วันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2564

เรื่องที่ 142: ข้อพิพาทเงื่อนไขพิเศษว่าด้วย 50/50 ระหว่างกรมธรรม์ประกันภัยการขนส่งสินค้าทางทะเลกับกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิดของผู้รับเหมา

 

(ตอนที่หนึ่ง)

 

โครงการงานติดตั้งเครื่องจักรกับอุปกรณ์ โดยเฉพาะที่มีการนำเข้าเครื่องจักรกับอุปกรณ์นั้นขนส่งมาจากต่างประเทศ เวลาจัดทำประกันภัยการขนส่งสินค้าทางทะเล (Marine Cargo Insurance Policy) สำหรับช่วงเวลาการขนส่ง และจัดทำประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิดของผู้รับเหมาติดตั้ง (Erection All Risks Insurance Policy (EAR)) เพื่อคุ้มครองระหว่างช่วงเวลาติดตั้งเครื่องจักรกับอุปกรณ์นั้น มักจะมีการแนะนำให้ขยายความคุ้มครองเพิ่มเติม ภายใต้เงื่อนไขพิเศษที่เรียกว่า “50/50” ควบคู่กันไปทั้งสองกรมธรรม์ประกันภัยเผื่อเอาไว้ด้วย

 

จุดประสงค์ของเงื่อนไขพิเศษนี้ เพื่อที่จะให้ได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันภัยเหล่านั้นทั้งสองฉบับ กรณีเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นมาแก่เครื่องจักรกับอุปกรณ์นั้น แล้วไม่แน่ใจว่า ควรตกเป็นความรับผิดของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใดกันแน่? ก็ให้ทั้งสองฉบับนั้นมาร่วมกันแบ่งส่วนการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนรายละครึ่งหนึ่ง

 

เงื่อนไขพิเศษนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับหลักการร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทน (Contribution Principle) แต่ไม่เหมือนกันซะทีเดียว เพราะตามหลักการดังกล่าวกำหนดให้การประกันภัยหลายรายนั้นมีความรับผิดร่วมกันอย่างชัดเจน ขณะที่เงื่อนไขพิเศษนี้ยังไม่ชัดเจนพอ เลยเหมารวมให้ร่วมรับผิดทั้งคู่ไม่ต้องมาเสียเวลาถกเถียงเกี่ยงกันอีก

 

นั่นคือ เจตนารมณ์ของผู้ร่างเงื่อนไขพิเศษนี้ที่ผู้ประกอบธุรกิจประกันภัยได้บอกเล่าต่อให้ผู้เอาประกันภัยได้รับทราบเบื้องต้น

 

โชคดีที่ผ่านมา ยังไม่มีข้อพิพาทเกิดเป็นคดีขึ้นมาให้พบเจอ

 

จนกระทั่งไม่นานมานี้ ได้เกิดเป็นเรื่องราวให้ศาลท่านแปลความหมายในถ้อยคำดังกล่าวจนได้ในต่างประเทศ

 

เรื่องราวมีอยู่ว่า ณ โครงการก่อสร้างโรงงานรีไซเคิลใหม่แห่งหนึ่งที่ประเทศอังกฤษ ภายหลังจากการติดตั้งเครื่องจักรกับอุปกรณ์ อันประกอบด้วยท่อขนาดยาวต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว ต่อมาได้มีการค้นพบรอยแตกร้าวจากการล้าเนื่องจากแรงเค้น (Fatigue Stress Cracking) ตรงท่อของบล็อกตัวประหยัดน้ำมัน (Economizer)

 

เนื่องด้วยโครงการนี้ได้จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยไว้สองฉบับถูกต้องตามหลักการกับคำแนะนำข้างต้นเอาไว้แล้ว ผู้เอาประกันภัยจึงค่อนข้างสบายใจ และไม่กังวลใจในการที่จะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นมานั้น ไม่ว่าจะได้จาก

 

ก) กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิดของผู้รับเหมาติดตั้ง (EAR) หรือ

 

ข) กรมธรรม์ประกันภัยการขนส่งสินค้าทางทะเล หรือ

 

ค) เงื่อนไขพิเศษดังกล่าวที่ติดแนบไว้ทั้งสองฉบับให้ร่วมกันรับผิดรายละครึ่งหนึ่ง

 

อย่างไรก็ดี เมื่อผู้เอาประกันภัยได้เรียกร้องไปที่บริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองงานติดตั้งเป็นลำดับแรก ก็ได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเงินค่าเสียหายโดยดี

 

แต่ครั้นเมื่อบริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองงานติดตั้งนั้น (ในที่นี้ขอเรียกว่า บริษัท B) ได้เสนอเรื่องไปถึงบริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองระหว่างการขนส่ง (ในที่นี้ขอเรียกว่า บริษัท A) เพื่อเรียกร้องให้

 

(1) บริษัท A ชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนที่จ่ายล่วงหน้าไปแล้วนั้นกลับคืนมาเต็มจำนวน โดยอ้างว่า ต้นเหตุแห่งความเสียหายนั้นมาจากช่วงเวลาขนส่งทั้งทางบกกับทางเรือจากประเทศโรมาเนียไปถึงสถานที่ก่อสร้าง ณ ประเทศอังกฤษ หรือ

 

(2) บริษัท A ชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนที่จ่ายล่วงหน้าไปแล้วนั้นกลับคืนมาครึ่งหนึ่ง หากยังไม่แน่ใจว่า ใครควรจะต้องรับผิด?

 

ผลก็คือ บริษัท A ปฏิเสธความรับผิดโดยสิ้นเชิง

 

สัปดาห์หน้าค่อยมารับฟังผลทางคดีพิพาทระหว่างบริษัท B กับบริษัท A กันนะครับว่า ศาลท่านจะตัดสินออกมาเช่นใด?

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น