เรื่องที่ 140 : การพังทลายของอาคาร (Building Collapse) ควรมีความหมายเช่นไร?
(ตอนที่สอง)
กรณีที่ไม่ปรากฏคำนิยามอย่างชัดแจ้งของ “การพังทลายของอาคาร (Building Collapse)” เอาไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย แนวทางการตีความของศาลต่างประเทศจะจำแนกออกได้เป็นสองแนวทาง ดังนี้
1) แนวทางการตีความอย่างเคร่งครัด
ศาลกลุ่มนี้จะอาศัยการตีความตามความหมายที่ปรากฏอยู่ในพจนานุกรมทั่วไป คือ จะต้องเกิดการพังทลายลงมาอย่างสิ้นเชิงจริง ๆ โดยมิได้เห็นว่า คำนี้มีความกำกวมไม่ชัดเจนแต่ประการใด พังทลาย คือ พังราบลงมาสู่พื้นดิน (fall into flatten) นั่นเอง
ทั้งถ้อยคำนี้ในกรมธรรม์ประกันภัยเอง มิได้เขียนถึงการพังทลายบางส่วนเอาไว้ด้วย
อีกทั้งโดยตีความประกอบกับถ้อยคำที่ระบุในความคุ้มครองที่ว่า จะต้องเกิดความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพ (Physical Loss or Damage) ซึ่งให้ความหมายเป็นการก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพอย่างชัดเจนรุนแรงของทรัพย์สินที่เอาประกันภัย
(อ้างอิงจากคดี Higgins v. Connecticut Fire Ins. Co., 430 P. 2d 479 (Col. 1967) และคดี Rosen v. State Farm General Insurance Co., 30 Cal. 4d 1070 (Cal. 2003))
2) แนวทางการตีความอย่างเปิดกว้าง
แนวทางการตีความของศาลกลุ่มนี้ค่อนข้างเปิดกว้างกว่า คือ ไม่ถึงขนาดต้องเกิดการพังทลายลงมาอย่างสิ้นเชิงจริง ๆ เท่านั้น เพียงแค่จวนเจียนจะพังทลายลงมา (Imminent) หรือกระทั่งส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของอาคาร (Substantial Impairment) จนไม่ปลอดภัยแก่การใช้อาคารนั้นก็เพียงพอแล้ว
โดยศาลกลุ่มนี้มองว่า ถ้อยคำการพังทลายนี้ค่อนข้างกำกวม ไม่ใคร่ชัดเจนนัก เห็นควรยกประโยชน์ให้แก่ผู้เอาประกันภัยซึ่งมิได้เป็นผู้ร่างกรมธรรม์ประกันภัย ประกอบกับการตีความหมายอย่างกว้างของความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพ หมายความรวมถึง ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพบางอย่าง หรือกระทั่งส่งผลทำให้ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้นลดคุณค่าลง หรือขาดประโยชน์จากการใช้สอยก็เพียงพอแล้วเช่นกัน
(อ้างอิงจากคดี 401 Fourth St. v. Investors Insurance Group, 823 A.2d 177, 179 (2003) และคดี Queen Anne Park Homeowners Association v. State Farm Fire & Casualty Co., 12-36021 (9th Cir. June 18, 2015))
ถึงแม้นจะมีแนวทางการตีความถ้อยคำนี้แบ่งออกได้เป็นสองแนวทางก็ตาม แต่อย่าเพิ่งกังวลมากนัก เพราะทั้งสองแนวทางล้วนต่างให้ผลประโยชน์ได้เสียแก่คู่ความในคดีแตกต่างกัน แล้วแต่จะมองถ้อยคำนี้ในลักษณะเช่นใด?
ถ้าการพังทลายนี้ปรากฏอยู่ในลักษณะของข้อยกเว้นในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท
แน่นอนว่า การตีความอย่างเคร่งครัดย่อมอาจเอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายผู้เอาประกันภัยได้มากกว่า กรณีเมื่อยังไม่ถึงขนาดพังราบลงมาจริง ๆ
ในทางกลับกัน แต่หากไปปรากฏอยู่ในลักษณะของความคุ้มครอง ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท
ผลเสียของการตีความอย่างเคร่งครัดย่อมตกอยู่แก่ฝ่ายผู้เอาประกันภัยมากกว่า กรณีเมื่อยังไม่ถึงขนาดพังราบลงมาจริง ๆ
ฉะนั้น เชื่อว่า การฟ้องร้องคดีเพื่อลุ้นผลการตัดสินจึงคงยังมีขึ้นต่อไปไม่รู้จบสิ้น ถึงแม้ในต่างประเทศบางแห่งจะได้กำหนดคำนิยามของการพังทลายเอาไว้อย่างชัดแจ้งในกรมธรรม์ประกันภัย เพื่อป้องกันแล้วก็ตาม
ส่วนการตีความในบ้านเรา ผมยังไม่เจอคดีประกันภัยเกี่ยวกับข้อพิพาทเรื่องถ้อยคำนี้เลยครับ จำต้องรอลุ้นต่อไป
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น