เรื่องที่ 140 : การพังทลายของอาคาร (Building Collapse) ควรมีความหมายเช่นไร?
(ตอนที่หนึ่ง)
ได้รับฟังข่าวอาคารถล่มจากเพลิงไหม้บ้านตึกด้วยความเศร้าสลดใจ และขอแสดงความเสียใจแก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิต และผู้ประสบภัยทุกท่านมา ณ ที่นี้ด้วยครับ
เมื่อนึกถึงคำว่า “อาคารถล่ม” หรือภาษาประกันภัยจะเรียกว่า “การพังทลายของอาคาร (Building Collapse)” ซึ่งมักมิได้กำหนดคำนิยามเอาไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยอย่างชัดแจ้ง และเนื่องด้วยภัยนี้ก็มิใช่เป็นภัยที่ถูกระบุให้คุ้มครองอย่างชัดแจ้งอีกด้วย ปกติจะปรากฏอยู่ในข้อยกเว้น หรือเงื่อนไขทั่วไปเสียมากกว่า
ยกตัวอย่างเช่น
1) กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน
ฉบับมาตรฐานบ้านเรา ซึ่งให้ความคุ้มครองอุบัติภัยต่าง ๆ ที่มิได้อยู่ในข้อยกเว้น โดยข้อยกเว้นในส่วนของสาเหตุยกเว้น ในข้อ 1.14 ระบุไม่คุ้มครองความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยจากสาเหตุ
“1.14 การพังทลาย หรือการแตกร้าวของอาคาร สิ่งปลูกสร้าง กำแพง รั้ว
อย่างไรก็ตาม บริษัทจะรับผิดต่อความเสียหายตามข้อ 1.4 และ 1.5 หากเป็นผลโดยตรงจากความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยหรือสถานที่ตั้งหรือเก็บทรัพย์สินดังกล่าว อันเกิดจากสาเหตุที่มิได้ระบุยกเว้นไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยนี้”
2) กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย สำหรับที่อยู่อาศัย
ฉบับมาตรฐานบ้านเรา ซึ่งให้ความคุ้มครองแบบระบุภัย โดยมีภัยไฟไหม้กับภัยธรรมชาติเป็นภัยหลัก ได้ระบุกรณีนี้ไว้ภายใต้หมวดที่ 6. เงื่อนไขทั่วไป ดังนี้
“6.13 การระงับไปแห่งสัญญาประกันภัย
ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ เป็นอันระงับสิ้นไปทันทีเมื่อ
6.13.1 ……………………
6.13.4 สิ่งปลูกสร้างที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของสิ่งปลูกสร้างนั้นได้มีการพังทลายหรือเคลื่อนไปจากเดิม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน จนทำให้สิ่งปลูกสร้างนั้นเสียประโยชน์ในการใช้ทั้งหมดหรือบางส่วน หรือทำให้สิ่งปลูกสร้างนั้น หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของสิ่งปลูกสร้างนั้น หรือทรัพย์สินที่อยู่ภายในสิ่งปลูกสร้างนั้นตกอยู่ในการเสี่ยงต่อวินาศภัยเพิ่มขึ้น เว้นแต่เหตุดังกล่าวมานี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากภัยที่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้
อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขข้อ 6.13 นี้ จะไม่นำมาบังคับใช้ หากผู้เอาประกันภัยได้แจ้งให้บริษัททราบและบริษัทตกลงยินยอมรับประกันภัยต่อไป โดยได้ออกใบสลักหลังกรมธรรม์ประกันภัยไว้เป็นหลักฐานแล้ว”
บ่อยครั้ง ทำให้เกิดข้อพิพาทว่า คำนี้ควรมีความหมายเช่นใดกันแน่?
การพังทลาย หรือการถล่มนั้น จะหมายความถึง
ก) ต้องเกิดพังทลายทั้งอาคารลงมาจริง หรือ (พังทลายสิ้นเชิง)
ข) เพียงพังทลายบางส่วนก็ได้ (พังทลายบางส่วน) หรือ
ค) เพียงส่งผลกระทบต่อโครงสร้างจนไม่ปลอดภัยแก่การใช้อาคารก็
พอแล้ว (จวนเจียนจะพังทลาย)
ง) ถูกทุกข้อ
คุณคิดว่า ควรจะเลือกอยู่ในความหมายข้อใดถูกต้องที่สุด?
ครั้นเปิดดูคำนิยามของพจนานุกรมศัพท์ประกันภัย พิมพ์ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2560 (แก้ไขเพิ่มเติม) ฉบับราชบัณฑิตยสภา
“Collapse การยุบแฟบ, การพังทลาย หมายความถึง
ในกรมธรรม์ประกันภัยหม้อกำเนิดไอน้ำ การยุบแฟบ หมายถึง การเปลี่ยนรูปของส่วนใดส่วนหนึ่งของหม้อกำเนิดไอน้ำโดยฉับพลันในลักษณะอันตราย โดยแรงบีบอัดของไอน้ำหรือของเหลว จะถึงแตกร้าวหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้มิได้หมายความถึงการเสียรูปซึ่งค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้า ๆ ไม่ว่าจะเนื่องจากสาเหตุใดก็ตาม
ในกรมธรรม์ประกันภัยสิ่งปลูกสร้าง การพังทลาย หมายถึง การล้มหรือการยุบหรือการแตกออกจากกันของสิ่งปลูกสร้างเนื่องจากแรงกระทำจากภายนอก”
โดยมิได้กล่าวถึงความหมายนี้ในกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน หรือกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินอื่นเลย
ขณะที่พจนานุกรม ไทย-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความของคำว่า
“พัง” หมายถึง
“1 ก. ทลาย เช่น บ้านพัง ตึกพัง, ทำให้ทลาย เช่น พังบ้าน พังประตู 2 น. ช้างตัวเมีย เรียกว่า ช้างพัง”
“ทลาย” หมายถึง
“ก. อาการที่สิ่งซึ่งเป็นกลุ่มก้อนแตกหักหรือพังกระจัดกระจาย เช่น กองทรายทลาย พังหรือทําให้พัง เช่น กําแพงทลาย ทลายกําแพง มักใช้เข้าคู่กับคำ พัง เป็น พังทลาย โดยปริยายหมายความว่า ล้มเหลวไม่ได้ดังหวัง เช่น ความฝันพังทลาย วิมานทลาย”
พจนานุกรมต่างประเทศก็ให้ความหมายคล้ายคลึงกัน คือ ต้องมีการพังทลายลงมาจริง (to cave or fall in or give way)
สัปดาห์หน้า ลองไปดูข้อพิพาทประเด็นนี้ของต่างประเทศกันนะครับ
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น