอก หมายถึง บุคคลใด ๆ ที่มิใช่คู่สัญญาประกันภัยฉบับนี้ และไม่ใช่บุคคลที่ระบุไว้ในหมวดที่ 3 ข้อยกเว้นข้อ 3 ตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้
1.5 อุบัติเหตุ หมายถึง เหตุการณ์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นโดยผู้เอาประกันภัยมิได้มีเจตนาหรือมุ่งหวัง และทำให้เกิดความสูญเสียหรือเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย การบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรืออนามัย และ/หรือทรัพย์สินของบุคคลภายนอก
1.6 ความสูญเสียต่อชีวิต ร่างกาย การบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรืออนามัย หมายถึง การเสียชีวิต การบาดเจ็บ การเจ็บป่วยทางร่างกาย รวมถึง อนามัย โดยอุบัติเหตุ แต่ไม่รวมถึงความเสียหายต่อจิตใจ”
สรุป กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกจำกัดความคุ้มครองเฉพาะความรับผิดตามกฎหมายละเมิดที่มีสาเหตุจากความประมาทเลินเล่อ (Negligence) ซึ่งถือเป็นอุบัติเหตุเท่านั้น
ฉะนั้น การจงใจ (Deliberate Act/Willful Act) ทำร้ายบุคคลอื่นจึงไม่ควรได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ใช่หรือไม่?
ข้อยกเว้นที่ 11 เรื่องความจงใจของผู้เอาประกันภัยมีความหมายชัดเจนเพียงพอแล้วใช่ไหม?
อ่านดูแล้วเสมือนหนึ่งทำความเข้าใจได้ไม่ลำบาก
แต่ในทางปฏิบัติแท้จริงแล้ว กลับไม่ง่ายอย่างที่คิด
เป็นกรณีข้อพิพาทเกิดขึ้น ณ ประเทศอังกฤษซึ่งกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก ฉบับมาตรฐานของบ้านเราใช้อาศัยเป็นต้นแบบเทียบเคียงได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ว่าได้
ดังนั้น จึงน่าอาศัยใช้เป็นแนวทางการแปลความหมายได้
สัปดาห์หน้าเราจะมาไล่เรียงกันดูนะครับว่า ศาลสูงสุด (Supreme Court) ที่ประเทศอังกฤษจะวินิจฉัยข้อพิพาทนี้เช่นไร?
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น